อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์?
โดย ทรงศักดิ์  21 พ.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 45969

ตัวอย่างการชมการแข่งขันฟุตบอล เมื่อเห็นทีมที่ตนเชียร์ทำประตูได้ก็ดีใจแต่คนที่เชียร์อีกทีมก็เสียใจ อารมณ์ที่กระทบคนดูที่เชียร์ทีมต่างกันก็เป็นอย่างเดียวกันคือเห็นลูกบอลเข้าประตู

อยากทราบว่า เป็นอารมณ์ดี หรือไม่ดี พิจารณาอย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 22 พ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า อิฏฐารมณ์ กับ อนิฎฐารมณ์ คืออะไร

อิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ดีปานกลาง เช่น สี เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายที่สวยงาม เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไปส่วนใหญ่ แต่ไม่ถึงกับประณีตจนเป็นทิพย์ กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ปานกลาง มีอิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ ส่วนกุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ประณีต จะมีอติอิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง เป็นอารมณ์

อนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่ดี เป็นสภาพที่หยาบทราม ไม่ประณีต เช่น ซากศพ เสียงดังมาก กลิ่นเหม็น รสเผ็ดจัด โผฏฐัพพะที่แข็งเกินไป เป็นต้น
สิ่งที่จะได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นต่อไป คือ
วิบาก ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นผลของกรรม นั้น มาจากเหตุ คือ กรรม ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้วิบากจึงมีทั้งกุศลวิบากและอกุศลวิบากตามควรแก่เหตุ การที่จะกล่าวว่า เห็นอะไรบ้างเป็นกุศลวิบาก หรือ เห็นอะไรบ้างเป็นอกุศลวิบาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก นั้น ไม่ได้อยู่ที่ความพอใจความชอบใจ หรือ ความไม่ชอบใจ แต่ที่พอจะพิจารณาได้ว่าเป็นกุศลวิบากทางตา เช่น
เห็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นสิ่งที่ส่วนใหญ่รู้กันว่าสิ่งนี้งดงาม เป็นต้น
ส่วนอกุศลวิบากทางตา เช่น เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็นซากศพ เห็นอุจจาระ เป็นต้น แต่บางสิ่งที่ไม่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนก็ยากที่จะตัดสินว่าเป็นอะไร ซึ่งไม่ใช่ฐานะของเราที่จะไปตัดสินในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอะไร แต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ ถ้าเป็นกุศลวิบากทางตา ต้องเห็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอิฎฐารมณ์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ทางตา ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์
ประโยชน์ที่ควรจะได้พิจารณา คือ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เข้าใจสี ที่กำลังปรากฏ หรือ เข้าใจสภาพรู้ในขณะที่เห็น ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 22 พ.ค. 2566

นอกจากอารมณ์บางอย่างที่ชัดเจนแล้ว การที่จะบอกได้ว่าอารมณ์นั้นดีหรือไม่ดีจะต้องรู้ว่ามาจากกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก แต่ก็ไม่ใช่วิสัยของคนทั่วไป

อาจารย์คำปั่นและหัวข้อที่ให้ศึกษาเพิ่มเติม ทำให้เข้าใจชัดเจนดีครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 14 มิ.ย. 2566

อิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ดี เช่น ในครั้งพุทธกาล คนที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นกุศลวิบากที่ดีทางตา แต่พวกอัญญเดียรถีย์เห็นแล้วไม่ชอบ เพราะสะสมมาไม่ดี ตรงกันข้าม อีแร้งเห็นชากศพเป็นอกุศลวิบากทางตา เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี แต่อีแร้งชอบค่ะ