ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๓
โดย khampan.a  3 มี.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30512

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๓


~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพุทธะ คือ ปัญญา เป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ ตั้งแต่ต้นคือในขั้นของการฟัง ถ้าความรู้ในขั้นของการฟังไม่มี ความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังยังไม่ชัดเจน ยังไม่ถูกต้อง ท่านจะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญญานั้นจะต้องเริ่มเกิดตั้งแต่ขั้นของการฟังเสียก่อน เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

~ การที่จะดับกิเลส ก็จะต้องอาศัยการขัดเกลา การเป็นผู้ที่มีปรกติเจริญกุศลทุกขั้น

~ ความเห็นถูก เป็นเรื่องยาก ถ้าไม่อาศัยการอบรมจริงๆ จะมีความเห็นผิด คลาดเคลื่อนได้ และมีหนทางที่จะคลาดเคลื่อนไปได้มากทีเดียว
~ ผู้ที่สะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า เรื่องใดที่เป็นเรื่องผิด ผู้นั้นพร้อมที่จะรับทันที ง่ายเหลือเกินที่จะคิดว่าถูก เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะเหตุว่าสะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด เข้าใจผิด แต่ว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องถูก เรื่องใดที่เป็นเรื่องจริง เรื่องใดที่เป็นเรื่องละเอียด บุคคลที่มีความโน้มเอียงสะสมมาที่จะเห็นผิด ไม่ยอมรับเลย ปฏิเสธ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือว่าไม่ถูก

~ ถ้าข้อปฏิบัตินั้นผิด คลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ อกุศลธรรมก็ย่อมเจริญ (คือ เกิดเพิ่มมากยิ่งขึ้น) สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมเจริญ เพราะว่าชีวิตปกติประจำวันนั้น มาจากความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็ผิดตามไปด้วย เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

~ เรื่องของสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตานั้น ถ้ายังมีเหตุปัจจัยของอกุศลธรรมอยู่ อกุศลธรรมนั้นก็เกิด และก็เป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมได้ ถึงแม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส แต่ถ้ายังมีปัจจัยที่จะให้ทำทุจริตกรรมอยู่ ทุจริตกรรมก็ย่อมเกิดได้
~ ถ้าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล กุศลกรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้แน่นอน แม้แต่ในเรื่องของทาน ถ้าในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ยังมีความยึดมั่นในวัตถุที่ควรจะสละเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น แต่สละไม่ได้ เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล หรือว่าควรจะสงเคราะห์ อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ก็กลับเบียดเบียนบุคคลอื่น เพราะเหตุว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล
~ ชีวิตของมนุษย์เป็นชีวิตที่เล็กน้อย และสั้นมาก เมื่อเป็นชีวิตที่สั้นและเล็กน้อยก็ควรจะหาประโยชน์จากชีวิตนี้ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และที่จะเป็นชีวิตที่มีค่าได้ ก็ด้วยการเจริญกุศล ขัดเกลาเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) แต่ถ้าจะมีชีวิตอยู่ด้วยการประกอบอกุศลกรรม เป็นต้นว่า การฆ่า ก็ไม่ใช่ชีวิตที่มีค่าเลย
~ กุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี ไม่มีปัญหา อกุศลธรรม เท่านั้นที่เป็นปัญหา ความเข้าใจถูก (ปัญญา) จะทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง เพราะปัญญาสามารถเห็นว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว เมื่อไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ก็เกิดปัญหา ทางแก้มีทางเดียว คือ เมื่อเกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด จึงจะแก้ปัญหาได้
~ พระธรรมเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้รู้จริงๆ ว่า เกิดมามีโอกาสได้ฟัง ได้เข้าใจธรรมนั้น เป็นขณะที่แสนยาก ขณะที่หายากในโลก คือ ขณะที่มีโอกาสได้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งเป็นขณะนี้ เพราะว่าทรัพย์สมบัติติดตัวไปไม่ได้ เงินซื้อความตาย ความสุข และปัญญา ไม่ได้ แม้เกียรติยศ ชื่อเสียง ก็ต้องมาจากคุณความดี ถึงมีใครแต่งตั้งให้ แต่ไม่มีคุณความดีก็ไม่มีใครนับถือ เพราะไม่ใช่เกียรติยศชื่อเสียงที่แท้จริง
~ ถ้าไม่มีหิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรง กลัวต่อบาป) จะฟังพระธรรมไหม? ทำไมถึงฟัง ฟังเพื่อที่ต้องการจะเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ได้ถ้าไม่ฟังพระธรรม ในขณะที่เห็นอันตรายของความไม่รู้ ต้องการที่จะพ้นจากความไม่รู้ ต้องการเจริญความรู้ขึ้น ในขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะที่เห็นภัย แล้วก็เห็นโทษ แล้วก็กลัว ละอายอกุศล คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
~ การที่ปัญญาจะเจริญ นี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ง่ายเลย แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่สอบถามข้อสงสัยเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เป็นผู้ที่พิจารณาผลจากการฟังพระธรรมของตนเอง เป็นผู้ที่สำรวมระวัง และก็เป็นผู้ที่มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย ก็ยังต้องเป็นผู้ที่ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก
~ ในเมื่อยังมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่ควรที่จะคิดถึงแต่เพียงกิเลสของคนอื่น ในขณะนั้น ก็จะต้องคิดถึงกิเลสของตนเองด้วย
~ การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งทุกท่านจะต้องเจริญกุศลเป็นบารมีต่อไปเรื่อยๆ
~ ทุกคนก็ต้องเดินทางชีวิตต่อไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และชีวิตข้างหน้าก็จะสุขทุกข์อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ และมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรม ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล
~ ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ยึดมั่นในความเห็น แม้ไม่ตรงกับพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าก็ไม่ทิ้งหรือว่าทิ้งไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ถ่ายถอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้ง รู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏและตามที่ได้ทรงแสดงไว้
~ ถ้าบุคคลใดไม่มีความเห็นถูก การปฏิบัติก็ไม่ถูก การรู้แจ้งธรรมก็ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเบื้องต้นทีเดียว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งได้ รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง
~ ถ้าเป็นผู้ที่ติดในบุคคลอย่างหนาแน่นทีเดียว ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นพูดผิด กล่าวผิด ก็เชื่อว่าถูก นี่ก็เป็นโทษอย่างยิ่ง
~ ผู้ตระหนี่คือผู้ที่ไม่ยินดีในการให้ แล้วก็เสียดายในการที่จะบริจาคสิ่งที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น เมื่อไม่เป็นผู้ที่บริจาคไม่มีการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เวลาที่ใครพูดเรื่องนี้ ก็จะปลาบปลื้มใจไม่ได้ เพราะเหตุว่าตนเองไม่ได้บริจาค
~ จะมีคฤหัสถ์คนไหนใจร้ายที่จะใส่เงิน (ถวายเงินให้พระภิกษุ) เพื่อเป็นทางไปสู่อบายภูมิแน่นอนหลังจากที่ (พระภิกษุ) ท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว
~ บวช หมายถึง การสละชีวิตคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ราวฟ้ากับดิน นี้เป็นเหตุที่คฤหัสถ์กราบไหว้ผู้ที่บวช เพราะเหตุนี้ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น ไม่ใช่เพราะชวนกันไปบวชหรือว่าบวชให้เต็มจำนวนแต่เพราะเหตุว่าอัธยาศัยอย่าง นี้ใครมีบ้าง มิใช่ทุกคนเพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่มีอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แล้วเห็นผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาอย่างนั้น จึงกราบไหว้ แสดงความเคารพในคุณความดีที่สะสมมาที่สามารถสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้
~ ขณะใดที่ความดีเกิดขึ้น ไม่ทำร้ายตนเองและไม่ทำร้ายคนอื่น อกุศลเป็นศัตรู แต่คุณความดีเป็นมิตร
~ แสงสว่าง คือ ปัญญา อวิชชาคือความมืด ใครมีปัญญาก็เป็นประโยชน์กับคนนั้น ขอให้เราเป็นคนหนึ่งที่จะมีปัญญาเป็นแสงสว่าง หรือ เป็นคนที่ทำความดีในท่ามกลางความชั่วร้ายที่บังคับบัญชาไม่ได้ แต่แม้กระนั้นเราก็จะพยายามทำความดี และศึกษาพระธรรมให้เข้าใจธรรมได้ถูกต้องมากขึ้น โดยไม่หวั่นไหว เพราะถึงอย่างไรก็ต้องจากโลกนี้ไปแน่
~ อดทนได้ไหมถ้าคนนั้นเขาว่าร้ายเรา ทำร้ายเราด้วยอะไรก็ตาม แต่ความเป็นมิตรของเราต่อเขานั้น เขาทำลายไม่ได้ เรายังคงมีความหวังดี ไม่ประทุษร้าย พร้อมที่จะช่วย ช่วยอย่างอื่นนั้นช่วยได้เพียงชั่วคราว แต่ช่วยให้เขาเป็นคนดีและเข้าใจพระธรรม นั่นคือประโยชน์จริงๆ ของการคบกัน
~ ถ้าท่านมีเมตตา อยากให้คนอื่นมีความสุขทุกประการ นั่นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่เวลาเกิดโกรธ กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ คือ กลายเป็นความมุ่งร้าย ผูกโกรธต่างๆ ที่จะให้คนอื่นเป็นทุกข์ต่างๆ
~ เมตตาคือความหวังดี ความเป็นมิตร ไม่เลือกด้วย ไม่ว่ากับใคร พร้อมที่จะเกื้อกูล ถ้ามีโอกาสที่จะช่วยเหลือหรือทำอะไรได้ นี่คือความเป็นมิตร
~ เขาเลวเรื่อง เขา แต่เราขณะนั้นเป็นอะไร ยังเป็นมิตรหรือเปล่า คือ ไม่เป็นศัตรู ต่อให้ใครเลวกับเราเท่าไร เราก็สามารถไม่เป็นศัตรู คือ ไม่คิดร้ายกับเขา นั่นคือความดีของเรา
~ ธรรมใดที่เป็นกุศล ควรแก่การอนุโมทนาก็อนุโมทนา ธรรมใดที่เป็นอกุศล ไม่ควรแก่การอนุโมทนาก็ไม่อนุโมทนา ถ้าใครทำดี ก็อนุโมทนาในการทำดีของบุคคลนั้น
~ ค่อยๆ ฟังธรรม จนกว่าจะมั่นคงว่า ไม่มีอะไรเลยสักอย่างในขณะนี้ที่ไม่ใช่ธรรม และสิ่งที่เป็นธรรมในขณะนี้ เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย คือ ฟังแล้วก็พยายามที่จะเข้าใจความจริง ทุกอย่างที่เป็นธรรมก็จะต้องเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย
~ เกิดมาเพราะกุศลกรรมทำให้เป็นมนุษย์ แต่ก็ยังไม่พอเพราะสะสมอกุศลมามาก เพราะฉะนั้นทำดีทุกโอกาส ก็ยังไม่พอ ต้องเข้าใจธรรมด้วย เพราะว่าหลายคนเกิดมา ก็เป็นคนดี ตามการสะสม แต่ก็เป็นคนที่ไม่สามารถที่จะรู้จักธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งที่มีจริงๆ (ธรรม) ควรไหมที่จะรู้ เพราะความรู้ ไม่เสียหายเลย การฟังแต่ละครั้งทำให้มีความเข้าใจถูกความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ .

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๙๒

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย มกร  วันที่ 3 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย panasda  วันที่ 3 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย j.jim  วันที่ 3 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย peem  วันที่ 3 มี.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย meenalovechoompoo  วันที่ 4 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณและซาบซึ้งในความเมตตา กราบอนุโมทนากุศลจิตของท่านอาจารย์คำปั่นค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย jaturong  วันที่ 4 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย siraya  วันที่ 4 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ