วิธีส่งคนตาย
โดย ที่พึ่งที่ระลึก  7 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15032

1. เรียนถามท่านวิทยากรและท่านผู้รู้ เพื่อโปรดแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับของพระสูตร ที่พระสารีบุตรกลับใจคนเห็นผิดอย่างธนัญชานิให้กลายเป็นคนเห็นถูกเห็นชอบ และชวนธนัญชานิพูดคุยเรื่องภพภูมิ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นตาม โดยเริ่มจากการถามว่าถ้าเปรียบเทียบภพภูมิ เพื่อส่งธนัญนิชาให้ไปเกิดที่พรหมโลก

2. เรียนถามท่านวิทยากรและท่านผู้รู้ เพื่อโปรดแสดงข้อมูลรายละเอียดของพระสูตรหรือพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสไว้ ว่าวิธีส่งคนตาย ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำให้เขาสบายใจ ปลดความหวง ความห่วงใยใดๆ ในโลกที่กำลังจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยกจิตให้สูงถึงสวรรค์ และจูงจิตให้เห็นว่าแม้สวรรค์กับพรหมก็ไม่เที่ยง อยู่ที่นั่นแล้วเดี๋ยวก็ต้องจากไปที่อื่นอีก ต่างจากการไม่ยึดความมีความเป็นใดๆ เลย ซึ่งนั่นแหละ หากความห่วงข้างหลังและความไม่หวังข้างหน้าแก่กล้าพอ จิตก็เป็นอิสระถึงที่สุดได้



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 7 ม.ค. 2553

รายละเอียดดังกล่าวอยู่ในพระสูตรชื่อว่า ธนัญชานิสูตร และ คิลายนสูตร

ดังข้อความตัวอย่างที่ยกมาครับ

[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 384

๗. ธนัญชานิสูตร

[๖๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันสวนที่ใช้เลี้ยงกระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยภิกษ์สงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงทักขิณาคิรีชนบท ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

[๖๗๕] ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ธนัญชานิ ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ ธนัญชานิพราหมณ์ได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ที่ไหนข้าพเจ้าจะไม่ประมาท เพราะข้าพเจ้าต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรภริยา ต้องเลี้ยงพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 391

๔. คิลายนสูตร

ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ

[๑๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธารามกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน พระเจ้ามหานามศากยราช ได้ทรงสดับข่าวว่า

[๑๖๒๘] พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญาพึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญาผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิด


ความคิดเห็น 2    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 7 ม.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 7 ม.ค. 2553

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ ที่กล่าวว่า ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากเทพชั้นต่างๆ และน้อมนำจิตไปในเทพชั้นต่างๆ ตามข้อความด้านล่าง ขอเรียนถามว่า การพรากจิตและการน้อมนำจิตไปในเทพชั้นต่างๆ มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ขอขอบคุณอนุโมทนาครับ

[๑๖๓๒] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์

ดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวก เทพชั้นยามาดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นดุสิต ดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดีดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นนิมมานรดี พรหมโลกดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว


ความคิดเห็น 4    โดย prachern.s  วันที่ 8 ม.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 3

ทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้มีปัญญา ซึ่งท่านศึกษามาดีแล้ว และเป็นไปตามฐานะ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ และเข้าใจว่าการใส่ใจถึงเทวโลกชั้นนั้นๆ ตามที่ศึกษามาชื่อว่า น้อมไป แต่ถ้าไม่ใส่ใจถึงเทวโลกชั้นนั้น แต่ใส่ใจถึงเทวโลกชั้นอื่น ชื่อว่า พรากจิตจากเทวโลกชั้นนั้น


ความคิดเห็น 5    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า ธรรม ๔ ประการ ตามข้อมูลด้านล่างที่ขีดเส้นใต้ หมายถึง การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำ ไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ใช่หรือไม่ครับ

ขอขอบคุณและอนุโมทนาครับ

[๑๖๒๘] พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญาพึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญาผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิด....


ความคิดเห็น 6    โดย prachern.s  วันที่ 8 ม.ค. 2553

ธรรม ๔ ประการที่กล่าวในพระสูตร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ

๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ


ความคิดเห็น 7    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย คุณ  วันที่ 2 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ