กรัณฑวสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
โดย มศพ.  6 ส.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 29979

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า ๓๒๖

กรัณฑวสูตร *

[๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัครา ใกล้นครจัมปา สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุที่ถูกภิกษุ ทั้งหลายโจทด้วยอาบัตินั้นเอาเรื่องอื่นๆ มาพูดกลบเกลื่อน ชักเรื่องไปนอกทางเสีย แสดงความโกรธเคืองและความไม่ยำเกรงให้ปรากฏ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนชนิดนี้ต้องขับออก เป็นลูกนอกคอก กวนใจกระไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่าง นี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จัก อย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าภิกษุนี้ อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหญ้าชนิดหนึ่งที่ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง พึงเกิดขึ้นในนาข้าวที่สมบูรณ์ ราก ก้าน ใบของมันเหมือนกับข้าวที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่มันยังไม่ออกรวง แต่เมื่อใด มันออกรวง เมื่อนั้นจึงทราบกันว่า หญ้านี้ทำลายข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เขาจึงถอนมันพร้อมทั้งราก เอาไปทิ้งให้พ้นที่นา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า หญ้าชนิดนี้อย่าทำลายข้าวที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกองข้าวเปลือกกองใหญ่ที่เขากำลังสาดอยู่ ในข้าวเปลือกกองนั้น ข้าวเปลือกที่เป็นตัว แกร่ง เป็นกองอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่หัก ลีบ ลมย่อมพัดไปไว้ส่วนหนึ่ง เจ้าของย่อมเอาไม้กวาดวีข้าวที่หักและลีบออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่ามันอย่าปนข้าวเปลือกที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลต้องการกระบอกตักน้ำ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่า เขาเอาสันขวานเคาะต้นไม้นั้นๆ บรรดาต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม้ที่แข็ง มีแก่น ซึ่งถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียงหนัก ส่วนต้นไม้ที่ผุใน น้ำชุ่ม เกิดยุ่ยขึ้น ถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียงก้องเขาจึงตัดต้นไม้ที่ผุในนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว จึงตัดปลาย ครั้นตัดปลายแล้ว จึงคว้านข้างในให้เรียบร้อย แล้วทำเป็นกระบอกตักน้ำ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เหมือนของภิกษุที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้วย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย ฯ

(พระคาถา)

เพราะการอยู่ร่วมกัน พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้มีความปรารถนาลามก มักโกรธ มักลบลู่ หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด บางคนในท่ามกลางประชุมชน พูดไพเราะ ดังพระสมณะ พูดปิดบังความชั่วที่ตัวทำ มีความเห็นลามกไม่เอื้อเฟื้อ พูด เลอะเลือน พูดเท็จ เธอทั้งหลายทราบบุคคลนั้นว่าเป็นอย่าง ไรแล้ว จงพร้อมใจกันทั้งหมดขับบุคคลนั้นเสีย จงกำจัด บุคคลที่เป็นดังหยากเหยื่อ จงถอนบุคคลที่เสียในออกเสีย แต่นั้น จงนำคนแกลบ ผู้มิใช่สมณะแต่ยังนับว่าเป็นสมณะ ออกเสีย เธอทั้งหลาย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนดีและคนไม่ดี ครั้นกำจัดคนที่มีความปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจร ลามกออกแล้ว จงเป็นผู้มีสติ แต่นั้น เธอทั้งหลายเป็น ผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้มีปัญญารักษาตน จักกระทำที่สุด ทุกข์ได้ ฯ

จบกรัณฑวสูตรที่ ๑๐

อรรถกถากรัณฑวสูตรที่ ๑๐

กรัณฑวสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า อญฺเญนาญฺญํ ปฏิจรติ ความว่า เอาเหตุหรือคำอื่นมากลบเกลื่อนเหตุหรือคำอื่น

บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมติ ความว่า ทำถ้อยคำที่แทรกเข้ามาอย่างอื่นให้ออกนอกทาง

บทว่า อปเนยฺโย ได้แก่ บุคคลนี้พึงนำออกไป

บทว่า สมณทูสี ได้แก่ ผู้ประทุษร้ายสมณะ

บทว่า สมณปลาโป ความว่า ชื่อว่าเป็นสมณะแกลบในสมณะทั้งหลาย เพราะไม่มีแก่น เหมือนแกลบข้าวในข้าวทั้งหลาย

บทว่า สมณกรณฺฑโว ได้แก่ สมณะหยากเยื่อ

บทว่า พหิทฺธา นาเสนฺติ แปลว่า ขับออกไปภายนอก

บทว่า ยวกรเณ ได้แก่ ในนาข้าวเหนียว

บทว่า ผุสยมานสฺส ได้แก่ อันบุคคลยืนอยู่บนที่สูงแล้วลาดไปในที่มีลมแรง

บทว่า อปสมฺมชฺชนฺติ ความว่า ปัดออกบ่อยๆ เพื่อทำข้าวที่ดี ไว้ข้างหนึ่ง ข้าวที่ทรามไว้ข้างหนึ่ง คือ เครื่องฝัดวี ฝัดไป

บทว่า ททฺทรํ ได้แก่ มีเสียงดัง

บทว่า สํวาสาย แปลว่า เพราะอยู่ร่วมกัน

บทว่า วิชาเนถ แปลว่า พึงรู้ได้

บทว่า สนฺตวาโจ แปลว่า มีวาจาอ่อนหวาน

บทว่า ชนวติ แปลว่า ในท่ามกลางชน

บทว่า รโห กโรติ กฏณํ ความว่า บาปกรรมเรียกว่ากัฏณะ คือการทำ (ชั่ว) ได้แก่เป็นผู้ปกปิดการทำบาปกรรมนั้นในที่ลับ

บทว่า สํสปฺปี จ มุสาวาที ความว่า เป็นผู้พูดมุสาเลอะเทอะ. อธิบายว่า พูดเท็จเลอะเทอะ คือกลับกลอก

ในสูตรนี้ ตรัสเฉพาะวัฏฏะอย่างเดียว ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะในคาถาทั้งหลายแล

จบอรรถกถากรัณฑวสูตรที่ ๑๐
หมายเหตุ กรัณฑวะ แปลว่า หยากเยื่อ *



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 6 ส.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

กรัณฑวสูตร

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัครา ใกล้นครจัมปา มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุที่ถูกภิกษุทั้งหลายโจทด้วยอาบัตินั้น ไม่ยอมรับ กลับพูดกลบเกลื่อนด้วยเรื่องอื่น พร้อมทั้งแสดงความโกรธความไม่ยำเกรงให้ปรากฏ พระองค์จึงทรงให้ขับภิกษุนั้นออกไป ซึ่งเป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ด้วยข้ออุปมาดังนี้

-เหมือนหญ้าที่ทำลายต้นข้าว ที่จะต้องถูกถอนออกไป

-เหมือนข้าวลีบที่ปนอยู่กับข้าวดี ก็จะต้องถูกคัดออกจากข้าวดี

-เหมือนต้นไม้ที่เป็นโพลงผุยุ่ย บุคคลผู้ต้องการทำเป็นกระบอกตักน้ำ ก็ต้องคว้านเอาสิ่งนั้นออกไป


ขอเชิญศึกษาข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ภิกษุ เป็นผู้ทำความดีในเพราะการขอ

ความหมายของคำว่า บวช

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ

พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย

ฆราวาส - บรรพชิต

พระภิกษุก็ตกนรกได้

อย่าหลงบวช
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 10 ส.ค. 2561

ฟังธรรม สนทนาธรรม เป็นอุดมมงคล

อนุโมทนาสาธุการในกุศลธรรมที่เกิดขึ้นค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย Thanapolb  วันที่ 11 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับอาจารย์คำปั่น พระพุทธองค์ทรงอุปมาได้ชัดแจ้งจริงๆ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ที่ไม่ละอาย กลับกลบเกลื่อนด้วยเรื่องอื่น หากยังไม่เห็นว่าเป็นโทษ ก็น่าสงสารอนาคตของบุคคลนั้น ที่คิดและกระทำอย่างนั้น ถูกต้องไหมครับ


ความคิดเห็น 4    โดย Selaruck  วันที่ 11 ส.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 12 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย thongkhun1937  วันที่ 14 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น