ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
ขออนุญาตสอบถามในเรื่องของศีลมุสาวาทา ว่าครอบคลุมไปถึงการกระทำทางกาย เช่น การเขียน การเซ็นหรือไม่ครับ
ในกรณีสมมติ เช่น เราต้องไปถอนเงินจากธนาคาร หรือทำธุระกับหน่วยงานอื่นใด จะมีการเซ็นชื่อเพื่อยืนยันการรับเงิน หากว่าในใบเซ็นชื่อนั้นระบุว่า ขอรับรองว่าได้รับเงินถูกต้องแล้ว แต่ขณะที่เราเซ็นยังไม่ได้รับเงิน จะได้รับหลังจากที่เซ็นเสร็จแล้ว แบบนี้จะจัดว่าเราได้กระทำมุสาวาทไปหรือไม่อย่างไรครับ
อีกประการหนึ่ง เช่น การเซ็นรับค่าแรง คือ เราได้เซ็นชื่อผู้รับเงินไป แต่เงินนั้นจะถูกโอนเข้าบัญชีในภายหลัง ในกรณีที่เราต้องเซ็นเป็นผู้รับเงินก่อนแบบนี้ ถูกหรือผิดอย่างไรครับผม
กราบขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นขอให้พิจารณาจากองค์ประกอบที่จะทำให้ล่วงศีลข้อมุสาวาท ดังนี้
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๑
มุสาวาทนั้น มีองค์ ๔ คือ
๑. อตถํ วตฺถุ เรื่องไม่แท้
๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อน
๓. ตชฺโช วายาโม ความพยายามเกิดจากจิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อนนั้น
๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ คนอื่นรู้เรื่องนั้น
จากประเด็นคำถาม ก็ควรที่จะได้พิจารณา ว่า ทั้ง ๒ กรณี เงินที่จะได้มานั้น ก็เป็นเงินของตนเอง ไม่ได้ไปหลอกลวงใคร ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เมื่อตนเอง เป็นเจ้าของเงิน การเซ็นซื่อรับว่า เป็นของตน ย่อมไม่ใช่การกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งอีกฝ่ายก็รับรู้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่า จะได้รับตอนไหน เท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอน สำคัญอยู่ตรงที่ว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะโกหกหลอกลวงใคร ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณท่านที่ได้ให้ความกระจ่างครับผม