ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ใต้ร่มสาละ แก่งกระจานคันทรี่คลับ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
โดย วันชัย๒๕๐๔  18 ก.พ. 2563
หัวข้อหมายเลข 31556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปพักผ่อนประจำปีที่แก่งกระจานคันทรี่คลับ พร้อมกับคณะวิทยากรและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามคำเชิญของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งท่านได้กระทำการเชิญเช่นนี้ มาตลอดระยะเวลานานหลายปีแล้ว

โดยส่วนตัว ได้ทราบข่าวการเดินทางในครั้งนี้มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว จากการพูดคุยสนทนาระหว่างคุณนภา จันทรางศุและผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรณพ หอมจันทร์ วิทยากรของมูลนิธิฯ คราวบันทึกเทปรายการสนทนาปัญหาสารพัน ที่บ้านคุณจริยา เจียมวิจิตร ที่สนามกอล์ฟรอยัลเจมส์ ศาลายา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๓ ว่าจะอยากใช้โอกาสนี้บันทึกเทปการสนทนาระหว่างท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ในเรื่องของการขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ สำหรับแนวทางการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจพระธรรม ที่สมควรจะได้สนทนากราบเรียนขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ เพื่อบันทึกไว้เป็นแนวทางทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ควรจะได้บันทึกไว้ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นความดำริของอาจารย์อรรณพ ที่น่าอนุโมทนายิ่ง ทั้งเป็นความประสงค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของท่านอาจารย์ในการกล่าวแสดงคำจริงจากการทรงตรัสรู้ให้ทุกคนได้ฟังเข้าใจ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่แห่งหนตำบลใดก็ตาม มีความประทับใจมากครั้งหนึ่งซึ่งท่านได้เคยกล่าวกับข้าพเจ้าเมื่อครั้งที่ท่านพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งท่านกล่าวว่า มีผู้กราบเรียนเชิญท่านไปพักผ่อนที่ต่างประเทศหลังจากที่ท่านหายดีแล้ว ซึ่งท่านกล่าวกับข้าพเจ้าในทำนองว่า ที่ดิฉันรอดมาได้ก็ "เพราะสิ่งนี้" (คือสิ่งที่ท่านเพียรเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนมาตลอดหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา) ดิฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ "เพื่อสิ่งนี้" ไม่ใช่เพื่อจะไปท่องเที่ยวพักผ่อนเลย กราบแทบเท้าท่านอาจารย์ครับ

นอกจากนี้ อาจารย์อรรณพ ยังได้ดำริที่จะใช้สถานที่บริเวณต้นสาละ ที่หน้าบ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่แก่งกระจานคันทรี่คลับ แห่งนี้ ซึ่งเป็นต้นที่นำมาจากสถานที่ปรินิพพาน กรุงกุสินารา เพื่อเป็นฉากในการบันทึกเทปในคราวนี้ด้วย เพราะเหตุที่ต้นสาละเป็นต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นต้นไม้ที่พระนางสิริมหามายา ทรงประทับยืนเหนี่ยวกิ่งขณะมีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล และทั้งเป็นต้นไม้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ใต้ต้นสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย อีกด้วย

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปฎกขุททกนิกาย พุทธวงศ เลม ๙ ภาค ๒ - หนาที่ 697

วงศพระโคดมพุทธเจา ที่ ๒๕

"...แมพระนางมหามายาเทวี ทรงบริหารพระโพธิสัตวดวยพระครรภ ๑๐ เดือนแลว มีพระครรภบริบูรณ มีพระประสงคจะเสด็จไปเรือนพระญาติ จึงกราบทูลแดพระเจาสุทโธทนะมหาราชวา ขาแตพระทูลกระหมอม เกลาหมอมฉันใครจะไปเทวทหนครเพคะ. พระราชาทรงอนุญาตแลว โปรดใหทําทางตั้งแตกรุงกบิลพัสดุจนถึงเทวทหนครใหเรียบ ใหประดับดวยตนกลวย หมอเต็มน้ํา หมาก ธงผา เปนตน ใหประทับนั่งในวอทองใหม ทรงสงไปดวย สิริสงาและดวยบริพารกลุมใหญ. ระหวางพระนครทั้งสอง มีมงคลสาลวันชื่อ ลุมพินี ที่ควรใชสอยของชาวนครทั้งสอง. มงคลสาลวันนั้น สมัยนั้นออก ดอกบานสะพรั่งไปหมด ตั้งแตโคนจนถึงยอด เพราะทรงเห็นวนะ งามเสมือนสวนนันทนวัน อันเปนที่สําเริงสําราญแหงเทพ ซึ่งหมูแมลงผึ้งอันผึ้งอื่นๆ เลี้ยงดู ผูเพลินในรสหวานที่ทําความยินดีอยางยิ่ง อันนารื่นรมยยินดี ดวยความเมา มีรวงรังอันเสพแลว ร่ํารองกระหึ่มอยูตามระหวางกิ่ง และ ระหวางดอกทั้งหลาย พระเทวีก็เกิดจิตคิดจะลงเลนสวนสาลวัน.

เหลาอํามาตยกราบทูลพระราชาแลว พาพระราชเทวีเขาไปยังลุมพินีวันนั้น พระนางเสด็จไปยังโคนตนมงคลสาละ มีพระประสงคจะทรงจับกิ่งใดของมงคลสาละนั้น ซึ่งมีลําตนตรงเรียบและกลม ประดับดวยดอกผลและใบออน กิ่งมงคลสาละนั้นไมมีแรงรวนเรเหมือนใจชน ก็นอมลงมาเองถึงฝาพระกรของพระนาง ลําดับนั้น พระนางทรงจับกิ่งสาละนั้น ดวยพระกรที่ทําความยินดีอยางยิ่งขางขวา ซึ่งงามดวยกําไลพระกรทองใหม มีพระองคุลีกลมกลึงดังกลีบบัวอันรุงเรืองดวยพระนขานูนมีสีแดง. พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น เปนพระราชเทวีงดงามเหมือนจันทรเลขาออนๆ ที่ลอดหลืบเมฆสีเขียวคราม เหมือนแสงเปลวไฟ ซึ่งตั้งอยูไดไมนาน และเหมือนเทวีที่เกิดในสวนนันทนวัน ในทันทีนั้นเอง ลมกัมมัชวาตของพระนางก็ไหว ขณะนั้น ชนเปนอันมาก ก็กั้นผามานเปนกําแพงแลวหลีกไป. พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยูนั่นเอง พระโพธิสัตวก็ประสูติจากพระครรภของพระนางนั้น..."

ต้นสาละ ที่หน้าบ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่แก่งกระจานคันทรี่คลับแห่งนี้เป็นหนึ่งในสองต้น ที่คุณสุวัฒ ชาญสุวิทยานันท์ นำมาจากสาลวโนทยาน กรุงกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน และได้มอบให้มูลนิธิฯ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ ต้นหนึ่งได้ทำการปลูกไว้ด้านหน้าข้างซ้ายของอาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ กรุงเทพมหานคร เมื่อคราวพิธีเปิดอาคารที่ทำการของมูลนิธิฯ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ และ อีกต้นหนึ่ง ทางมูลนิธิฯ ได้นำมาปลูกไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ คือที่บ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่แก่งกระจานคันทรี่คลับ ในปีเดียวกัน

(ต้นสาละที่หน้าอาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ กรุงเทพมหานคร)

(ต้นสาละที่หน้าบ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่แก่งกระจานคันทรี่คลับ จ.เพชรบุรี)

แต่เดิมที่อาจารย์อรรณพ ได้ดำริที่จะทำการบันทึกรายการบริเวณต้นสาละนี้ ทุกท่านไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าสาละต้นนี้จะให้ดอก ณ เวลานั้น เป็นแต่เพียงความคิดที่จะใช้ต้นสาละ เป็นฉากหลังเท่านั้น เพราะเป็นต้นไม้สำคัญที่ควรจะได้ถูกบันทึกไว้ในโอกาสสำคัญนี้ด้วย แต่เมื่อก่อนวันมาฆบูชาที่ผ่านมา มีผู้สังเกตุเห็นว่า สาละต้นนี้กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ นำมาซึ่งข่าวดีและความปีติซาบซึ้งยิ่ง เพราะเหตุว่า สาละต้นนี้ เคยให้ดอกครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี แห่งการรอคอยที่จะได้เห็น นับแต่ที่ได้มีการปลูกไว้ และจากวันนั้น ถึงวันนี้ คือ เดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ สาละต้นนี้ก็ให้ดอกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ห่างจากการให้ดอกครั้งแรกถึง ๖ ปี

โดยความที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ว่าข้าพเจ้าจะต้องเดินทางไปร่วมกับคณะของท่านอาจารย์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่ท่านจะเดินทางไปไม่นาน อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ได้โทรศัพท์มาหาและกล่าวกับข้าพเจ้าด้วยความตื่นเต้นปีติยินดี ว่าสาละต้นนี้กำลังออกดอกพร้อมทั้งส่งภาพดอกสาละและต้นสาละที่กำลังออกดอกมาให้ดู พร้อมทั้งถามข้าพเจ้าว่าพอมีเวลาว่างที่จะไปร่วมทำการบันทึกภาพแห่งความทรงจำที่น่าปีติยินดีนี้ด้วยกันไหม ซึ่งท่านบอกว่า ได้กราบเรียนปรึกษากับท่านอาจารย์แล้วที่จะชวนข้าพเจ้าไปด้วย ซึ่งอาจารย์อรรณพกล่าวชวนด้วยความเกรงใจว่าข้าพเจ้าสะดวกจะไปวันไหนก็ได้เพราะทราบเรื่องภารกิจส่วนตัวนานาประการของข้าพเจ้าดี ในที่สุด ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจที่จะขับรถไปเองพร้อมกับคุณนภา จันทรางศุ (ซึ่งกรุณาให้ใช้รถของคุณนภาสำหรับการเดินทางไปแก่งกระจาน เนื่องจากรถของข้าพเจ้าเลยเวลาตรวจเช็คเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์ตามระยะมานานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลานำรถเข้าไปตรวจเช็ค จึงขอถือโอกาสนี้ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณประกิตและคุณนภา มา ณ โอกาสนี้ นะครับ)

เราเดินทางไปพร้อมกับคุณแอน มาแชล สหายธรรมชาวแคนาดา ซึ่งอาจารย์ดวงเดือนท่านเมตตาให้คุณแอนได้ร่วมทริปในครั้งนี้ด้วย โดยท่านเมตตาให้พักที่บ้านพักรับรองในบริเวณบ้านพักตากอากาศของท่านด้วยกันกับคุณนภา จันทรางศุ เราสามคนออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ในตอนเช้าของวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ โดยมีจุดหมายแรกคือ ร้านอาหารครัวต้นสน ที่แก่งกระจาน ซึ่งอาจารย์ดวงเดือนนัดหมายที่จะเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ทุกท่าน

เมื่อไปถึงก็พบว่า นอกจากคณะของท่านอาจารย์ อาจารย์วิทยากร และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ แล้ว ยังมีคณะของสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ซึ่งเดินทางมาโดยรถตู้อีกหลายคัน นำคณะโดยพี่เดือนฉาย ค่ำอำนวย ผู้จัดทัวร์ที่ไม่เคยแสวงหากำไร (มีแต่ขาดทุน-แต่กำไรด้วยกุศลจิต ที่คิดแต่จะเกื้อกูลผู้อื่นเสมอมา)

หลังเสร็จจากมื้อกลางวัน ก็ได้เดินทางไปส่งคุณนภาและคุณแอนที่บ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือน และได้อยู่ชมต้นสาละ ที่กำลังออกดอก เท่าที่ทราบ แม้ว่าการออกดอกคราวนี้จะมีไม่มากเหมือนเมื่อครั้งแรก ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ แต่ ก็มีกิ่งหนึ่งที่มีช่อดอกเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่กำลังให้ดอกบานสะพรั่ง และมีดอกประปรายตามส่วนอื่นๆ ส่งกลิ่นหอมชื่นใจไปทั่วบริเวณในยามบ่าย ท่ามกลางสหายธรรมที่เดินทางมาชื่นชม พร้อมกับถ่ายภาพที่ระลึกเก็บไว้ ด้วยความปีติ สดชื่น ทั่วกัน

อนึ่ง ขออนุญาตเล่าเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ของวาระอันสุดแสนที่จะประทับใจยิ่งในครั้งสำคัญนี้ เก็บบันทึกไว้ สู่กันฟังดังนี้

- ป้ายที่จัดสร้างขึ้นที่ต้นสาละ มีการระบุข้อความเพียง "...ต้นสาละ (Sal) ต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา เนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ณ สาลวโนทยาน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ และทรงดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา สาละต้นนี้นำมาจาก สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา สถานที่ทรงดับขันธปรินิพพาน ปลูกไว้ที่บ้านเลขที่ ๕๖/๑๖ ซอย ๑๐ โครงการแก่งกระจานคันทรี่คลับ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในเดือนวิสาขะ พ.ศ.๒๕๔๓..." โดยมี พลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ กรรมการและเลขานุการของมูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งออกแบบให้ใส่รูปดอกสาละที่มุมบนของป้ายทั้งสองข้าง และ รูปของใบสาละ ที่มุมด้านล่างทั้งสองข้างเช่นกัน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า สาละที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา มีลักษณะของใบและดอก ตามภาพที่ได้บันทึกไว้นี้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ป้ายนี้มิได้ระบุชื่อในทางวิทยาศาสตร์ ด้วยดำริของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ให้ใช้เพียงชื่อ สาละ ในภาษาบาลี และ Sal ในภาษาอังกฤษ เท่านั้น เพื่อป้องกันความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะเพียงคำและหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎกก็เพียงพอและชัดเจนแล้ว

- ชมรมรักษ์สาละ โดย อาจารย์คำนวณ จุฑาศรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นสาละอินเดียของไทย ได้กล่าวกับอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ว่า สาละต้นนี้ มีลักษณะของลำต้นที่งดงามที่สุด ในประเทศไทย และเมื่อได้ทราบข่าวว่าสาละต้นนี้กำลังออกดอก ท่านและสมาชิกของชมรมรักษ์สาละ รู้สึกตื่นเต้นกันมาก เพราะทราบว่าเป็นต้นแรกที่ออกดอกในปีนี้ ทั้งได้ขออนุญาตอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่จะมาขอกางเต้นท์เพื่อดูพัฒนาการของการให้ดอกตามระยะต่างๆ อีกด้วย

- เมื่อเดินทางไปถึง อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ได้ปรึกษากับข้าพเจ้าว่า จะใช้บริเวณไหนดี สำหรับการบันทึกเทปรายการสนทนาปัญหาสารพัน ตอนสำคัญยิ่งนี้ ซึ่งในที่สุด ด้วยสายตาและความ (เริ่ม) เชี่ยวชาญในการมองมุมกล้องของอาจารย์อรรณพ เราก็ได้มุมที่ยอดเยี่ยมที่สุด โดยการดูมุมกล้องและทางเดินของแสงอาทิตย์ที่พาดผ่าน สำหรับการบันทึกเทปในเวลาบ่ายสามโมงครึ่งของวันพรุ่งนี้ (๑๒ กุมภาพันธ์) เป็นต้นไป เมื่อได้มุมที่ตกลงใจกันเรียบร้อย อาจารย์อรรณพ ก็เริ่มเคลียร์สถานที่ เก็บใบไม้แห้ง ตัดกิ่งแห้ง ใบแห้ง ของสาละ พร้อมทั้งไปยกชุดเก้าอี้ไม้ไผ่ที่มีอยู่ในบริเวณบ้านพักตากอากาศของอาจารย์ดวงเดือนมาจัดวางด้วยตัวเอง ซึ่งก็เข้ากันดีกับฉากใต้ต้นสาละที่เราเลือกพอดี โดยมีคุณแอ๊ว นภา จันทรางศุ และข้าพเจ้า เป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องสนุกสนานเรื่องหนึ่ง ที่ทุกคนต้องระมัดระวัง คือรังของมดแดงและพลพรรคของมดแดงที่อยู่บนต้นสาละเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำความสนุกสนานแก่พวกเราในขณะนั้นมิใช่น้อย ที่หลายคนต่างโดนมดแดงรุมทึ้งเอา โดยมีตัวอย่างคือวีดีโอขณะที่อาจารย์อรรณพปีนบันไดขึ้นไปตัดกิ่งแห้งของสาละเป็นหลักฐาน ที่อาจารย์ต้องรีบไต่บันไดลงมาอย่างรวดเร็วเพราะถูกรุมทึ้งจากกองทัพมดแดง โดยตัวท่านเองกล่าวติดตลกเมื่อได้เห็นวีดีโอที่ข้าพเจ้าบันทึกไว้ ว่าเหมือนหมีที่รีบปีนลงจากต้นไม้ขณะที่กำลังปีนขึ้นไปกินน้ำผึ้งจากรวงผึ้งและถูกผึ้งรุมต่อย ซึ่งท่านอาจารย์ได้เห็นภาพนี้และกล่าวอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ด้วย เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นและอนุโมทนาในวิริยะของอาจารย์อรรณพและทุกๆ ท่าน ในครั้งนี้นะครับ

หลายครั้งที่ท่านอาจารย์เห็นภาพเบื้องหลังของการเตรียมการอัดรายการ หรือภาพเบื้องหลังของการร่วมกันเจริญกุศลประการต่างๆ ของพวกเราชาวสมาชิกชมรม บ้านธัมมะ มศพ. ที่ทุกๆ ท่านร่วมแรงร่วมใจกันทำงานด้วยความตั้งอกตั้งใจ มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยไรๆ ท่านก็มักกล่าวแก่ข้าพเจ้าเสมอๆ ว่าควรที่เราจะได้เผยแพร่ภาพของความร่วมแรงร่วมใจในการทำดีประการต่างๆ เช่นว่านี้ ในเวปไซต์ของบ้านธัมมะ ในส่วนของชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ซึ่งท่านได้เมตตาให้คำขวัญไว้ว่า "ทำดีและศึกษาพระธรรม" อันเป็นความหมายที่ลึกซึ้ง ด้วยเมตตากรุณาของท่านอาจารย์ที่ข้าพเจ้ารับใส่เกล้าไว้มิเคยลืม

จากการปรารภของท่านอาจารย์หลายหนนี้เอง ทางเวปไซต์บ้านธัมมะ โดยอาจารย์ฉัตรชัย กิตติพรชัย และคุณโสภณ สิงห์แก้ว ผู้ดูแลเวปไซต์และเวปมาสเตอร์ของเวปไซต์ ได้ขานรับนโยบายของท่านอาจารย์ โดยได้ทำการประชุมหารือพร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดินทางมาด้วยกันในครั้งนี้พอดี โดยได้ตกลงที่จะทำการปรับปรุงและจัดทำเวปไซต์ของ "ชมรมบ้านธัมมะ มศพ." เพื่อการรับรู้ และเผยแพร่ข่าวสาร การทำดีและศึกษาพระธรรม ของชาวสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จากทั่วทุกภาคของประเทศ และทั่วโลก เช่น จากชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ข่าวสารต่างๆ ของบ้านธัมมะ ลำพูน ข่าวสารต่างๆ จากชมรมบ้านธัมมะ มศพ. หาดใหญ่ และจากสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก จากชมรมบ้านธัมมะ ในแอลเอ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จากชมรมบ้านธัมมะ เวียดนาม จากชมรมบ้านธัมมะ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และพม่า เป็นต้น ซึ่งสมาชิกทุกท่านสามารถเข้ามาโพสต์แจ้งข่าวสาร การทำดีและศึกษาพระธรรม ของชาวสมาชิกชมรมฯ ได้ที่หน้ากระดานสนทนาที่จะทำการจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นความเมตตากรุณาของท่านอาจารย์ ที่เล็งเห็นถึงการสนับสนุนส่งเสริมและเผยแพร่ ให้ชาวสมาชิกชมรมฯ มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันและกันได้อย่างใกล้ชิดอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งหากการจัดทำสำเร็จแล้ว ก็จะได้แจ้งให้สมาชิกทุกท่านรับทราบในวาระต่อไป กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

(ภาพท่านอาจารย์ เมตตามาดูสถานที่ ที่จะทำการบันทึกรายการในวันพรุ่งนี้)

อนึ่ง เนื่องจากได้ทราบในภายหลังว่าท่านอาจารย์มีกิจธุระในช่วงบ่ายสามโมงครึ่งของวันพุธที่ ๑๒ จึงต้องเปลี่ยนเวลาบันทึกเทปการสนทนาจากเดิมที่คิดว่าจะทำการบันทึกตอนบ่ายสามโมงครึ่ง มาเป็นเวลาเช้า ในช่วงเวลา ๙.๐๐ น. - ๑๐.๓๐ น. เพราะหลังจากนั้น เราทุกคนจะต้องเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ได้กรุณาเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว ที่บริเวณหาดทราย ใต้ต้นสน ริมหาดชะอำ (ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกปี และแม่ค้าที่ได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ดวงเดือน เพื่อเตรียมอาหารไว้ให้บริการ ก็เป็นคนเดิมทุกปี เช่นกัน)

(ภาพอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม จัดเลี้ยงอาหารทะเลมื้อกลางวันสำหรับทุกคน ริมชายหาดชะอำ หลังอัดเทปรายการเสร็จ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)

และภายหลังจากการบันทึกเทปเสร็จลง และได้ชมภาพจากวีดีโอที่บันทึกไว้ ทุกคนต่างชื่นชมยินดีว่า การบันทึกเทปช่วงเวลาเช้า เป็นช่วงที่มีแสงออกมางดงามมากที่สุดเลยทีเดียว นี่เป็นอีกความประทับใจหนึ่งที่ให้ได้มั่นคงขึ้น ในความเป็นอนัตตาของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน

เช้าของวันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓ คณะทำงานในส่วนของการบันทึกเทปรายการสนทนาปัญหาสารพันในครั้งนี้ นำโดยอาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย อาจารย์ผเดิม ยี่สมบุญ คุณวรรณี แซ่โง้ว และคุณเอ็ม วรศักดิ์ ราชตา ได้เดินทางล่วงหน้าไปทำการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์การบันทึกรายการที่บริเวณต้นสาละ ตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อข้าพเจ้าและอาจารย์อรรณพ เดินทางไปถึง ก็พบกับภาพของความพร้อมและความงดงามอย่างยิ่งของสถานที่ ซึ่งใคร่ที่จะกล่าวบันทึกไว้สืบไปว่า การบันทึกเทปรายการสนทนาปัญหาสารพันครั้งสำคัญยิ่งในครั้งนี้ เป็นครั้งที่มีความสมบูรณ์ ลงตัว พรั่งพร้อมด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สวยสดงดงามทุกประการ

นับตั้งแต่ที่ตั้งของการถ่ายทำ ซึ่งเป็นบริเวณใต้ต้นสาละ ที่ด้านหลังของท่านอาจารย์คือแนวลำต้นที่ตั้งตรง สง่างามยิ่งของต้นสาละต้นนี้ เบื้องขวาของท่านอาจารย์มีดอกสาละที่ทอดกิ่งลงมาด้านข้างไหล่ พร้อมช่อดอกที่ส่งกลิ่นหอมสดชื่น สูงขึ้นไปทางด้านขวาของตำแหน่งที่นั่งของท่านอาจารย์ มีสาละช่อใหญ่ที่สุดของการออกดอกในครั้งนี้ เบ่งบาน อวดช่อดอกสวยงามยิ่ง ซึ่งทุกท่านที่มา ต่างก็ไม่พลาดที่จะบันทึกภาพสาละช่อนี้ไว้กันทุกคน ด้านบนเหนือศีรษะของท่านอาจารย์ และทางด้านฝั่งซ้ายลงมา ก็มีสาละออกดอกระบายอยู่ประปรายเช่นกัน ท่านอาจารย์และคณะวิทยากรทั้ง ๕ ท่าน จึงเสมือนนั่งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของกิ่งต้นสาละ ที่กำลังออกดอกเป็นครั้งที่สอง ห่างจากการออกดอกครั้งแรกถึง ๖ ปี และเป็นปีที่ ๒๐ ที่สาละต้นนี้ ให้ดอก นับตั้งแต่การปลูกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ เป็นต้นมา

อนึ่ง ก่อนการบันทึกเทปจะเริ่มต้น อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ท่านเจ้าบ้านผู้เปี่ยมด้วยเมตตายิ่ง ได้เดินมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่ ทั้งสอบถามความขาดเหลือที่คณะทำงานอาจต้องการเพิ่มเติม อันเป็นความเมตตากรุณาที่ทุกคนประทับใจอย่างยิ่ง เสมอมาครับ

การบันทึกเทป "รายการสนทนาปัญหาสารพัน ตอน สาระ ใต้ร่มสาละ" ได้เริ่มขึ้นในเวลาราว ๙.๐๐ น. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรณพ หอมจันทร์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเช่นเคย และมีวิทยากรที่ร่วมสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คือ อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และอาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ

การสนทนาและการบันทึกเทปรายการดังกล่าวได้ดำเนินไป โดยมีชาวสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ที่เดินทางมาร่วมชมต้นและดอกสาละในครั้งนี้และอยู่ร่วมชมและฟังการบันทึกเทปตอนพิเศษนี้ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทุกคนมีสีหน้าและแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข แม้ว่าแดดยามเช้าที่เริ่มแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ทุกคนก็ไม่มีมีทีท่าย่อท้อ ยืนนิ่งเงียบ ไม่พยายามที่จะให้มีเสียงดังรบกวนในการบันทึกรายการเลย แม้มีบางขณะที่มีรถตู้และรถเก๋งของสหายธรรมที่เดินทางมาขณะมีการบันทึกเทป แต่ทุกท่านก็ให้ความร่วมมือด้วยเต็มใจยิ่ง เมื่อทราบว่ากำลังมีการถ่ายทำบันทึกเทปรายการอยู่ ก็ทำการจอดรถไกลๆ แล้วค่อยๆ เดินเท้ามาร่วมฟังด้วยความระมัดระวัง ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน มา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ

ผศ.อรรณพ รายการสนทนาปัญหาสารพันวันนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่สุด ที่เราได้มีโอกาสมาสนทนาใต้ร่มสาละ จากกุสินารา ซึ่งอยู่ที่บ้านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่แก่งกระจาน เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ก็กำลังผลิดอกอยู่ด้วย ทำให้น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรม อันเป็นประโยชน์สูงสุด ที่เราสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจ ตรงตามพระธรรมคำสอน แล้วก็สืบสานพระศาสนากันต่อไป

ดังนั้น ในวันนี้ก็เป็นโอกาสที่วิทยากรทุกท่าน จะได้กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ต่อไป ซึ่งในวันนี้ ขออนุญาตเริ่มจากพระสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงสาละ ซึ่งทั่วไปเราก็จะคิดว่าต้นสาละก็คือตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ แล้วก็ปรินิพพาน แต่ในระหว่างนั้น มีพระธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับต้นสาละเป็นอันมาก พระองค์ก็ทรงอุปมาต้นสาละนี้ว่า ต้นสาละ จะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องปราศจากวัชพืช เช่น พวกต้นละหุ่งอะไรอย่างนี้ ที่จะมารบกวนการเจริญเติบโต ฉันใด กุศลจะเจริญขึ้น ก็ต้องขจัดอกุศล

ดังข้อความใน : กกจูปมสูตร

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๕๗

"...ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนปาไมสาละปาใหญ ใกลบานหรือนิคม และปานั้น ปกคลุมไปดวยเหลาตนละหุง ชายไรๆ พึงหวังดี หวังประโยชน และหวังความปลอดภัยของตนสาละนั้น เขาจึงตัดตนสาละเล็กๆ ที่คด ที่ตนละหุงคอยแยงโอชาออก นําไปทิ้งเสียภายนอก แผวถางภายในปาใหสะอาดเรียบรอย แลวคอยบํารุงรักษาตนสาละเล็กๆ ที่ตนตรง ขึ้นแรงดี ไวไดโดยชอบ

ภิกษุทั้งหลาย ดวยการกระทําดังที่กลาวมานี้ สมัยตอมา ปาไมสาละนั้นก็เจริญงอกงามไพบูลยขึ้นโดยลําดับ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย แมพวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทําความพากเพียรอยูแตในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เมื่อเปนเชนนี้ แมพวกเธอ ก็จักเจริญงอกงามไพบูลยในพระธรรมวินัยนี้ถายเดียว..."

ท่านอาจารย์ ทุกคนก็เป็นต้นสาละ เพราะฉะนั้น วัชพืช ก็คือ อกุศล ซึ่งจะเบียดเบียน ทำให้กุศลธรรม เจริญช้ามาก

ด้วยเหตุนี้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่จะศึกษาพระธรรม ซึ่งลึกซึ้ง ละเอียด ยากที่จะรู้ได้ ต้องเคารพจริงในแต่ละคำ เพราะว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มาจากการที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานมาก กว่าจะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้ตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้น ทุกคำ ที่เราได้ฟัง มาจากการตรัสรู้ ซึ่งถ้าเราได้ฟังแล้วเข้าใจจากคำของพระองค์ ก็จะทำให้ "ปัญญาของเรา-ต้นสาละต้นหนึ่ง" ซึ่งค่อยๆ จะเจริญขึ้น แต่ต้องระวังอกุศล เพราะว่าอกุศลจะเบียดเบียน ตั้งแต่วัชพืชเล็กๆ จนกระทั่งต้นละหุ่ง

เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่พระธรรมคำสอน ก็จะค่อยๆ ทำลายการเติบโตของต้นสาละ ถ้าไม่มีการที่จะให้วัชพืชลดน้อยลงไป ต้นสาละก็เจริญขึ้นไม่ได้ อะไรก็ตามที่จะทำให้ต้นสาละถึงกับตายลง เพราะไม่ได้รับการดูแลเลย ไม่มีการปราบวัชพืช ต้นสาละซึ่งพยายามที่จะเติบโต ก็ย่อมแพ้พวกวัชพืช!!

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า ได้เติบโตมาบ้าง แต่ไม่เป็นผู้ที่ละเอียดอย่างยิ่ง ที่จะดูแล "สาละ คือ แต่ละคน แต่ละต้น" ให้ค่อยๆ ลดน้อยอกุศลลง ในที่สุดก็อันตรธานไป เพราะความเข้าใจผิดในพระธรรม ได้

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ อย่างพระสูตรนี้ ท่านก็กล่าวถึง แม้กระทั่งต้นสาละ ยังมีต้นที่คดโค้ง ต้องตัดทิ้งค่ะ ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดค่ะ เพราะว่า อกุศลฉลาด ไม่ใช่ปัญญานะคะ แค่ฉลาดที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ทำให้อกุศลอื่นๆ พลอยเกิดตามไปด้วยมากมายมหาศาล โดยวิธีการต่างๆ ของอกุศล ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูล เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการเข้าใจคำของพระองค์แต่ละคำ เมื่อนั้นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง ซึ่งมี ใครรู้? ไม่มีทางจะรู้ได้เลย และรู้ถึงที่สุดอย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงว่า "หนทาง" คือ การอบรมปัญญา "หนทางเดียวจริงๆ " ที่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้

อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ เหมือนกับกิเลสหรือว่าวัชพืช ก็ต้องค่อยๆ กำจัดไปเรื่อยๆ เพื่อให้ต้นสาละสมบูรณ์แล้วก็โตขึ้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วมีอะไรจะกำจัดไหม?
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องเป็นปัญญา ใช่ไหมคะท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ มาจากไหน?
อ.ธิดารัตน์ จากการฟัง
ท่านอาจารย์ ฟังใคร?
อ.ธิดารัตน์ ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ แต่ละคำ ไม่ประมาท วัชพืชนี่เล็กก็มี จนกระทั่งเติบโต ใหญ่โต

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ การที่จะเห็นวัชพืชที่ไม่ใช่ต้นที่ควรแก่การบำรุงรักษา ควรที่จะกำจัดเสีย อย่างที่อาจารย์อรรณพกล่าวถึง ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่ ต้อง "รู้จักธรรมะที่เป็นอกุศลธรรม" แล้วก็ต้องรู้จัก "หนทางที่จะนำอกุศลธรรมออก" ด้วย และเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงว่า การที่จะได้รู้จักอกุศลธรรม หรือแม้การที่จะนำออกซึ่งอกุศลธรรม ก็ต้องเป็นปัญญา อย่างที่อาจารย์ธิดารัตน์กล่าวถึง แต่ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า การที่จะมีปัญญา ก็ต้อง อาศัยพระธรรม

ดังนั้น ก็เพียงเข้าใจอย่างนี้ แต่ว่า หนทางของการที่จะรู้จักอกุศล ซึ่งก็มีระดับของอกุศล โดยการอาศัยพระธรรม แต่ว่าการที่จะแสดง อย่างวิทยากร การที่จะกล่าวธรรมะให้คนได้เกิดความเข้าใจ ซึ่งแต่ละคน ความสนใจธรรมะ มากน้อยต่างกัน ดังนั้น การเริ่มที่จะให้คนได้สนใจ แล้วก็เห็นโทษของอกุศลธรรม แล้วก็มีการเจริญขึ้นของกุศลธรรม จะเป็นอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์ พูดถึงคนฟังใช่ไหม? เมื่อกี้นี้
อ.วิชัย ครับ คนฟังแล้วก็วิทยากรด้วยครับ
ท่านอาจารย์ กับวิทยากร เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืม วิทยากรพูดอะไร? เพื่ออะไร? พูดความจริง ให้คนฟังเข้าใจ คำนึงถึงอะไร? ต้องคิดถึงคนฟังว่า เขาเข้าใจหรือเปล่า? นี่สำคัญที่สุด อย่าเพิ่งผ่านไป เพราะว่าเราพูดๆ ไป คิดหรือ ว่าเขาเข้าใจ!! แล้วเราก็อยากจะพูดไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดถึงคนฟังเลยว่าเขาเข้าใจแค่ไหน เพราะฉะนั้น ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าจะเกื้อกูลใคร ไม่ใช่เราจะพูดอะไรๆ แล้วเขาก็สามารถที่จะเข้าใจได้หมด ใช่ไหม? เกื้อกูล คือ จากการที่เขาไม่เข้าใจเลย เรารู้นี่คะ เราเคยไม่เข้าใจมาก่อน

เพราะฉะนั้น จะให้เขาเข้าใจได้อย่างไร ต้องละเอียด เว้นไม่ได้ จะบอกเขาว่า ธรรมะไม่เที่ยง เขาก็จำ ธรรมะใดที่เกิดขึ้น ธรรมะนั้นก็ดับไป ไม่เที่ยง นี่หรือ? ให้เขาเข้าใจ? ไม่ได้ให้เขาเข้าใจเลยสักคำ "ธรรมะ" ก็ไม่ได้ให้เขาเข้าใจ "ไม่เที่ยงอย่างไร" ก็ไม่ใช่เขาจะเข้าใจเพียงแค่นี้ ต้องรู้เลย ไม่เคยฟังมาก่อนเลย แต่ละคนนะคะ คุณอรรณพทราบไหม? พอฟังแล้ว อย่างน้อยที่สุด งงอยู่สามวัน!! เท่าที่มีคนมาหา มาชมต้นสาละนี้ เขาก็คุยกันเรื่องธรรมะ ว่า พอฟังใหม่ๆ นี่ยาก เหมือนอย่างที่คุณป่ายที่เป็นชาวพม่า ฟังแล้วโกรธ!! แต่นี่ก็ ฟังแล้วก็ไม่พอใจก็มี ฟังแล้ว ยากเหลือเกิน พูดอะไรไม่รู้เรื่อง แต่เพราะเห็นประโยชน์ อย่างน้อยที่สะสมมา ว่าแต่ละคำ เข้าใจหรือเปล่า คนนั้นต้องเป็นคนมีปัญญา รู้ว่าเกิดมาทำไม? เกิดมาสนุก มีความสุข แล้วก็ตายไป ชาติก่อนก็เป็นอย่างนี้ แล้วอยู่ไหน? ลืมหมด!! ชาตินี้ก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็ลืมหมด!! เกิดมาเพื่อลืม แต่ก่อนลืมก็สนุกสนาน แล้วก็จำอะไรไม่ได้เลย ความสนุก ความที่สำราญใจ สบายใจ สนุกมาก ก็ไม่ได้ติดตามไปเลย แล้วอะไรติดตามไป? วัชพืช!! ดีหรือชั่ว ก็ไปรกอยู่ในจิต ทั้งเป็นแผล ทั้งเน่า สารพัดอย่าง

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นอย่างนี้ ถ้าใคร "ได้เข้าใจแต่ละคำ" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นประโยชน์ให้เขาเห็นค่า แล้วจะติดตามฟังไปอีก และค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีก ไม่หลงทาง!!! เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ คนที่ฟังเรา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจของเรา แต่ต้องคิดว่า เขาเข้าใจแค่ไหน? พยายามทบทวนให้เขามีความเข้าใจที่มั่นคง แล้วก็สนทนา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเขาเอง นี่ต้องลืมไม่ได้เลย พูดเพื่อเขา!! แล้วจะให้เขาเข้าใจก็ต้องสนทนาอย่างละเอียด หลายๆ ทาง หลายๆ คำ ที่จะดูว่า เขาเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเข้าใจจริงๆ แต่ละคำ ก็เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๐๖

".........ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพ อันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์... แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า...แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ ย่อมเป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต

ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่..."

อีกพระพุทธดำรัสหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การระลึกถึง...

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐ (๑๔๑) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดา ล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา..." [เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๒ พระปัจฉิมวาจา (๑๔๓) ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต. ...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ไม่อาจหวนกลับคืนมาได้อีกเลย ในสังสารวัฏ...

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาและกราบขอบพระคุณอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

..................

ขอเชิญคลิกชมบันทึกรายการสนทนาปัญหาสารพัน ตอน สาระ ใต้ร่มสาละ ครั้งนี้ ได้ที่นี่...

ขอเชิญคลิกชมกระทู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ที่นี่.....

- ต้นสาละออกดอก
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๓] กุสินารา-ลุมพินี



ความคิดเห็น 1    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 18 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย Nataya  วันที่ 18 ก.พ. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย abhirak  วันที่ 18 ก.พ. 2563

กราบแทบเท้าท่านอาจารย์ฯด้วยความเคารพอย่างยิ่งครับ

กราบอนุโมทนาในส่วนกุศลทั้งปวงของอาจารย์วิทยากรทุกๆ ท่าน รวมทั้งอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรมครับ

ก็นับเป็นวาสนาอันดีที่ชาตินี้มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาพระธรรมจากการฟังการสนทนาธรรมของบ้านธัมมะ มศพ. ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 19 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 19 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ​ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Thanapolb  วันที่ 21 ก.พ. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

อนุโมทนาในกุศลและเมตตาจิตของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรมขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของท่านวิทยากร ช่างภาพ และทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chvj  วันที่ 9 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ