สงสัยเรื่องการเจริญสมถะและวิปัสสนา
โดย ponchario  8 ธ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25881

ขอเรียนถามข้อสงสัยกับอาจารย์ดังนี้ครับ ปกติการเจริญสมถะ เช่นอานาปานสติสมาธิ เป็นต้น ต่างกับการเจริญวิปัสสนา เพราะถ้าเจริญแบบสมถะ สติต้องระลึกอยู่แต่อารมณ์ๆ เดียว ให้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว แต่ถ้ามองนัยของวิปัสสนา การพยายามประคับประคองสติแบบนั้น ก็เป็นการกระทำด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งก็ไม่น่าจะนำไปสู่ผลอันเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เท่าที่ฟังการบรรยายของอ.สุจินต์ ท่านก็กล่าวว่า ฌาน เป็นกุศลจิตประเภทหนึ่งที่ประกอบด้วยปัญญา ทำไมการจงใจกระทำด้วยความเป็นตัวตน จึงนำไปสู่ผล คือ กุศลอันประกอบด้วยปัญญาได้



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอนาปานสติมีทั้งที่เป็นในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

อานาปานสติที่เป็นสมถภาวนามีลมหายใจที่เป็นบัญญติเป็นอารมณ์ ผู้ที่อบรมอานาปานสติสมาธิจะต้องมีปัญญามาก จะต้องรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ต้องรู้ว่าจะพิจารณาอย่างไร จิตจึงจะค่อยๆ สงบจากอกุศลยิ่งขึ้น จากขณิกสมาธิค่อยๆ สงบขึ้นจนเป็นอุปจารสมาธิ จะต้องรู้จักองค์ฌานคือรู้ลักษณะของวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา จึงสามารถประคองจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์จนเป็นอัปปนาสมาธิ และต้องมีปัญญาเห็นโทษขององค์ฌานต้นๆ และค่อยๆ ละองค์ฌานทีละองค์โดยการไม่ใสใจ จึงสามารถอบรมจิตให้สงบเป็นฌานจิตขั้นสูงยิ่งขึ้น อานาปานสตินี้เป็นอารมณ์ที่ละเอียดสุขุม จึงเป็นอารมณ์ของผู้ที่มีสติไม่หลงลืม เป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ อาจหรือสามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินั้น

สำหรับอานาปานสติที่เป็นวิปัสสนาภาวนา มีลมหายใจซึ่งเป็นปรมัตถเป็นอารมณ์ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงแสดงอานาปานบรรพในหมวดกายานุปัสสนา เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏคือธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม ซึ่งกระทบที่กาย อาจจะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่ม หรืออบอุ่น หรือเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏที่ช่องจมูกหรือริมฝีปาก เพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และเริ่มรู้คือค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง

คือเป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา และขณะที่สติเกิดนั้นไม่ได้สนใจว่าลมหายใจจะกระทบที่ใด เพียงรู้ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น สติที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยจากการฟังจนเข้าใจ ไม่มีการเตรียมตัวจดจ้องหรือต้องการให้มีสติมาก่อน จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ถ้ามีความเห็นถูกมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สติปัฏฐานก็จะโคจรไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนทั่ว ไม่ใช่จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจที่ปรากฏทางกายอย่างเดียว จึงจะค่อยๆ ซึมซาบความเป็นอนัตตา และเข้าใจเห็นชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้นจนบรรลุมรรคผลในที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่ใช่เพียงภพเดียวชาติเดียว จึงควรอบรมปัญญาจากการฟัง การพิจารณาไปโดยที่ไม่หวัง เพราะความหวังเป็นเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจธรรม คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ) เป็นเครื่องถ่วงความเจริญของปัญญา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ เรา หรือ ธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่าธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ปัญญานั้นมีหลายระดับ แม้การเจริญสมถภาวนาก็มีปัญญาด้วยครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ามีการกระทำด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการกระทำด้วยความไม่รู้ ดังนั้น จึงสำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก แล้วจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้อย่างไร ถ้าไม่ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ

การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับกิเลสได้ด้วยการข่มเท่านั้น ยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กิเลสยังมีโอกาสเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้อีก สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ได้ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมก่อนจุติก็เป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นพรหมบุคคล ในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌานที่ได้ ซึ่งยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เริ่มที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทำให้ผู้ที่อบรมเจริญสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ย่อมไม่ละเว้นโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นด้วยการฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นปฏิบัติ เพียงเห็นขณะนี้เป็นธรรมะ เกิดแล้วดับแล้ว ไม่เหลือเลยค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย peem  วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย tanrat  วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย faar01  วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย j.jim  วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ