ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป คุณพรทิพย์ ถูกจิตร ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙
โดย วันชัย๒๕๐๔  26 พ.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 27827

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้รับเชิญจากคุณหมอทวีป และ คุณพรทิพย์ ถูกจิตร เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.

อย่าตกใจนะครับ ที่จู่ๆ ก็เริ่มกระทู้ด้วยภาพของพี่หมอทวีป ในมาดเท่ห์ที่ทุกคนคุ้นเคย เพราะเหตุว่า เมื่อแรกที่ไปถึง ก็ได้พบกับภาพนี้แล้ว พี่หมอติดเตาอุ่นกระทะเหล็กคู่ชีพไว้แต่เช้า เมื่อเดินทางไปถึง พี่หมอก็ทอดหอยทอดให้หนูๆ ทดลองชิมก่อนที่จะทอดให้ทุกคนได้รับประทานอย่างเป็นทางการในมื้อกลางวัน (หนูทดลอง ตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น) วันนี้ อร่อยเป็นพิเศษครับ พี่หมอบอกว่า แสดงว่ากระทะร้อนสม่ำเสมอได้ที่ นอกจากนั้น กลิ่นของหอยแมลงภู่ก็หอมละมุนเคล้าอยู่กับแป้งและไข่ กลมกล่อมมากครับ เคล็ดลับในการรับประทานหอยทอดพันล้านของพี่หมอ คือ ไม่ราดน้ำจิ้มซอสพริกครับ เพราะจะทำให้รสชาติของหอยทอด กลายเป็นรสชาติของซอสพริกไป (แต่ถ้าใครจะชอบราดซอสพริกก็ไม่ว่ากันครับ อร่อยตามความชอบ) ไม่ต้องกลัวไม่ได้รสแซ่บนะครับ เพราะก่อนขึ้นจากกระทะ พี่หมอปรุงให้แล้ว ด้วยน้ำปลาอย่างดีและพริกน้ำส้ม อร่อยหรูแบบพันล้านอยู่แล้วครับ อนึ่ง บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมให้สมญาว่าหอยทอดพี่หมอเป็นหอยทอดพันล้าน ก็เฉลยว่า ถึงมีเงินพันล้าน ถ้าพี่หมอไม่เชิญมารับประทาน แม้มีเงินพันล้าน หมื่นล้าน ก็ไม่มีทางที่จะได้รับประทานหอยทอดฝีมือพี่หมอแน่นอน ครับ

อีกประการหนึ่ง วันนี้โดยปรกติแล้วจะเป็นวันที่กลุ่มสนทนาธรรมของคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ จะสนทนาธรรมและรับประทานอาหารกลางวันกับท่านอาจารย์ แต่พี่หมอของผมอยากจะทำหอยทอดให้ท่านอาจารย์และทุกๆ ท่านในกลุ่มได้รับประทาน จึงกราบเรียนท่านอาจารย์มาสนทนาธรรมที่บ้านเป็นพิเศษในวันนี้

ต้องกราบอนุโมทนาพี่หมอและคุณทิพย์อย่างยิ่งครับ การสนทนาในวันนี้ ทำให้มั่นคงขึ้นในความเข้าใจ ในคำว่า "เป็นปกติ" มากขึ้น ซึ่งท่านอาจารย์ได้เน้นให้เห็นถึงความเป็นปกติ โดยยกตัวอย่างจากเรื่องราวการรับประทานหอยทอดก่อนสนทนาธรรม ซึ่งก็รับประทานกันเป็นปกติ เมื่อเข้ามานั่งในห้อง ก็สนทนากันเป็นปกติ เพียงแต่เรื่องราวที่สนทนา เป็นเรื่องของธรรมะ ก็สนทนาเพื่อเข้าใจธรรมะ เป็นปกติ ธรรมดา ไม่มีอะไรที่ต้องไปทำอะไร คิดอะไร ให้ผิดปกติ ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ปกติ ธรรมดา แต่ไม่รู้ กับ ธรรมดาทุกอย่าง แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น" นี่คือความแตกต่างของผู้ไม่ศึกษาธรรมกับผู้ศึกษาธรรม

อันดับต่อไป จึงจะขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมในวันนั้น ซึ่งต้องขอบอกว่าดีมากๆ ครับ อย่างที่เคยเรียนทุกท่านว่า การสนทนาโดยใกล้ชิดเช่นนี้ คำและความการสนทนา จะชัดเจนมาก เนื่องจากเป็นการโต้ตอบ โดยท่านผู้ร่วมสนทนากล้าที่จะถามโดยใกล้ชิด อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ลืมที่จะบันทึกคลิปวีดีโอสั้นๆ มาฝากทุกท่านเช่นเคยนะครับ ขอบอกว่า เป็นช่วงที่น่าสนในมากๆ อีกด้วย ทั้งหมด ๕ คลิป ต่อเนื่องนะครับ ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ

คุณหมอธงชัย คือตอนนี้ ธรรมะที่ผมฟังมา มีความรู้สึกว่า ธรรมะนี้ ฟังเผินๆ ไม่ได้ เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ จนกลัวว่า ที่เราเข้าใจ ถูกหรือเปล่า? เพราะเข้าใจว่าความลึกซึ้งเขามากจริงๆ คำถามที่ผมจะถามอาจารย์ เรื่องของขั้นฟัง ซึ่งขั้นฟังก็ยังไม่ใช่มีตัวเราด้วย แม้แต่ธรรมะที่ให้เราเข้าใจตอนนั้น ในขั้นฟังก็ยังลึกซึ้งถึงความไม่มีตัวเรา ทีนี้ ขณะนั้น ผมอยากให้อาจารย์อธิบายถึง ขั้นฟังที่ไม่มีเรา มันมีลักษณะให้เข้าใจในขั้นฟัง โดยที่ไม่มีเราครับ อาจารย์

ท่านอาจารย์ ดิฉันรู้สึกว่า การฟังธรรมะกลายเป็นระเบียบ หาระเบียบแล้ว ใช่ไหม? จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ แต่ความจริง "เราฟังเพื่อเข้าใจ" ที่ไหน อย่างไร ก็ได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า "เป็นปกติ"

คุณหมอธงชัย ตอนที่อาจารย์พูดตรงนี้ ผมเข้าใจได้ครับ เพราะจริงๆ แล้ว ธรรมะเขาทำหน้าที่ของธรรมะ ไม่ใช่เรา แต่ว่า ความมีเรา มัน...

ท่านอาจารย์ ความเป็นตัวตน ทำให้เรามีระเบียบ พอจะเริ่มทำอะไร ก็คิดระเบียบเลย ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ขอโทษนะคะ อย่างเมื่อกี้นี้ ที่เราสนทนากันที่บ้านนี่ เราก็ไม่เคย นะโม ตัสสะ ฯลฯ แต่พอเรามี นะโม ตัสสะ นี่ เราเหมือนจะเข้าห้องพิธีกรรมอะไรสักอย่าง ในความรู้สึกของดิฉัน อาจจะเป็นเพราะ ดิฉันเป็นคนที่อิสระมากเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำอะไรก็ทำ ทำอะไรก็ทำ

ทีนี้ พอเห็นระเบียบต่างๆ อย่างตามโรงเรียนอย่างนี้ เวลาจะเข้าห้องก็สวดมนต์ เคารพธงชาติ อะไรอย่างนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องของระเบียบ เพราะฉะนั้น คนที่ติดระเบียบ ลองคิดดู อะไรๆ ก็หาระเบียบ ว่าเราจะเรียนอย่างไร? จะแบบไหน? อย่างไร?

แต่ความจริง เพราะเราไม่รู้ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น การสนทนาของเรา ก็คือว่า "ฟังเพื่อเข้าใจ" เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว ที่จะต้อง...ต้องตั้งต้นอย่างไร? แล้วจะเรียนไปนานเท่าไหร่? ขั้นนี้เป็นขั้นฟัง แล้วขั้นต่อไปจะเป็นขั้นไหน? ไม่ใช่อย่างนั้น!!!

คุณหมอธงชัย ที่ฟังอาจารย์ ก็เข้าใจ แต่จริงๆ แล้ว ตัวเรามันแทรก โดยที่เราไม่รู้ตัว

ท่านอาจารย์ เป็นอยู่ตลอดค่ะ ไม่ใช่แทรก เป็นอยู่แล้ว แล้วก็หาระเบียบอยู่แล้ว หาอะไรๆ ทุกอย่าง ตลอด
คุณหมอธงชัย อย่างที่อาจารย์ก็พูดบ่อยมาก ผมก็ฟัง ว่าขณะที่ฟัง ก็ทำใจสบายๆ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจ

ท่านอาจารย์ หมอไม่ต้องทำใจอีกแล้ว ทำทั้งนั้นเลย ปกติ ได้ไหม? เหมือนกับเรากำลังรับประทานหอยทอด แล้วก็เดินเข้ามา แล้วก็คุยกัน แต่ไม่ใช่เรื่องอื่น คือเรื่องธรรมะ เท่านั้นเอง!!! คือ แทนที่เราจะคิดถึงว่า เราจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ใช่ไหม? ก็คือ เป็นปกติธรรมดาของเรา เราเหมือนเราอยู่บ้านอย่างนี้ค่ะ เราก็เจอกัน มีคนมา พูดกัน คุยกัน แต่ว่า เรื่องที่พูดที่คุย ไม่ใช่เรื่องอื่น เท่านั้นเอง

คุณหมอธงชัย มีอยู่อันหนึ่ง "ไม่มีชื่อ" ไม่มีชื่อนี่..
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ไม่มีชื่อตอนไหน?
คุณหมอธงชัย คือ เวลามีสภาพธรรมจริงๆ มันไม่มีชื่ออยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ ตอนไหน?
คุณหมอธงชัย ตอนที่เขากำลังปรากฏ มันไม่มีชื่อ
ท่านอาจารย์ เรียกว่า ตอนไม่เรียกชื่อ ก็ได้
คุณหมอธงชัย แต่ทีนี้ จิตคิด มันคิดอย่างไร มันก็คิดอยู่นี่ มันก็มีชื่อคิดครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ คุณหมอจะไปทำอะไรกับ "คิด" ล่ะคะ? คิดก็คิด แล้วเราก็เรียกว่าคิด ก็เป็นธรรมดา คือ คุณหมอจะไปกลับธรรมะ ที่มีปกติ ให้เป็นอย่างอื่น เพื่อที่จะศึกษา แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เหมือนเดิม คำว่า "ปกติ" สำคัญที่สุดเลยค่ะ เหมือนเดิมทุกอย่าง!!!

เพียงแต่ว่า เราได้ยินคำ เหมือนเราได้ยินคำอื่น อย่างเวลาที่เราคุยกันเรื่องอื่น เราใช้คำอื่น เวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ มันก็เป็นเรื่องอื่น วันนี้ก็เป็นปกติธรรมดา แทนที่เราจะใช้คำอื่น เราก็ใช้คำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แล้วเราก็จะรู้ว่า คำนั้นคืออะไร? เท่านั้นเอง!!!

คุณหมอธงชัย ท่านอาจารย์ครับ ทีนี้ ผมจะเล่าจากประสบการณ์ ผมเคยไปทานอาหารกับอาจารย์นี่แหละ แล้วอาจารย์ชี้ให้ผมว่า ในขั้นพิจารณาหรือที่ผมเข้าใจว่าเป็นสังเกตุ แต่จริงๆ มันต้องไกลกว่านั้น แต่ว่า พูดตามที่ผมเข้าใจ พออาจารย์ชี้ปุ๊บว่าแข็งตรงไหน? แข็งที่นิ้ว ผมว่า อ๋อใช่แล้ว แล้วจริงๆ มันเป็นอนัตตาด้วย เข้าใจในลักษณะแข็ง ขั้นพิจารณา จะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ ถือว่าเป็นขั้นฟังก็แล้วกัน เพราะจริงๆ แล้ว มันเข้าใจว่า มันลึกซึ้งมาก จนผมไม่กล้าคิดเลยว่า เอ๊ะ..ถูกหรือเปล่า? อะไรอย่างนี้ แต่จากประสบการณ์เรื่อง "คิด" เมื่อกี้นี้ที่ผมพูด ถามอาจารย์ว่าคิด ผมก็คิด คิด คิด อยู่นั่นแหละ

แต่ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง มันมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ..มันคิดนะ ไม่ใช่เรา แต่มันก็เป็นไปได้ เพราะว่า ขณะที่ผมกำลังคิด คิดถึงเรื่องราวของธรรมะ เพราะว่า วันๆ ก็คิดแต่เรื่องของธรรมะ คิดถึงเรื่องราวของธรรมะ มันคิดจริงๆ ซึ่งตอนนั้น ผมก็รู้ว่า เอ๊ะ! มันคิดนี่ มันก็คิด มีแต่คิด มีชื่อใส่ อะไร แต่จริงๆ สักประเดี๋ยว มันก็ เอ๊ะ ไม่ต้องคิด มันเกิดคิด เข้าใจตอนนั้นเป๊ะเลย โดยที่ไม่มีเรา ซึ่งอันนี้ ผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันใช่หรือเปล่า? ไม่ใช่ที่ว่าสติปัฏฐานนะครับ เป็นขั้นที่พิจารณาดู สังเกตุดู เท่านั้นเอง ซึ่งผมเชื่อว่า เอ๊ะ! มันสังเกตุหรือเปล่า? หรือขั้นฟัง จนผมไม่มีความมั่นใจเลยว่า เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ลึกซึ้งเกิน มากจริงๆ จนผมไม่มั่นใจเลยครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ ผิดปกติหรือเปล่าคะนี่? เห็นไหม? ศึกษาธรรมะ ก็ไปคิดว่า เราจะต้องมานั่งคิดว่า เอ..ใช่ ไม่ใช่ ก็ธรรมดา เวลาที่จะพูด เปลี่ยนเรื่องที่จะพูด เป็นเรื่องธรรมะเท่านั้นเอง เป็นเรื่องคำ ที่เราจะค่อยๆ เข้าใจกัน เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่พิเศษเลย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมานั่งคิดว่า เอ๊ะ! วันนี้ เราทำอย่างไร เราควรจะทำอย่างไร? นั่นคือ คิดเรื่องตัวเอง เป็นปกติเลย

พี่อรวรรณ ท่านอาจารย์คะ อย่างที่พี่หมอสนทนา ถ้าไม่มาเล่าให้ท่านอาจารย์ฟังก็จะไม่รู้ว่าผิดปกติ ถ้าไม่รู้ตัวว่าผิดปกติ ก็เหมือนจะผิดไปเลย เพราะท่านอาจารย์ก็จะย้ำว่า ปกติอย่างนี้แหละ แต่ว่า ถ้าอบรมปัญญา ปัญญาเขาก็รู้ ที่ย้ำบ่อยว่า แทนที่จะรู้ว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาและยังไม่เป็นอะไร เป็นอย่างไร? ถ้าฟังว่า สัญญามั่นคงว่าเป็นธรรมะแต่ละลักษณะ ที่ย้ำกันอยู่ตลอด ความเข้าใจตรงนั้นเขาก็จะทำกิจ ซึ่งก็จะเป็นปกติและเป็นอนัตตา ถ้าเมื่อไหร่ผิดปกติ ก็ไม่ใช่แล้ว

ท่านอาจารย์ คือ พอได้ยินคำว่า ธรรมะลึกซึ้งอย่างยิ่ง เราก็เริ่มจะผิดปกติ ใช่ไหม? ก็ลึกซึ้ง ก็ลึกซึ้ง ลึกซึ้งอย่างไร? เดี๋ยวนี้เอง เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ได้พูดเรื่องอื่นเลย แต่ถึงอย่างนั้น สภาพธรรมะก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะความลึกซึ้งอย่างยิ่ง นี่คือ ธรรมดาอย่างนี้ คือ ให้รู้ว่า ธรรมดาอย่างนี้ บอกว่าลึกซึ้งก็คือว่า เหมือนอย่างนี้เลยที่ว่า กว่าปัญญาจะแทนความไม่รู้ อย่าง "เห็น" นี่เราไม่เคยรู้เลย และ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่เคยปรากฏให้รู้ว่า เป็นธรรมะอย่างไร? ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างไร? "กำลังได้ยิน" ปกติหมด "คิด" พวกนี้ เป็นธรรมะหมด

เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ว่า สิ่งที่มีนี่แหละ "ลักษณะ" ของเขา แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เราเรียนเยอะมาก จิตกี่ดวง เจตสิกเท่าไหร่? แล้วก็ อาศัยกันและกันเกิดขึ้นอย่างไร? เป็นปัจจัยโดยฐานะอะไร? ฟังมาหมดเลย แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ได้ปรากฏ!!

"คิด" เมื่อกี้นี้ตั้งเยอะ ไม่ได้ปรากฏเลย ว่าเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ใช่ไหม? แม้แต่ขณะนี้ ที่กำลังจำ ไม่ได้ปรากฏ!! สภาพ "จำ" ไม่ได้ปรากฏ นี่คือความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมะ ซึ่งมีเป็นปกติ และมันแน่นมาก "ด้วยความไม่รู้"

เพราะฉะนั้น เราฟังสิ่งซึ่งมี แล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยรู้เลยว่า เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดา เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะก็คือ เข้าใจสิ่งที่มี เป็นปกติ!!! ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นเราจะต้องไปทำอย่างนั้น หรือ มันลึกซึ้งอย่างนี้ ค่อยๆ ฟัง ก็จะเห็นความลึกซึ้งว่า ทุกอย่างขณะนี้ ถ้าไม่รู้ ก็ละความยึดถือไม่ได้!!! ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีก เหตุกับผล ก็ต้องตรงกัน ว่าเดี๋ยวนี้เห็น ก็ไม่รู้ว่าเห็นเกิดแล้วดับ เดี๋ยวนี้จำ ก็ไม่รู้ว่ากำลังจำว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง มีแล้วหมด แต่ไม่เคยรู้!!!

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเปิดเผย หรือ ทำให้สิ่งที่อยู่ในความมืด ค่อยๆ สว่าง ให้รู้ว่า มันมีอะไรบ้าง เดี๋ยวนี้!!! ใช่ไหม? เราก็ฟัง แล้วเราก็เข้าใจ จนกว่า ปัญญาเขาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ด้วยการละความต้องการ แต่เวลาฟังไป เราต้องการโดยเราไม่รู้ตัว เช่น เราจะจัดระเบียบ เรามีความต้องการอีกแบบหนึ่งแล้ว ก็คือว่า ไม่เป็นปกติ แต่ถ้าเป็นปกติ ก็คือว่า ธรรมดาอย่างนี้เลย แล้วก็ฟัง แล้วก็เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ

คุณหมอธงชัย จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของจิต เจตสิก เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา แต่ความเป็นเรามันแน่นเกินไปทำให้ผิดปกติครับ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของ จิต เจตสิก ซึ่งไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น "ฟัง" นี่นะคะ "รู้" คือ "ปัญญา" หมายความว่า ความเข้าใจในสิ่งซึ่ง มี ก็ไม่รู้ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ก็มีความเข้าใจ ซึ่งก็เป็นธรรมะ สิ่งที่มีจริง เป็นปัญญา ซึ่งเข้าใจสิ่งที่มี แต่ไม่เคยรู้ เท่านั้น ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ไม่ผิดปกติ!!!

คุณน้อย (พาณี) กราบท่านอาจารย์ค่ะ ที่บอกว่าเข้าใจไปเรื่อยๆ แต่จะมีเรามาแทรกตลอดเวลา....
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ "คิด" จะมีเรามาแทรกไหม? เราก็มีอยู่แล้ว "ความเข้าใจ" สิ มาแทรก!! ใช่ไหม?

คุณน้อย (พาณี) จริงๆ เข้าใจสะสมความเข้าใจ ตรงนี้ เริ่มเข้าใจที่ว่า ถ้าเมื่อไหร่ ความเข้าใจเขาทำหน้าที่ ก็คือ ไม่ใช่เรา แต่ว่า ความเข้าใจยังไม่มั่นคงพอ จึงมีเราเข้าไปแทรกตลอด

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โลภะ เป็นสิ่งที่เห็นยาก!! ยากมาก แม้ว่าเพียงฟังแล้ว ก็ยังอยากจะรู้ความลึกซึ้ง ตัวอยากนี่เขาไม่ได้บอกว่าฉันอยาก แต่เขาทำหมดเลย ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจ เข้าใจ เข้าใจ แล้วก็ "เป็นปกติ" เท่านั้นเอง!! ไม่เดือดร้อน!!! ไม่อย่างนั้น โลภะ จะพยายามส่งเสริม ให้ดิ้นรน ให้หาเรื่อง

คุณน้อย (พาณี) บางครั้ง ความเข้าใจ ไม่เกิด มันก็เข้าใจอย่างไร มีเราที่จะแทรกตลอด

ท่านอาจารย์ ก็นี่ไง ก็นี่ไง ก็นี่ไง!! ก็นี่ไงคะ ก็นี่แหละ ก็นี่แหละ ก็ไม่ได้ "ฟังไป เข้าใจไป" เฉยๆ บางครั้งอย่างนั้น บางครั้งอย่างนี้ จะเอาอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้น แล้วมันก็ไม่ใช่เป็นอย่างที่ต้องการ ก็เป็นเรื่องที่ว่า เห็นตัวตน ที่เขาโผล่ขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นตัวตน!!

คุณน้อย (พาณี) เพราะเวลาเข้าใจ ก็คือ เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ก็รู้ว่าไม่เข้าใจ

ท่านอาจารย์ ปกติ ธรรมดา เหมือนเดิมเลย เดี๋ยวเราก็ออกไปข้างนอก กินน้ำ กินข้าว ธรรมดา ธรรมดา แล้วเราก็มานั่งฟัง สนทนา ธรรมดา แต่ว่า เรื่องที่สนทนา ก็เป็นเรื่องที่พูดถึงสิ่งที่กำลังมี แต่คนอื่นก็รู้ไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ แล้วเราก็ "ค่อยๆ รู้ตาม" ชื่อจิต จิตก็กำลังมี จิตตั้งเท่าไหร่? ๘๙ เดี๋ยวนี้ก็มี โน่นนี่ นี่นั่น ประเภทนั้น ประเภทนี้ ก็ไม่รู้ คือ ทั้งหมดคือความไม่รู้ ก็อาศัยผู้ที่ตรัสรู้และทรงแสดงความจริงให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เราพยายามจะไปให้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ แล้วก็ต้องทำอย่างนั้น เดี๋ยวเราก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่!!

คุณน้อย (พาณี) อาจารย์ขา คำว่า "จิต" คำเดียว ก็ลึกซึ้ง เพราะว่า มีจิตอยู่ตลอด แต่เวลาพูดว่าจิต เราก็ไปคิดถึงคำว่าจิต ไม่ได้คิดถึงจิตขณะที่กำลังปรากฏ

ท่านอาจารย์ ก็ฟัง เข้าใจ ไปคิดอะไรมาก!!!

คุณน้อย (พาณี) โลภะให้คิดค่ะ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทางนี้ก็ต่อสู้กับโลภะไปจนกว่าจะหมดโลภะ!!!

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 384

โลภะ เป็นไฉน?

ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความใคร่ ความรักใคร่ ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติผู้คร่าไป ธรรมชาติผู้หลอกลวง ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติอันร้อยรัด ธรรมชาติอันมีข่าย ธรรมชาติอันกำซาบใจ ธรรมชาติอันซ่านไป ธรรมชาติเหมือนเส้นด้าย ธรรมชาติอันแผ่ไป ธรรมชาติผู้ประมวลมา ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง ปณิธาน ธรรมชาติผู้นำไปสู่ภพ ตัณหาเหมือนป่า ตัณหาเหมือนดง ความเกี่ยวข้อง ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน การหวัง กิริยาที่หวัง ความหวัง ความหวังรูป ความหวังเสียง ความหวังกลิ่น ความหวังรส ความหวังโผฏฐัพพะ ความหวังลาภ ความหวังทรัพย์ ความหวังบุตร ความหวังชีวิต

ธรรมชาติผู้กระซิบ ธรรมชาติผู้กระซิบทั่ว ธรรมชาติผู้กระซิบยิ่ง การกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ความกระซิบ การละโมบ กิริยาที่ละโมบ ความละโมบ ธรรมชาติเป็นเหตุซมซานไป ความใคร่ในอารมณ์ดีๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินขนาด ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา ความกระหยิ่มใจ ความปรารถนานัก

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ [คือราคะที่ สหรคต ด้วยอุจเฉททิฏฐิ]. รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน อาวรณ์ นิวรณ์ เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย ปริยุฏฐาน ตัณหาเหมือนเถาวัลย์ ความปรารถนา วัตถุมีอย่างต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิด แห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร แดนแห่งมาร ตัณหาเหมือนแม่น้ำ ตัณหาเหมือนข่าย ตัณหาเหมือนเชือกผูก ตัณหาเหมือนสมุทรอภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ อันใด นี้เรียกว่า โลภะ.

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอทวีป คุณพรทิพย์ ถูกจิตร และ กลุ่มสนทนาธรรมคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ ทุกท่าน
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

ขอเชิญชมภาพและความการสนทนาธรรมที่บ้านคุณหมอทวีป ตอนที่ผ่านๆ มาทั้งหมดได้ที่นี่ครับ.....

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ถูกจิตร ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ถูกจิตร ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ถูกจิตร ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ถูกจิตร ๑๓ เมษายน ๒๕๕๖
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ถูกจิตร ๑๓ เมษายน ๒๕๕๕
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ๑๐ ธ.ค. ๒๕๕๓
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ๒๙ ส.ค. ๒๕๕๓
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหมอทวีป ๑๖ พ.ค. ๒๕๕๓



ความคิดเห็น 1    โดย napachant  วันที่ 26 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 26 พ.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอทวีป คุณพรทิพย์ ถูกจิตร และ กลุ่มสนทนาธรรมคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ ทุกท่าน
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 26 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 27 พ.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย j.jim  วันที่ 27 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย rrebs10576  วันที่ 27 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย kiss_99  วันที่ 28 พ.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ