ความหมายของคำว่า ความเชื่อ,ความรู้,ความเข้าใจ,ความศรัทธา สี่คำนี้ขอความหมายที่แท้จริงครับจำได้นำไปใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม
โดย AmpholSuttipo  17 มิ.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43243

ที่ผ่านมากระผมได้สื่อสารกับคนมามากมายเกิดความรู้สึกว่าความหมายของคำว่า ความเชื่อ,ความรู้,ความเข้าใจ,ความศรัทธา กระผมคิดว่ามีคนใช้ผิดจำนวนมาก อยากให้มูลนิธิ ฯ ช่วยให้ความกระจ่างกับความหมายของคำสี่คำนี้ครับ เพราะหากจะส่งเสริมให้คนเข้าใจถึงความถูกต้องของความเป็นจริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของคำในแต่ละคำโดยเฉพาะเราคนไทยจึงต้องใช้ภาษาไทย และคนสมั้ยนี้มักใช้คำย่นย่อมาสื่อสารกัน และทำให้เกิดคำผิดเพี้ยนมากมายที่นำมาใช้สื่อสาร โดยเฉพาะสี่คำที่กล่าวมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง กระผมจึงทราบความหมายที่แท้จริงเพื่อเป็นวิทยาทานกับคนทั่วไปครับ ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 17 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเชื่อ หมายถึง ความเห็นคล้อยตามไปในสิ่งนั้นๆ ซึ่งเป็นอกุศล ก็ได้ เป็นกุศล ก็ได้ ตัวอย่างของความเชื่อที่เป็นอกุศล เช่น เชื่อว่าไหว้ต้นไม้ ไหว้จอมปลวก ไหว้สัตว์ที่มีรูปร่างแปลกๆ แล้วจะนำมาซึ่งความโชคดี หรือ แม้กระทั่ง เชื่อในคำสอนผิดๆ เชื่อว่า จะรู้ธรรม จะบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ต้องไปสำนักปฏิบัติ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศ ทั้งนั้น ตัวอย่างของของความเชื่อด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น


ความรู้, ความเข้าใจ ๒ คำ นี้ บางทีก็ใช้แทนกัน และบางทีก็พูดรวมกันเลย เป็นความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า สภาพธรรม ที่เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ นั้น ได้แก่ จิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งรู้ในอารมณ์ ตามกิจหน้าที่ของตน สภาพที่เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง นั่น เป็นปัญญา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจในระดับใด ตั้งแต่ขั้นการฟัง จนถึงการประจักษ์แจ้งความจริง ดับกิเลสตามลำดับขั้น นั่นก็คือ ความเป็นจริงของปัญญา หรือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก หรือ ความรู้ ความเข้าใจ แต่ถ้าเป็นคำที่กล่าวทั่วๆ ไป โดยที่ไม่ได้มุ่งหมายถึง ปัญญา แล้ว อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ ปัญญา เช่น มีความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ มีความรู้ทางด้านทำอาหาร มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นั่น ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นความคิดนึก ความใส่ใจ ในสิ่งนั้นๆ



ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ดังนั้น ศรัทธา ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ความเป็นจริงของศรัทธา จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้

ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้าคือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วยครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 17 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย AmpholSuttipo  วันที่ 17 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย jirat wen  วันที่ 17 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Pornkamol  วันที่ 19 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย nattanagrit  วันที่ 7 ก.ย. 2566

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ