กิเลสกับตัณหา
โดย medihealing  28 ม.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 29446

รบกวนเรียนถามความแตกต่างระหว่าง กิเลส กับ ตัณหา เพราะบางครั้งก็เข้าใจ บางครั้งก็สับสนว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือตัณหา

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 28 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวันเรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรงกล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน โลภะเป็นอกุศลธรรม ต่างกันกับอโลภะ ซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้เพราะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้ ครับ

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้น ความเป็นจริง ตัณหา ก็คือโลภะนั่นเอง ดังนั้น ตัณหา จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิเลส ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 28 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมจะมีกิเลสอกุศลเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ ในชาตินี้เท่านั้น แต่ว่าได้เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน จึงเป็นผู้ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น (ไม่ได้มีเฉพาะตัณหา หรือ โลภะ เท่านั้น มีมากกว่านี้) เป็นศัตรูภายในเป็นข้าศึกภายใน เป็นมลทินของใจ ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมอย่างละเอียด ซึ่งถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ก็จะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่ายังเป็นผู้เต็มไปด้วยกิเลส ยังมีส่วนที่ไม่ดีอยู่มาก คนส่วนใหญ่โดยมาก ย่อมจะไม่ชอบถ้าหากมีใครมาบอกตนว่าเป็นคนไม่ดี แต่ตามความเป็นจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวเองบ้างว่าไม่ดี และไม่ดีอย่างมากมายทีเดียว ตัวเราเท่านั้นสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าสะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นจะเห็น และบุคคลใดที่ยอมรับความจริงที่รู้ว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็เริ่มที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสทั้งหลายให้เบาบาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ถ้าตราบใดยังคิดว่าดีแล้ว นั่นย่อมจะเป็นโอกาสที่จะทำให้กิเลสเกิดเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุว่าไม่คิดที่จะละกิเลส เพราะเข้าใจว่าดีแล้ว กล่าวได้เลยว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาท ซึ่งจะเป็นผู้ห่างไกลจากความเจริญในกุศลธรรมออกไปทุกที เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นความไม่ดี (กิเลส) ของตนเอง และเมื่อเห็นความไม่ดีของตนเองแล้ว ก็จะต้องมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะมีความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ที่ไม่พอ สำหรับเก็บ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 29 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 1 ก.พ. 2561

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย จรรยง  วันที่ 1 ก.พ. 2561

กิเลส ก็คือกิเลสมารใช่หรือเปล่า ตัณหา ก็คืออารมณ์อยากและไม่อยาก ใช่หรือเปล่า กิเลสเป็นหัวหน้า ตัณหาเป็นลูกน้องใช่หรือเปล่า ที่เขากล่าวว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด จริงหรือเปล่า


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 2 ก.พ. 2561

อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 5 โดย จรรยง

กิเลส กว้างกว่าตัณหา เพราะตัณหา เป็นโลภะ เป็นหนึ่งในกิเลส ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ติดข้อง ต้องการ อยากได้ ตัณหา เป็นตัณหา จะไม่เปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่นเลย เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการ ไม่สละ ไม่ปล่อย ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม ความเป็นจริงของตัณหาไม่เปลี่ยน ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ประโยชน์ของการศึกษากิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย thongkhun1937  วันที่ 14 ส.ค. 2561

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 8    โดย thongkhun1937  วันที่ 14 ส.ค. 2561

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 9    โดย วิริยะ  วันที่ 15 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ