บุคคลผู้มีธรรม
โดย pirmsombat  20 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20202

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 332

[๑๐๖] . ปาปธัมมบุคคคล บุคคลผู้มีธรรมลามก เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมลามก

. ปาปธัมเมนปาปธัมมตรบุคคล บุคคลผู้มีธรรมลามกยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมลามก เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ด้วย ลักทรัพย์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ด้วย ฯลฯ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมด้วย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมลามกยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมลามก

. กัลยาณธัมมบุคคล บุคคลผู้มีธรรมงาม เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ ฯลฯ มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมงาม

. กัลยาณธัมเมนกัลยาณธัมมตรบุคคล บุคคลผู้มีธรรมงามยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมงาม เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ด้วย ฯลฯ เห็นชอบตามทำนองคลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นชอบตามทำนองคลองธรรมด้วย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมงามยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมงาม

อรรถกถาบุคคลผู้มีธรรมลามกเป็นต้น

ธรรมอันลามกของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ปาปธมฺโม แปลว่า ผู้มีธรรมอันลามก ธรรมอันงามของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า กลฺยาณธมฺโม แปลว่า ผู้มีธรรมอันงาม คำที่เหลือในที่นี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัจจะ ความจริง คือ ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็นเพียงแต่นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี มี และสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี มี ดังนั้นคำว่า ธรรมอันงาม ก็คือ สภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดกับจิต ที่สมมติว่าเป็นบุคคล เมื่อ สภาพธรรมฝ่ายดี เกิดขึ้นกับจิตของใคร ก็บัญญัติว่า เป็นผู้มีธรรมอันงาม เช่น มีสภาพธรรมที่ดีที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ มีความเห็นถูก ก็เป็นเจตสิกที่ดีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมงาม ดังนั้น กุศลธรรม สภาพธรรมที่ดีทั้งหลาย ชื่อว่า ธรรมงามและหากไม่เป็นเพียงมีธรรมในตนเองที่ดีเท่านั้น แต่ชักชวนให้ผู้อื่นเจริญธรรมอันงามต่างๆ ก็ชื่อว่า ผู้มีธรรมงามยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมงาม เพราะชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ดี มีการงดเว้นจากบาปทั้งหลายและให้เข้าใจหนทางที่ถูก ให้เกิดปัญญาครับ

ส่วนโดยนัยตรงกันข้าม สภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เกิดกับจิต อันบัญญัติว่าเป็นบุคคลต่างๆ เมื่อสภาพธรรมที่ไม่ดี มี อกุศลธรรม เช่น โลภะ โทสะ โมหะที่มีกำลัง ถึงกับล่วงทุจริตกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ชื่อว่า มีสภาพธรรมอันลามก คือ ไม่ดีเกิดขึ้น จิตที่มีเจตสิกไม่ดีและกระทำทุจริต และเป็นผู้มีความเห็นผิด เข้าใจธรรมผิด ชื่อว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีธรรมลามก และหากว่าเป็นผู้กระทำบาปอกุศล มีธรรมลามก คือ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจที่มีกำลังแล้ว ยังชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม คือ ให้กระทำทุจริตทางกายและวาจา มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น และยังแนะนำหนทางที่ผิด ด้วยความเข้าใจธรรมที่ผิด ให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมลามกยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมลามกครับ

การได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ย่อมทำให้เป็นผู้มีธรรมอันงาม คือ กุศลธรรมประการต่างๆ มี ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เจริญขึ้นและก็ค่อยๆ ละธรรมลามก คือ ธรรมที่ไม่ดี อันเป็นอกุศลธรรมประการต่างๆ ทีละเล็กละน้อยได้ จนหมดสิ้นในอนาคตครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม จึงไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ แต่เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม จึงมีการสมมติว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นคนดี เป็นคนไม่ดี เป็นต้น ถ้าไม่มีธรรมแล้ว อะไรๆ ก็ไม่มี แต่ละคนที่เกิดมานั้น ไม่พ้นไปจากจิต แม้แต่ขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียวคือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ที่กล่าวว่าเป็นจิต ที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี นั้นเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เช่น ถ้าโลภะ เกิดกับจิต จิตนั้น ก็ไม่ดี เพราะมีอกุศลเจตสิก คือ โลภะ ความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เพราะมีสภาพธรรมเหล่านี้ คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้น จึงทำให้เป็นคนมีธรรมอันลามก เป็นคนไม่ดีในลักษณะต่างๆ บางคนไม่ดีเพียงคนเดียวยังไม่พอ ยังชักชวนผู้อื่นให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ด้วย เพิ่มอกุศลธรรมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเจตสิกฝ่ายดี คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ หรือแม้กระทั่ง อโมหะ คือ ปัญญา เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น ก็เป็นจิตที่ดี เป็นกุศลจิต เพราะมีสภาพธรรมเหล่านี้ คือ กุศลธรรม เกิดขึ้น จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นคนมีธรรมอันงาม เป็นคนดี เมื่อเห็นคุณของความดี ก็จะไม่เป็นคนดีอยู่คนเดียว จะคอยเกื้อกูลแนะนำผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในความดี นั้นๆ ด้วย ในขณะนั้นก็ยิ่งเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่กุศลธรรม (กุศลจิต และ เจตสิกสิกที่เกิดร่วมด้วย) เกิดขึ้นนั้น เป็นการพักจากอกุศลธรรมชั่วขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น จนกว่าจะสามารถดับได้ตามลำดับขั้น และจะพักได้อย่างเด็ดขาดไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เมื่อดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอยู่เสมอ เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัยและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัตามเท่านั้น บุคคลผู้เห็นประโยชน์ของกุศล เห็นโทษของอกุศล โดยอาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จิตใจย่อมน้อมไปในทางกุศล เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้ สะสมในสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น เป็นผู้มีธรรมอันงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้สะสมธรรมอันงามที่ประเสริฐที่สุด คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพิ่มยิ่งขึ้น ด้วยครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และ ทุกๆ ท่าน ด้วยครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย เซจาน้อย  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย pirmsombat  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ

คุณคำปั่น คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่าน ด้วยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย jaturong  วันที่ 21 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 15 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย orawan.c  วันที่ 6 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 17 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ