ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๖๑
โดย khampan.a  21 มิ.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 31962

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้


* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๖๑ * *

~ พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่ออะไร? ต่างจากทุกศาสนา เพราะเหตุว่า สอนให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพียงเท่านี้ ถ้าไม่ไตร่ตรอง ยังหาไม่พบเลยว่าแล้วอะไรจริงแล้วสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นอะไร นี่คือ ความลึกซึ้งอย่างยิ่งของแต่ละคำที่แสดงถึงสิ่งที่ละเอียดที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ที่จะได้ตรัสรู้ความจริง จากเวลาที่ยาวนานมากกว่าจะได้รู้ทุกคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วให้เราได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่เข้าใจคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว แล้วสามารถที่จะดำรงความถูกต้องของคำนั้นไว้ มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ชื่อว่าดำรงพระพุทธศาสนา หรือว่าจะรักษาพระพุทธศาสนาโดยวิธีไม่เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้
~ ภิกษุทั้งหลายก็ควรจะเป็นผู้อดทนและสงบเสงี่ยมด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภิกษุเท่านั้น พุทธบริษัททั้งหมดเมื่อได้พิจารณาพระธรรมและเห็นคุณของพระธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล จึงจะเป็นผู้ที่ประพฤติตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
~ ในโลกนี้มีบุคคลซึ่งมีฐานะต่างๆ กัน บางคนก็เป็นคนขัดสน ยากไร้ ท่านมีความรู้สึกต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างไรบ้างตามความเป็นจริง เคยสังเกตจิตใจไหมว่า ถ้าพบบุคคลที่ขัดสน ยากไร้ ท่านรู้สึกอย่างไร มีความเห็นใจ มีความเมตตา มีความกรุณา มีความเป็นผู้มีตนเสมอกับคนที่ยากไร้ขัดสนไหม หรือ มีความยกตน ดูหมิ่นเหยียดหยาม? เพราะเหตุว่า บางคนอาจจะคิดถึงชาติสกุล ฐานะ ยศ ความรู้ แล้วทำให้เกิดความต่างกันกับคนอื่น โดยลืมว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน
~ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยอย่างไร ก็เป็นโทษ เป็นภัย ที่ควรจะละคลายบรรเทาขัดเกลาในขณะนั้นเอง ถ้าไม่เห็นอกุศลธรรมอย่างละเอียด จะทราบไหมว่านั่นเป็นอกุศลธรรม เมื่อไม่ทราบก็ไม่ขัดเกลา แต่เมื่อใดที่เห็นภัยของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นโทษ ก็ย่อมมีความเห็นถูกที่จะขัดเกลาละคลายแม้อกุศลธรรมที่เพียงเล็กน้อยนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มุ่งจะไปละโลภะ โทสะ โมหะ โดยลืมและไม่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่มีในวันหนึ่งๆ
~ พระธรรมที่พระพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียดมาก ชี้ให้เห็นโทษและภัยของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ เพื่อจะให้เห็นตามความเป็นจริงว่าในชีวิตประจำวัน แม้ว่ากิเลสใหญ่อย่างโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เกิดขึ้นอย่างแรงกล้าเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันซึ่งเต็มไปด้วยอกุศลธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรจะให้เห็นโทษเห็นภัยแล้วควรขัดเกลาโดยที่ไม่ประมาท แล้วก็ไม่ข้ามด้วย โดยไม่คิดว่าจะข้ามการที่จะขัดเกลาอกุศลธรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่เห็นความสำคัญว่า แม้อกุศลธรรมเพียงเล็กน้อย ก็จะต้องขัดเกลาละคลายให้บรรเทาให้เบาบางลงด้วย
~ ฉันทะ เป็นความพอใจ ซึ่งพอใจในกุศลธรรมก็ได้ หรือว่า พอใจในอกุศลธรรมก็ได้ จริงไหม? บางคนพอใจในการที่จะมีโทสะมากๆ นั่นเป็นฉันทะในอกุศล ต่ความพอใจในการที่จะศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นฉันทะในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ฉันทะ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ความปรารถนาอยากจะได้มาเป็นของตน เพราะถ้าไม่มีฉันทะที่จะเจริญกุศล คงจะไปรื่นเริงสนุกสนานในฝ่ายอกุศลธรรม
~ อกุศลธรรมของเขา ย่อมให้โทษกับเขา เราจะต้องไปกลัวอกุศลธรรมของคนอื่นทำไม อกุศลธรรมของคนอื่น ไม่ได้มาให้โทษแก่เราเลย
~
ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลแล้ว ไม่ต้องกลัวอะไร จะไม่มีโทษภัยอะไรซึ่งเกิดเพราะกุศลของท่าน แต่ถ้าท่านจะได้รับโทษภัยต่างๆ ให้ทราบว่าไม่ใช่เพราะกุศลของท่าน แต่การที่ท่านได้รับโทษภัยนั้น เพราะท่านมีอกุศลธรรมของท่านเอง
~ การสะสมแต่ละขณะนั้น มีผล ถ้าเริ่มขณะที่จะเจริญทางฝ่ายกุศล แม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย ในภายหลังจะไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้านเลย ในการที่จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล
~ ไม่ควรที่จะประมาทอกุศลธรรมเลย ใครที่เป็นคนดี จะดีไปได้นานเท่าไร ก็เฉพาะตราบที่อกุศลยังไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่อกุศลทั้งหลายที่จะดับไปได้ด้วยการเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติด้วย ที่ว่าปัญญาคมกล้านี้ไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาคมกล้าที่น้อมมารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง
~ ถูก ต้องถูก และ ผิด ต้องผิด เพราะฉะนั้น สัจจบารมี ความตรงต่อความจริงที่จะสนทนากัน เพราะเป็นมงคลอย่างยิ่งประการหนึ่ง ที่จะทำให้เข้าใจพระธรรมได้ เพราะพระธรรม ลึกซึ้ง นี่ก็คือการบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ใช้คำว่ากตัญญู หมายความว่ารู้คุณ ถ้าไม่เข้าใจธรรมจะรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม? เพราะฉะนั้น ผู้รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ที่เข้าใจคำที่พระองค์ได้ตรัสรู้เมื่อได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีแล้วถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นจะไม่เหลือสักคำเดียวที่จะให้เราเข้าใจได้ ต้องอาศัยผู้ที่เข้าใจสืบทอดกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
~ บางท่านมีความหวังร้ายต่อผู้ที่ประพฤติไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ก็ลองพิจารณาสภาพจิตของท่านเองว่าเคยมุ่งหวังที่จะให้คนที่ประพฤติไม่ชอบ ได้รับโทษ ได้รับภัยอันตรายต่างๆ อย่างร้ายแรงหรือเปล่า? ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น จิตของท่านเองทำร้ายตัวของท่านเอง เพราะบุคคลอื่นไม่ได้เป็นไปตามความคิดของท่าน แต่ย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา
~ อกุศลธรรมของคนอื่นสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิต คือ เมตตาของท่านเกิดได้ เพราะกุศลธรรม ตั้งใจไว้ชอบ ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเกิดโทสะ เวลาที่เห็นคนอื่นกระทำอกุศลกรรมก็ดี หรือว่าสภาพจิตใจของคนนั้นเป็นอกุศลก็ดี ควรที่จะมีเมตตาว่า บุคคลนั้นจะต้องสะสมอกุศลจิตและอกุศลกรรมไปมากมาย ควรที่จะมีเมตตาอย่างยิ่ง
~ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นอกุศล ไม่ว่าอกุศลของใคร ของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง ของใครก็ตาม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลที่ท่านรัก หรือว่าคนที่เป็นศัตรูก็ตาม กุศลธรรมของบุคคลนั้นก็เป็นกุศลธรรม ต้องเป็นผู้ตรง
~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์โดยตลอด ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่มีแม้บทเดียว ที่จะไม่มีประโยชน์เพราะเป็นความจริงจากการตรัสรู้ของพระองค์ เป็นเรื่องของการขัดเกลาทั้งนั้นจึงจะเป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ สิ่งที่ไม่ดี เราก็ไม่ต้องไปคบกับสิ่งนั้น จะไปคบกับสิ่งที่ไม่ดีทำไม เพราะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลก็มีเฉพาะกุศลธรรมเท่านั้น ไม่ใช่อกุศลธรรม
~ มีวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพียงโกรธคนนั้น การให้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า โทสะ กั้นกุศลแล้วในขณะนั้น ทั้งๆ ที่มีความประสงค์จะฟังพระธรรม แต่ก็ง่วง ทำให้ฟังต่อไปไม่ได้ ความง่วง ก็กั้นกุศลแล้วในขณะนั้น
~ ถ้าใครพูดผิด ทำผิด คิดผิด คนที่เข้าใจพระธรรม ก็พูดสิ่งที่ถูก เพื่อให้เขาได้เข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปโกรธหรือไปขุ่นเคืองใจเพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งเมื่อเห็นโทษของอกุศลแล้ว การเข้าใจนั่นแหละ จะค่อยๆ ทำให้สิ่งที่เป็นกุศลเจริญขึ้น
~ ผู้มีปัญญาสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยกุศลจิต ด้วยความหนักแน่นมั่นคงในคุณความดีหรือในธรรมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้น ก็สามารถแก้ทุกสถานการณ์ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะนั้น แต่แม้ในขณะต่อๆ ไป กุศลก็ไม่ได้ให้โทษเลย

* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๖๐


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย petsin.90  วันที่ 21 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ สาธุ ค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย mammam929  วันที่ 21 มิ.ย. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

พระธรรมยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 21 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย natthayapinthong339  วันที่ 21 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย palsawangpattanagul  วันที่ 21 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย มกร  วันที่ 22 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย jaturong  วันที่ 22 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย เจียมจิต  วันที่ 22 มิ.ย. 2563

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Nattaya40  วันที่ 23 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย เมตตา  วันที่ 24 มิ.ย. 2563

ยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย nvrath  วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาในจิตอันเป็นกุศลของอาจารย์คำปั่น ค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย มังกรทอง  วันที่ 13 ก.พ. 2565

อกุศลธรรมของคนอื่นสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิต คือ เมตตาของท่านเกิดได้ เพราะกุศลธรรม ตั้งใจไว้ชอบ ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเกิดโทสะ เวลาที่เห็นคนอื่นกระทำอกุศลกรรมก็ดี หรือว่าสภาพจิตใจของคนนั้นเป็นอกุศลก็ดี ควรที่จะมีเมตตาว่า บุคคลนั้นจะต้องสะสมอกุศลจิตและอกุศลกรรมไปมากมาย ควรที่จะมีเมตตาอย่างยิ่ง

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 13    โดย chatchai.k  วันที่ 13 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ