เหตุปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม
โดย พุทธรักษา  1 ต.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 13798

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมัยหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคฯ ประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหารพระกิมพิละเข้าไปกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ พระสัทธรรม ไม่ดำรงอยู่ได้นานหลังจากพระตถาคตปรินิพพานแล้ว"

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า "ดูก่อน กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วหากพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ที่ ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระศาสดา ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระธรรม ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขาบท ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงซึ่งกันและกัน

ดูก่อน กิมพิละ ปฏิปทา นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ พระสัทธรรม ไม่ดำรงอยู่นาน"

พระกิมพิละกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็อะไร เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นานหลังจากพระตถาคตปรินิพพานแล้ว"

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า "ดูก่อน กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วหากพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ที่ มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระธรรม มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระสงฆ์ มีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขาบท มีความเคารพ มีความยำเกรงซึ่งกันและกัน

ดูก่อน กิมพิละ ปฏิปทา นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ พระสัทธรรม ดำรงอยู่ได้นาน"

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "คุยกันวันพุธ" โดย คณะสหายธรรมเรื่อง "พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา"เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และ เรือโทวิเชียร มีผลกิจ

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย pornpaon  วันที่ 1 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย วิริยะ  วันที่ 1 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย ING  วันที่ 2 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนา และขอนำข้อความไปเผยแพร่ในblogเพื่อให้เพื่อนที่บริษัทได้

อนุโมทนาด้วยค่ะ

สาธุ......


ความคิดเห็น 4    โดย Sam  วันที่ 2 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยขยายความคำว่า ความเคารพ และความยำเกรง ที่ปรากฎในข้อความนี้ด้วยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย prachern.s  วันที่ 2 ต.ค. 2552

ความเคารพมีอรรถาธิบายตามนัยที่เคยสนทนาในกระทู้ ..

เคารพในธรรม


ความคิดเห็น 6    โดย พุทธรักษา  วันที่ 2 ต.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 446

ปัญจมปัณณาสก์

๑. กิมพิลสูตร ว่าด้วยเหตุปัจจัยทำให้ศาสนาเสื่อม

[๒๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองกิมิลา
ครั้งนั้น ท่านพระกิมพิละ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรมเป็นผู้ไม่มีความเคารพไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน
ดูก่อนกิมพิละนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

กิม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไร เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.
พ. ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรมเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงกันและกัน ดูก่อนกิมพิละนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.

จบกิมพิลสูตรที่ ๑ ปัญจมปัณณาสก์ กิมพิลวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถกถากิมพิลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกิมพิลสูตรที่ ๑ แห่งปัณณาสก์ที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กิมฺพิลายํ ได้แก่ ในเมืองที่มีชื่ออย่างนี้

บทว่า เวฬุวเน คือ ในป่ามุขจลินท์

บทว่า เอตทโวจ ได้ยินว่า พระเถระนี้ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองนั้นบวชในสำนักของพระศาสดา ได้บุพเพนิวาสญาณพระเถระนั้น เมื่อระลึกถึงขันธสันดาน สืบต่อขันธ์อันตนเคยอยู่แล้วบวชแล้ว ในเวลาที่ศาสนาของพระกัสสปทศพลเสื่อม เมื่อบริษัท ๔ ทำความไม่เคารพในศาสนาอยู่จึงพาดบันไดขึ้นภูเขา ทำสมณธรรมบนภูเขานั้นได้เห็นความที่ตนเคยอยู่แล้วท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วหมายจะทูลถามถึงเหตุนั้นดังนี้แล้วจึงได้กราบทูลคำ เป็นต้นว่า โก นุ โข ภนฺเต ดังนี้ กะพระศาสดานั้น อย่างนี้

บทว่า สตฺถริ อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา ความว่า ย่อมไม่ตั้งความเคารพและความเป็นใหญ่ไว้ในพระศาสดา แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.

ในบทเหล่านั้น ภิกษุเมื่อเดินกั้นร่ม สวมรองเท้าที่ลานพระเจดีย์ เป็นต้นก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่าไม่เคารพในพระศาสดา

อนึ่ง นั่งหลับในโรงฟังธรรมก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่า ไม่เคารพในพระธรรม

เมื่อพูดถึงเรื่องต่างๆ ยกแขนส่ายในท่ามกลางสงฆ์ไม่ทำการยำเกรงในภิกษุผู้เถระ ผู้นวกะ (ผู้ใหม่) และผู้มัชฌิมะ (ผู้ปานกลาง) ชื่อว่าไม่เคารพในสงฆ์อยู่
เมื่อไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ ชื่อว่า ไม่เคารพในสิกขา

เมื่อทำการทะเลาะบาดหมาง เป็นต้น กะกันและกัน ชื่อว่าไม่เคารพกันและกัน

จบอรรถกถากิมพิลสูตรที่ ๑


ความคิดเห็น 7    โดย พุทธรักษา  วันที่ 3 ต.ค. 2552

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "บทสนทนาธรรม" หน้า ๓๘๖-๓๘๙

ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้กรุณาอธิบายไว้ ดังนี้ คือในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เสขปริหานิยวรรคที่ ๔ กิมมิละสูตร ข้อ ๓๑๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่เคารพ ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถารเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่ได้นาน.
ความไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ได้แก่ การไม่ศึกษา ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ที่พระองค์ตรัสสอน เพราะว่า การบูชาพระผู้มีพระภาคฯ นั้น มี ๒ อย่าง คืออามิสบูชา ๑. และ ปฏิบัติบูชา ๑

ถ้าเพียงแต่บูชาพระองค์ด้วยอามิสบูชา คือ เครื่องสักการะแต่ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรม ที่พระองค์ตรัสสอนก็ไม่ชื่อว่าเป็นการบูชา หรือยำเกรงในพระองค์ อย่างแท้จริง การไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระธรรม ได้แก่ การศึกษาพระธรรมด้วยความประมาทเป็นการไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ว่าจะทำให้พระธรรมคลาดเคลื่อนซึ่งก็จะเป็นเหตุให้พระธรรมลบเลือน เสื่อมสูญ

การไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระสงฆ์ หมายถึง การไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระอริยสงฆ์ คือ ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลและการไม่เคารพยำเกรงในคณะ คือ หมู่พระภิกษุซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำกิจของสงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ การไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ใน สิกขา
(คำว่า "สิกขา" ไม่ได้หมายความเพียง "การศึกษา" เท่านั้น แต่หมายถึง การศึกษาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ทั้งขั้นศีล สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลส) เพราะฉะนั้น การไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในสิกขาจึงหมายถึงการไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา ให้ถูกต้อง เพื่อบรรลุผล ตรงตามคำสอนของพระองค์ นั่นเอง

การไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในความไม่ประมาท ก็ได้แก่ ความประมาท นั่นเอง เพราะว่าความประมาท ทำให้ผลัดวันเวลา ในความขวนขวายที่จะเจริญกุศลในการประพฤติปฏิบัติธรรม ของพุทธบริษัทเมื่อพุทธบริษัท มีความประมาท ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่ได้นาน

การไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในปฏิสันถาร หมายถึง การไม่ต้อนรับ ไม่เชื้อเชิญไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ระหว่างพุทธบริษัท
ทั้งในอามิสปฏิสันถาร คือ วัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ฯและ ใน ธรรมปฏิสันถาร คือ การต้อนรับเชื้อเชิญ และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในธรรม ธรรมปฏิสันถาร เป็นการเอื้อเฟื้อในพระธรรม ซึ่งทำให้คลายความสงสัย ความข้องใจในธรรมซึ่งเป็นการปลดเปลื้องความทุกข์ ที่มีมูลเหตุ มาจากความไม่เข้าใจในธรรม.


สำหรับเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่ได้นานในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัญณาสก์ กิมพิลวรรคที่ ๑ กิมพิลสูตร ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงแก่ท่านพระกิมพิละไว้ "อีกนัยหนึ่ง" ข้อความมีดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรมเป็นผู้ไม่มีความเคารพไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน
ดูก่อนกิมพิละ นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย pornpaon  วันที่ 3 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย petcharath  วันที่ 4 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย paderm  วันที่ 4 ต.ค. 2552

เชิญคลิกอ่านที่นี่..

ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน [พราหมณสูตร]


ความคิดเห็น 11    โดย Sam  วันที่ 5 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ