โสภณสาธารณเจตสิต
โดย ผู้ร่วมเดินทาง  4 ธ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 22122

มีคำถามจากสหายธรรมชาวเวียดนามครับ สงสัย ในส่วนของโสภณสาธารณเจตสิก ของกายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา - จิตตลหุตา กายมุทุตา - จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา - จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา - จิตตปาคุญญตา และ กายุชุกตา - จิตตุชุกาตา

ทำไมไม่ใช้คำว่า ปัสสัทธิเจตสิก ลหุตาเจตสิก มุทุตาเจตสิก กัมมัญญตาเจตสิก ปาคุญญตาเจตสิก และชุกตาเจตสิกให้เหมือนกับสัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกและปัญญาเจตสิก มีนัยที่อาจจะอธิบาย ถึงความแตกต่าง และเหตุผล ให้ทำความเข้าใจได้ยิ่งขึ้นอย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาต ร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ตามความเป็นจริง พยัญชนะที่ทรงใช้ในการประกาศสัจจธรรมนั้น ก็ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่เหลือให้สงสัยเลยแม้แต่นิดเดียว สําคัญคือความเข้าใจถูก เห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เจตสิก คือ อะไร โสภณสาธารณเจตสิก คือ อะไร เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เมื่อกล่าวถึงเจตสิกแล้ว เมื่อยังไม่ได้กล่าวแยกเป็นส่วนๆ ก็หมายรวมทั้งหมด ๕๒ ประเภท

สําหรับโสภณสาธารณเจตสิก นั้น หมายถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท คือ เกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ ชาติวิบากก็ได้ ชาติกิริยาก็ได้ ตามสมควรแก่โสภณจิตนั้นๆ แต่จะไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอกุศลเลย นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

จากประเด็นคำถาม ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า จะใช้คำสั้นๆ ได้ไหม เช่น ปัสสัทธิเจตสิก ลหุตาเจตสิก สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ และที่สำคัญ ก็ต้องเข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ เพราะเหตุว่า แต่ละเจตสิกจำแนกเป็น ๒ คือ เป็นคู่ คู่ (รวม ๖ คู่) ประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วทำให้จิตสงบ เบา อ่อน ควรแก่การงาน ตรง คล่องแคล่ว อีกประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วทำให้กาย (คือเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น) สงบ เบา อ่อน ควรแก่การงาน ตรง คล่องแคล่ว นี้คือ สิ่งที่สำคัญ ถ้าหากอาศัยพยัญชนะที่ครบถ้วน ก็จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด และทั้งหมดนั้น ก็ส่องให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้จริงๆ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กายปัสสัทธิ - จิตตปัสสัทธิ -- โสภณสาธารณเจตสิก

กายลหุตา - จิตตลหุตา -- โสภณสาธารณเจตสิก

กายมุทุตา - จิตตมุทุตา-- โสภณสาธารณเจตสิก

กายุชุกตา - จิตตุชุกตา-- โสภณสาธารณเจตสิก

กายปาคุญญตา - จิตตปาคุญญตา -- โสภณสาธารณเจตสิก

กายกัมมัญญตา - จิตตกัมมัญญตา -- โสภณสาธารณเจตสิก

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากการที่สภาพธรรมบางอย่าง ไม่เติมคำว่า เจตสิกต่อท้าย ทั้งๆ ที่เจตสิกบางอย่างมีคำว่า เจตสิกต่อท้าย เช่น สติเจตสิก สัทธาเจตสิก แต่ กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ ไม่มีคำว่าเจตสิกต่อท้าย

ในความเป็นจริง สภาพธรรมแต่ละอย่าง ในศัทพ์แต่ละคำ กำลังแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศัทพ์ธรรมะได้เหมาะสม ถูกต้อง เป็นเทศนาวิลาส คือ แสดงโดยนัย เทศนาให้หลากหลาย อันให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของสัตว์โลก จึงใช้ศัทพ์ต่างนัยกัน เพื่อให้สัตว์โลกที่ถูกอัธยาศัยกับศัพท์นี้ ได้เข้าใจคำๆ นั้น อันเป็นพระปัญญาคุณที่ยากหยั่งรู้ได้ ครับ

ซึ่งเมื่อเติมคำว่า กาย ในที่นี้ หมายถึง การประชุม รวมกัน ของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ประเภทต่างๆ และ จิต ก็หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต หมายถึงตัวจิต ไม่ได้หมายถึงเจตสิก เพราะฉะนั้น ทรงแสดงคำว่ากายปัสสธิ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นการประชุมรวมกันของ เจตสิก ที่เมื่อกายปัสสัทธิเจตสิกเกิดขึ้น ทำให้เจตสิกที่ประชุมรวมกัน สงบระงับด้วย เพราะฉะนั้น ในธรรมเป็นคู่ๆ ทั้งหมด ๖ คู่ ที่เป็นเจตสิก ๖ คู่ กำลังแสดงถึงการประชุมที่เป็น กายของเจตสิกต่างๆ และ จิต ที่เกิดร่วมด้วย ที่มีเจตสิกเหล่านี้เกิด มีลักษณะ สงบ ระงับ เบา เป็นต้น จึงมุ่งแสดงโดยนัยของเจตสิกอื่นๆ และจิตอื่นๆ ว่า เมื่อเจตสิกเหล่านี้เกิดขึ้น จะมีลักษณะอย่างไรครับ ในสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน มีจิตและเจตสิกอื่นๆ จึงไม่ได้ใส่คำว่า เจตสิกต่อท้าย เพราะ มุ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นสำคัญ มีจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ที่ทำให้จิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย สงบ เบา เป็นต้น จึงมีคำว่า กาย กับ จิตไว้ข้างหน้า ไม่มีเจตสิกข้างหลัง แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่า เป็นเจตสิกแต่ละประเภท แม้ไม่ใส่คำว่าเจตสิกต่อท้าย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย nong  วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณ อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม มากครับ

ขออนุญาต สอบถามเพิ่มเติมครับ

เจตสิกในธรรมะ ๖ คู่นี้ เจตสิกประเภทหนึ่งทำหน้าที่ ทำให้เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยสงบ เบา อ่อน ควรแก่การงาน ตรง คล่องแคล่ว ส่วนเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่ทำให้ จิต ที่เกิดร่วมด้วย สงบ เบา อ่อน ควรแก่การงาน ตรง คล่องแคล่ว กล่าวโดยลักษณะ หรือ อาการ ในแต่ละคู่แล้วเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยประเภทหนึ่งทำหน้าที่ต่อเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ส่วนอีกประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่ต่อจิตที่เกิดร่วมด้วย ข้อสังเกตและความเข้าใจเช่นนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 4 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

ถูกต้อง ครับ เจตสิก ทั้ง ๖ คู่ ต่างก็ทำหน้าที่ กับ จิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพียงแต่ทำหน้าที่ในลักษณะต่างๆ กัน คือ ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย สงบ เบา เป็นต้น ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Boonyavee  วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านด้วยครับ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ก.ไก่  วันที่ 1 ก.ย. 2564

อนุโมทามิ