กรรมให้ผลเกินตัว
โดย พิมพิชญา  3 พ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21063

ขอกราบเรียนถามนะคะ พอดีเคยได้อ่านผ่านๆ ในกระทู้เก่า

มีคำกล่าวว่า "กรรมให้ผลเกินตัว" (อย่างเช่น การพูดคำหยาบ คำส่อเสียด ก็ไปนรกได้)

เลยอยากทราบว่า พอจะมีพระไตรปิฎกหมวดไหนที่จะอธิบายคำพูดนี้ได้อย่างละเอียดมั้ยคะ พอดีมีน้องต้องการคำอธิบายอย่างละเอียดค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 3 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องกรรม เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมากครับ คำว่า กรรมให้ผลเกินตัว หมายถึง การกระทำกรรมเพียงครั้งเดียว ให้ผลมากมายมหาศาล ครับ ก็คือ การกระทำกรรมครั้งหนึ่งไม่ใช่ให้ผลเพียงชาติเดียว อาจจะให้ผลนับชาติไม่ถ้วน ครับ เช่น การฆ่าสัตว์เพียงตัวเดียว ผลของกรรมทำให้เกิดในนรก นับร้อย นับพันชาติ

ซึ่งการจะไปอบายภูมิ หรือ เกิดผลของกรรม ต้องเป็นการทำกุศลกรรม อกุศลกรรมครบองค์กรรมบถ ยกตัวอย่างเช่น ในฝ่ายอกุศลกรรม ก็คือ การทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น เมื่อทำกรรมครบองค์ เช่น ตั้งใจพูดว่าเขาด้วยคำหยาบ และก็ด่าว่าสำเร็จ ก็เป็นการทำกรรมครบกรรมบถ ไปนรก ไปอบายภูมิได้ ซึ่ง ก็โยงมาที่ กรรมให้ผลเกินตัว ตามที่อธิบายไป ในการกระทำกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น กรรมให้ผลเกินตัว คือ ฆ่าสัตว์ครั้งเดียว แต่ตกนรก นับชาติไม่ถ้วน และเมื่อเกิดเป้นมนุษย์ก็ถูกเขาฆ่า ๕๐๐ ชาติ เป็นต้น นี่แสดงให้เห็นถึงกรรมให้ผลเกินตัว ซึ่งจะขออธิบายความละเอียดลึกซึ้งในเรื่องกรรม ที่ทำให้เกิด กรรมให้ผลเกินตัวดังนี้ครับ

การกระทำกรรม ที่เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้นขณะที่ทำอกุศลกรรม ก็ต้องเป็นอกุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ต้องเกิดที่ ชวนวิถีจิต ซึ่ง ชวนจิต มี ๗ ขณะ เท่ากับว่า ขณะที่ทำกรรม มีอกุศลกรรม เป็นต้น อกุศลจิตเกิด ๗ ขณะ ติอต่อกันไป ในขณะที่ทำกรรม ซึ่งโดยความละเอียดแล้ว การให้ผลของกรรม ก็ขึ้นอยู่กับ ชวนจิต ๗ ขณะด้วย ชวนจิต ขณะที่ ๑ ให้ผลกรรมในชาตินี้ ชวนจิตที่ ๒-๖ ให้ผลของกรรมในชาติถัดๆ ไป จนกว่าจะไม่เกิด ถ้ายังเกิดก็ยังให้ผลได้อยู่ และชวนจิต ขณะที่ ๗ ให้ผลในชาติหน้า จะเห็นนะครับว่า กรรมที่ทำแล้ว ที่เป็นชวนจิต ๗ ขณะที่แล่นไป ในขณะที่ทำอกุศลกรรม เป็นต้น กรรมยังสามารถให้ผลในชาติถัดๆ ไปได้อีก ในชวนะที่ ๒-๖ ที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้กรรมที่ทำให้ผลของกรรมเกินตัว เพราะว่า ขณะที่ทำกรรม มีการฆ่าสัตว์ พูดคำหยาบ เป็นต้นชวนจิตเกิดดับ นับไม่ถ้วน คือ ขณะที่ทำกรรม มีชวนจิตที่เป็นอกุศลจิตเกิดดับนับไม่ถ้วนเลย ดังนั้น ผลของกรรมจะมีมากแค่ไหน เพราะ มีอกุศลจิต ที่เป็นชวนจิต เกิดดับนับไม่ถ้วน ที่เป็น ชวนจิต ๗ ขณะเกิดดับนับไม่ถ้วน ผลของกรรมจึงมีมากมาย มหาศาลนับไม่ได้ ตามการเกิดดับของชวนจิตในขณะที่ทำกรรม นับไม่ถ้วน เช่นกัน


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 3 พ.ค. 2555

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดลึกซึ้ง ในเรื่องกรรม และผลของกรรม ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ครับว่า เป็นอจินไตย ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่ปุถุชนจะเข้าใจ ครับ

ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นถึง กรรมให้ผลเกิน ตัวอย่าง เรื่องคำพูดพระโพธิสัตว์ เคยไปกล่าวตู่ ด้วยคำไม่จริง และว่าร้าย พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อตายไปก็ไปเกิดในนรก เป็นแสนชาติ นับชาติไม่ถ้วน ครับ และ ผลของกรรมนั้นยังไม่หมด ครับ ยังตามาให้ (ชวนจิตที่ ๒-๖ ให้ผลในชาติถัดไป) เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ยังถูกนางจิณจมาณวิกา กล่าวตู่ ว่าร้ายพระองค์

อีกตัวอย่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์ เกิดเป็นพี่ชาย โกรธน้องชาย เรื่องแย่งสมบัติ เอาหินทับน้องชายสิ้นชีวิต ผลของกรรมนั้น ทำให้พระโพธิสัตว์ ตกนรกนับชาติไม่ถ้วน เศษของกรรม ยังไม่หมด ยังตามมาให้ แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถูกพระเทวทัตเอาหินกลิ้งลงมาจากเขาคิชฌกูฏ กระทบพระบาท ได้รับทุกขเวทนากล้ามาก ครับ

สำหรับ ผลของกรรมของการพูดส่อเสียด ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า มีภิกษุสองรูปอยู่ในวิหาร สามัคคีกัน ภิกษุรูปอื่นที่มาจากที่อื่น อยากได้อยู่วิหารนี้ จึงทำกาพูดส่อเสียดให้ภิกษุสองรูปแตกกัน ผลของกรรมนั้น ทำให้ตกนรกนับชาติไม่ถ้วน เศษของกรรม ยังมาเกิดเป็นเปรตอีกได้รับความทรมานมากครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 3 พ.ค. 2555

อีกตัวอย่างหนึ่ง พราหมณ์ผู้หนึ่ง บูชายัญโดยการเอาแพะมาบูชา ฆ่าแพะโดยตัดหัวเพราะผลของกรรมนั้น ทำให้ตกนรกนับชาติไม่ถ้วนเมื่อเกิดเป็นสัตว์ ก็ถูกตัดหัว อีก ๕๐๐ ชาติ เพียงเพราะทำกรรม คือฆ่าแพะตัวเดีวเท่านั้น จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กรรมให้ผลเกินตัว คือ ทำกรรมเพียงครั้งเดียว แต่ให้ผลนับชาติไม่ถ้วน เพราะเหตุว่า ขณะที่ทำกรรม มีชวนจิตที่เป็นอกุศลจิต นับไม่ถ้วนในขณะนั้น จึงทำให้กรรมให้ผลเกินตัว และ ชวนจิต ขณะที่ ๒-๖ ก็ยังตามให้ผลต่อไป ในชาติต่อไปได้ ไม่สิ้นสุด ครับ

แต่ที่สำคัญ การกระทำกุศลกรรม ก็ให้ผลเกินตัวเช่นกัน โดยนัยเดียวกัน คือ ชวนจิตที่เป็นกุศลจิตเกิดนับไม่ถ้วนขณะที่ทำกุศลกรรม เช่น การบูชาพระพุทธเจ้า เป็นต้น ก็ให้ผลนับชาติไม่ถ้วน มีการเกิดในสวรรค์ เป็นต้น ครับ

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องเตือนให้เห็นโทษของกุศลกรรม และเห็นคุณของกุศลกรรมว่า อกุศลให้ผลเป็นทุกข์และมากมาย ไม่ควรเลยที่จะทำกรรมชั่ว อันจะให้อำนวยผลไม่ดี กับตนเอง แต่ควรประกอบกุศลกรรมที่จะเป็นเสบียงในการเดินทางในสังสารวัฎฎ์อันยาวนาน จนกว่าจะดับกิเลส ครับ ซึ่งการเห็นโทษของกุศลเห็นคุณของกุศลจะมีได้ก็ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น ซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 3 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริงเป็นสัจจธรรม ที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง, ธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร สำหรับเรื่องกรรม และผลของกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละบุคคลย่อมมีกุศลกรรม อกุศลกรรมตามการสะสม และมีการได้รับผลของกรรมด้วย เมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับก็จะมีความเข้าใจว่า เจตนา เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อได้โอกาสที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้น ตามสมควรแก่เหตุ เริ่มตั้งแต่จิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ (ปฏิสนธิจิต) ก็เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดในนรก อย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่มีใครทำ ให้เลย แต่ต้องเป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นอกจากนั้นแล้ว ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งนั้น

สำหรับการให้ผลมากกว่าตนของกรรม นั้น เช่น ฆ่าโคตัวหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดในนรกสิ้นกาลนาน เป็นต้น เหมือนกับเวลาเราปลูกมะม่วงด้วยเม็ดเพียงเม็ดเดียว เมื่อต้นมะม่วงโตขึ้น ผลมะม่วงที่เกิดจากต้นดังกล่าวย่อมมีมากมายหลายเท่า ฉันใด กรรมทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ คือ ย่อมมีผลมากกว่าตนจริงๆ

ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญาท่านจึงเห็นโทษของกุศล พร้อมทั้งเห็นโทษของวัฏฏะอันน่ากลัวนี้ ว่า เป็นทุกข์ ไม่น่ายินดี ควรอย่างยิ่งที่จะออกไปจากวัฏฏะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมเพื่อช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากกองทุกข์นี้ ดังนั้น ผู้ศึกษาพระธรรมและและน้อมปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ย่อมพ้นจากจทุกข์ คือ พ้นจากกรรมและวิบากทั้งปวงได้ ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 3 พ.ค. 2555

ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ว่า พระโกกาลิกะ ด่าว่าพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าเตือนก็ไม่เชื่อฟัง ก็ยังด่าว่าอีก คล้อยหลังพระพุทธเจ้า พระโกกาลิกะก็มีตุ่มขึ้นตามตัวเท่าเม็ดถั่วเขียวและค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ พระโกกาลิกะก็ตายไปเกิดในนรกนับชาติไม่ถ้วน ค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย peeraphon  วันที่ 3 พ.ค. 2555

เรียนท่านอาจารย์ ผเดิม และ อ.คำปั่น ครับ

เข้าใจว่าการทำบุญที่ให้ผลมาก มีการให้ทานเป็นต้น ก็อยู่ที่เนื้อนาบุญด้วย แต่แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยที่จะได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญที่ดีหรือไม่. และเรื่องของการทำอกุศลกรรม ตรงนี้ หากเปรียบเทียบกับ เนื้อนาบุญ และตัวอย่างพระสูตรที่แสดงมา ผมสังเกตเห็นว่า พระโพธิสัตว์ ทำอกุศลกรรม กับ สัตว์ที่มีคุณ ทั้งนั้น (ยกเว้นเรื่องแพะ กับ พราหมณ์) . ดังนั้น กรรมที่ให้ผลเกินตัว เข้าข่ายเรื่อง อนันตริยกรรม หรือไม่ จึงจะให้ผลรุนแรงขนาดนั้นครับ?

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 3 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

จาก กระทู้ที่ถาม ที่ว่า กรรมให้ผลเกินตัวนั้น ความหมาย คือ แม้ทำเพียงครั้งเดียว ก็ให้ผลมากกว่า คือไม่ใช่ให้ผลเพียงชาติเดียว แต่ให้ผลมากมายหลายชาติ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นแสนชาติ ครับ นี่แสดงให้เห็นว่า กรรมที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือ กุศล ย่อมให้ผลเกินตัว ครับ ซึ่งจากที่คุณ peeraphon กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ เนื้อนาบุญ หรือ ผู้รับ หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ผู้ถูกกระทำด้วย อันนี้ถูกต้องครับ เช่น ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ถ้าทำบุญกับ พระอรหันต์ อันนี้ให้ผลนับชาติไม่ถ้วน ก็ชื่อว่า กรรมให้ผลเกินตัว แต่แม้ทำกับสัตว์ที่มีคุณน้อยที่สุด เช่น ทำกับสัตว์เดรัจฉาน ใน ทักขิณาวิภังคสูตร ก็แสดงไว้ชัดเจน ครับว่า กรรมที่ทำที่เป็นกุศล ที่ให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน กรรมที่ทำก็ให้ผลเกินตัวเช่นกัน แม้จะไม่มากเท่ากับพระอรหันต์ พระองค์แสดงว่า ให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน มีอานิสงส์ ๑๐๐ เท่า ความหมาย คือ ย่อมได้ อายุ วรรณะ สุข เป็นต้น ที่ดี ๑๐๐ ชาติ นี่แสดงให้เห็นนะครับว่า เพียงทำบุญกับสัตว์เดรัจฉาน ที่มีคุณน้อย เพียงครั้งเดียว อานิสงส์ผลบุญยังมากเกินตัว เพราะไม่ใช่ทำเพียงครั้งเดียว จะได้อานิสงส์ผลบุญเพียงชาติเดียว แต่ได้ถึงร้อยชาติ แสดงให้เห็นครับว่า กรรมที่ทำที่เป็นกุศลกรรม ให้ผลเกินตัว แม้จะทำกับสัตว์เดรัจฉาน พระพุทธเจ้าแสดงต่อไปครับว่า ทำกับมนุษย์ทุศีล ไม่มีศีล อานิสงส์ ๑๐๐๐ เท่า คือ ได้ผลบุญ พันชาติ ทำกับบุคคลที่มีศีล ได้อานิสงส์ผลบุญ แสนชาติ เป็นต้น ยิ่งให้กับคนที่มีคุณธรรมมาก ผลบุญอานิสงส์ก็มากด้วย ครับ ดังนั้น แม้ทำกับสัตว์เดรัจฉาน อานิสงส์กรรมก็ให้ผลเกินตัว และโดยนัยเดียวกัน ในฝ่ายอกุศลกรรม การฆ่าสัตว์เดรัจฉาน ก็ให้ผลเกินตัว คือ ไม่ใช่ได้รับทุกข์เพียงชาติเดียว แต่อาจต้องตกนรกหลายพันชาติ และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็อาจ ถูกฆ่า เพราะเศษของกรรมนั้นหลายๆ ชาติ ครับ แต่ถ้าทำบาปกับผู้ที่มีคุณธรรมมาก มี พระอรหันต์ เป็นต้น ก็ บาปมาก ตกนรก นับชาติไม่ถ้วน เป็นอนันตริยกรรม

สรุปที่กล่าวมาครับว่า ไม่จำเป็นจะต้องถึงอนันตริยกรรม หรือ ต้องทำบุญกับพระอรหันต์ ผลของบุญและผลของบาป ก็ให้ผลเกินตัว ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 8    โดย เซจาน้อย  วันที่ 3 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย wanipa  วันที่ 4 พ.ค. 2555
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 10    โดย พิมพิชญา  วันที่ 5 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ ขออนุโมทนา