รูปในขันธ์ 5 หมายถึงรูปภายใน ไม่รวมรูปภายนอก ใช่หรือไม่
โดย pdharma  18 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44033

ขันธ์ 5 มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ขันธ์ 5 มี ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะ

อนัตตา ไม่ว่าจะหมายถึง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล หรือ นั่นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

จะเห็นว่า มุ่งกล่าวถึง ขันธ์ 5 ที่ปรากฎภายในกาย (ทั้งรูปธรรมและนามธรรม)

จึงขอถามว่า

๑. รูป ในขันธ์ 5 หมายถึงรูปภายใน ไม่รวมรูปภายนอก ใช่หรือไม่

๒. หากรูปขันธ์หมายถึงรูปภายในแล้ว การพิจารณา สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว) ซึ่งเป็นรูปภายนอก มีความจำเป็นอย่างไรที่จะช่วยให้เข้าถึงสภาพธรรมของอนัตตา?

ขอขอบพระคุณ



ความคิดเห็น 1    โดย pdharma  วันที่ 18 ก.ย. 2565

เพิ่มเติม

รูปภายใน ในคำถาม ผู้ถามมุ่งถึง รูปในกายสัตว์ บุคคล

ส่วนรูปภายนอก ผู้ถามมุ่งถึง รูปของสิ่งของต่างๆ นอกกายสัตว์ บุคคล


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รูปธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เป็นสภาพที่มีอันต้องแตกสลายไป รูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ รูปมีหลายรูป เป็นแต่ละหนึ่งๆ ไม่ปะปนกัน เช่น สี เสียง กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๖๓ รูปกัณฑ์ แสดงความเป็นจริงของรูปธรรม ดังนี้
“รูปธรรม
เป็นอัพยากตธรรม (ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล) ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช่เจตสิก วิปปยุตจากจิต (ปราศจากจิต, ไม่เกิดประกอบพร้อมกับจิต)


ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๐๑ สามเณรปัญหา แสดงความเป็นจริงของรูปหรือรูปธรรม ไว้ว่าเป็นสภาพที่แตกสลาย ดังนี้
มหาภูตรูป ๔ (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม) และ รูปทั้งหมด ที่อาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไป ท่านเรียกว่า รูป เพราะอรรถว่า แตกสลาย”


ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรมได้เลย ดังนั้น รูปธรรม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะรูปภายในเท่านั้น ยังหมายถึงรูปภายนอก ด้วย ประมวลแล้ว ก็ไม่เกิน ๒๘ รูป ไม่ว่าจะภายใน หรือ ภายนอก รูปธรรม ก็เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อะไร นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม
เมื่อเป็นรูปแต่ละรูปแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องรูปธรรม ก็คือ เข้าใจถูกตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

การที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น คือ เริ่มจากการฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง บ่อยๆ เนืองๆ เมื่อไม่ขาดการฟัง ก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมไปตามลำดับ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย pdharma  วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ อาจารย์คำปั่น (ความคิดเห็นที่ ๒) ครับ

ขอถามเพิ่มเติมจาก ความคิดเห็นที่ ๒ ว่า หากศึกษาใน ขันธวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ (ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 1-19) ไม่ว่าจะเป็นรูปภายใน รูปภายนอก รูปทราม จะขึ้นต้นว่า "รูปใด ของสัตว์นั้นๆ ...." หรือรูปหยาบ รูปใกล้ ก็จะกล่าวถึง "จักขายตนะ ....." เป็นต้น

หากจะศึกษาเพิ่มเติมว่า รูปขันธ์ ใน ขันธ์ 5 นั้นรวมถึง อายาตนะภายนอก เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะหาศึกษาได้จากพระไตรปิฎกส่วนใด

ขอขอบพระคุณ


ความคิดเห็น 5    โดย lokiya  วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 19 ก.ย. 2565

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ
พระธรรมละเอียดมาก ครับ

ขอเชิญศึกษาเรื่องอายตนะ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
๒. อายตนวิภังค์

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...