เห็นคิดไม่ได้ เห็นจำไม่ได้
โดย เมตตา  17 ธ.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 47079

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงเช้า)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 581
๓. สังฆาฏิสูตร
ว่าด้วยผู้ประพฤติธรรมอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้พระองค์

[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มี อภิชฌาเป็นปกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มี ความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุน ไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็ อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมเชื่อว่าไม่เห็นเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึง อยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความ กำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่ว ร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้น ย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา.


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 441

๓. สัมมาสัมพุทธสูตร

ว่าด้วยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๑๗๐๓] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ตามความเป็นจริง ตถาคต เขาจึงกล่าวว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบสัมมาสัมพุทธสูตรที่ ๓


ท่านอาจารย์: ขณะนี้ ผู้ที่กำลังฟังเป็ผู้ที่เริ่มจะรู้จัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการเคารพสูงสุด ไม่ใช่ด้วยดอกไม้ แต่ด้วยการฟังแล้วไตร่ตรองจนกระทั่งรู้ความจริง สิ่งที่มีจริงทั้งหมดไม่ว่าสมัยไหนเป็นสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ ทุกสิ่งที่มีจริง มีจริง เปลี่ยนไม่ได้ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

ธรรมแต่ละหนึ่ง ต้องรู้ว่า กำลังมีเดี๋ยวนี้จริงๆ เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้น เห็น เดี๋ยวนี้ จึงเข้าใจว่าเป็น เราเห็น ทั้งวันเป็นเราเห็น ไม่เคยรู้ความจริงว่า เห็น คืออะไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเพราะเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น ถ้าเห็นไม่เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้จะไม่มีใครอยู่ที่นี่เลย ความละเอียดลึกซึ้ง คือเห็นไม่ใช่สิ่งที่ถูกเห็น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ กำลังมี แต่ไม่รู้ความจริง

เห็นแก้วจริงไหม ไม่จริง เพราะเห็นสิ่งที่กระทบตาที่ยังไม่เป็นแก้ว สิ่งที่ถูกเห็นในห้องนี้ถ้าไม่คิดถึงรูปร่าง ไม่คิดถึงสีต่างๆ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย

ใครเห็นพัดลมบ้าง?

พระคุณเจ้า: เห็นได้

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่คิดถึงพัดลม จะเห็นพัดลมไหม?

พระคุณเจ้า: เห็นพัดลมจริงๆ ไม่ได้คิด

ท่านอาจารย์: นอกจากพัดลม เห็นอะไรอีก?

พระคุณเจ้า: เห็นพวกเรานั่งอยู่ที่นี่

ท่านอาจารย์: ถ้ามีแต่เห็น ไม่มีคิด จะมีนี่ นี่ นี่ และพัดลมไหม?

พระคุณเจ้า: ถ้าไม่คิด ก็ไม่รู้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นเกิดขึ้นเห็นเท่านั้นแล้วดับ เห็นคิดไม่ได้ เห็นจำไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อภิธรรม หมายความว่า เป็นธรรมที่ละเอียดมากแต่ละหนึ่ง ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรม พระองค์จะตรัสให้เราเข้าใจความจริงไม่ได้ ว่า ขณะนี้เห็นไม่ใช่คิด หลับตาคิดได้ แต่ไม่เห็นก็ได้

แต่บางครั้งส่วนใหญ่ และเดี๋ยวนี้ มีเห็น แล้วคิดตามสิ่งที่เห็น เห็นเกิดขึ้นแล้วดับ คิดเกิดขึ้นคิดถึงสิ่งที่เห็นที่ดับ ได้ยินเสียงแล้วดับ ถ้าไม่จำ ไม่คิด ไม่รู้ว่าเสียงนั้นหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ไม่ใช่มีแต่เห็น แต่มีคิดและมีจำ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง เป็นอภิธรรม

ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่เห็น แต่เห็นแล้วคิดถึงสิ่งที่เห็น ได้ยินแล้วคิดถึงเสียงที่ได้ยิน ถ้าไม่คิดถึงสิ่งที่เห็น ไม่คิดถึงสิ่งที่ได้ยิน ไม่คิดถึงสิ่งที่ได้กลิ่น ได้รับประทานรสต่างๆ ก็จะไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ดับไป

นี่เป็นความจริง เป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง จึงเป็นอภิธรรม

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง

ไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้จักพระผู้มีพระภาคฯ!

บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

คำที่ให้คิดไตร่ตรอง

สังขารธรรม เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย swanjariya  วันที่ 18 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ