สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ
โดย ธรรมทัศนะ  17 มิ.ย. 2549
หัวข้อหมายเลข 1357

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว

เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้นเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญา ก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต

การเจริญสมถภาวนาเป็นการเจริญความสงบของจิตด้วยปัญญาที่เห็นโทษของจิตที่ไม่สงบ การอบรมเจริญความสงบของจิต จึงต้องมีสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบ คือ สมถภาวนา



ความคิดเห็น 1    โดย pornchai.s  วันที่ 17 มิ.ย. 2549

การเจริญสมถภาวนาหรือการเจริญสัมมาสมาธิจนถึงขั้นฌาน มีมาก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ดาบสทั้งสอง คือ อุทกดาบสและอาฬารดาบส ก็อบรมเจริญฌานจิต ถึงอรูปฌานขั้นสูงสุดจนตัวเองเข้าใจผิดคิดว่าบรรลุพระนิพพานแล้ว ในยุคที่ว่างจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฌานจิตจึงเป็นกุศลขั้นสูงสุด แต่ก็ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ ผู้ที่เจริญฌานจิตนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของความติดข้องใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวัน และมีอัธยาศัยของการเป็นนักบวช ไม่ใช่ว่าเกิดความหงุดหงิดในหน้าที่การงาน เบื่องาน อกหัก ผิดหวังจากเรื่องต่างๆ ก็ไปนั่งสมาธิให้จิตจดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ แล้วก็คิดเอาเองว่านี้ คือการปฏิบัติธรรม เข้าใจว่าได้ฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ความจริงเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลสมาธิ โดยไม่รู้ตัว

ผู้มีปรกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็ไม่ขาดสัมมาสมาธิ ขณะที่สติเกิด ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นกุศลสมาธิซึ่งประกอบด้วยปัญญา เป็นหนทางอบรมเจริญวิปัสสนาเพื่อความประจักษ์แจ้งนามธรรม รูปธรรม

ในอนาคต ในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ใช่กาลสมบัติที่จะเจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นฌานจิต เนื่องจากมีคำสอนของพระผู้มีพระภาคให้อบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันได้ เจริญวิปัสสนาได้ ทุกเพศทุกวัย มีอัธยาศัยเป็นฆราวาส ก็ไม่ต้องไปบีบบังคับตัวเองให้เป็นบรรพชิต สมถะในชีวิตประจำวันสามารถเกิดได้ เช่น ระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ระลึกถึงความตาย ระลึกถึงศีล เป็นต้น


ความคิดเห็น 2    โดย hadezz  วันที่ 7 ก.ย. 2552

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย pamali  วันที่ 4 ต.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 1 ก.ค. 2554

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ และ

อนุโมทนาจิตดีๆ ด้วยนะครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 12 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ