สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 440
๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์
[๓๘๑] กรุงสาวัตถี. ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ทุกข์ ทุกข์ ดังนี้ อะไรหนอเป็นทุกข์?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนราธะ รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ ดูก่อนราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่ากิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ ทุกขสูตร
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 293
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา.
ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา. . .สัญญา. . . สังขารทั้งหลาย. . . วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า. เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ รูปทั้งปวง เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง. . .สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง. . สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง. . วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ วิญญาณทั้งปวง เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา.
ชาวอินเดีย: ไม่มีหนทางอื่นนอกจากเข้าใจความจริง จะไปคิดว่า จะไม่มีความโกรธไม่ได้ ต้องเข้าใจความจริงจะเป็นอะไรก็ได้ แต่มีคำถามว่า อริยสัจจ์ที่ ๑ ทำอย่างไรที่จะให้ไม่มีทุกข์ในนัยนี้ จะให้มีความทุกข์ทางกายทางใจน้อยลงได้อย่างไร ฟังมาว่า หนทาง คือฟังธรรม และเจริญความเข้าใจ แต่สงสัยว่า ทำไมบางคนเข้าใจตรงนี้ และเริ่มต้นปฏิบัติตัวตามความเข้าใจนี้ แต่ว่า ผ่านไประยะหนึ่งก็เลิก จะเป็นเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ท้อ เลิกไปทางที่ถูก
ท่านอาจารย์: ฟังธรรมเพื่อที่จะไม่มีทุกข์ หรือฟังธรรมเพื่อรู้ ว่า เดี๋ยวนี้เป็นทุกข์
ชาวอินเดีย: ความหมายของ suffer คือการเดินทางดำเนินชีวิต ชีวิตเราวันหนึ่งๆ เดี๋ยวประสบทุกข์ ประสบสุขอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตามที่เข้าใจจากการฟังชีวิตประจำวันเราเห็น ได้ยิน ตื่นขึ้นมาแต่งตัว นี่คือชีวิตประจำวัน ให้ท่านอาจารย์ช่วยเกื้อกูลให้เข้าใจว่าชีวิตแบบนี้ความจริงคืออะไร?
ท่านอาจารย์: ชีวิตประจำวันเมื่อกี๊นี้ใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ตอนนี้ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้จักธรรมไหม?
ชาวอินเดีย: ก็คือ ทุกอย่างเป็นธรรม
ท่านอาจารย์: ถ้าบอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม ยังไม่ชัดเจน เพียงแต่เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดมากกว่านี้ เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า?
ชาวอินเดีย: เป็น ก็ผมเห็นคุณอยู่ นี่เป็นธรรม
ท่านอาจารย์: ผมเห็นคุณ ก็เป็น ผมกับคุณ ไม่ใช่ธรรม
ชาวอินเดีย: ตัวผมเป็นธรรม ๑ เห็นเป็นธรรม ๑
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ผมเป็นธรรม หรือ เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่ผม
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
การยึดถืออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา [มหาวรรค]
ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...
เดี๋ยวนี้เป็นทุกข์ไหม
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา
ยินดีในกุศลท่านผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกท่าน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ