การได้ฟังธรรม อินทรีย์เป็นสำคัญ - เรื่องพระพาหิยเถระ
โดย dets25226  28 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20250

เนื้อความตอนหนึ่ง เรื่องพระพาหิยเถระ ว่าลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสห้ามเขาไว้ด้วยเหตุว่ามิใช่เวลาเหมาะ เพราะเป็นเวลาที่พระพุทธองค์จะทรงบิณฑบาต พาหิยะ ก็ได้กราบทูลวิงวอนซ้ำอีก พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสห้ามอีกเป็นครั้งที่สอง ในครั้งที่สามเมื่อท่านพาหิยะทูลวิงวอนอีก พระศาสดาได้มีพระดำริว่า ที่ท่านห้ามท่านพาหิยะถึงสองครั้งก็ด้วยเหตุว่า นับตั้งแต่เวลาที่ท่านพาหิยะเห็นพระพุทธองค์แล้ว เขาก็มีปิติท่วมท้นไปทั้งร่างกาย ในช่วงเวลาที่ปิติมีกำลังมากนี้แม้จะได้ฟังธรรม ก็จักไม่ทำให้ท่านสามารถบรรลุธรรมได้เลย

อีกประการหนึ่ง เป็นเพราะทรงเห็นว่า พาหิยะมีความกระวนกระวายในการฟังธรรมมาก ซึ่งก็เป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน เพราะเหตุนั้นพระศาสดาจึงตรัสห้ามถึง ๒ ครั้ง ครั้นเมื่อเขาทูลขอ ในครั้งที่ ๓ ทรงพิจารณาเห็นความแกร่งกล้าในอินทรีย์ของท่านพาหิยะพร้อมแล้ว จึงทรงประทับยืนอยู่ในระหว่างทางและได้ทรงแสดงธรรมโดยย่อว่า

ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ฯ

ธรรมสากัจฉา ช่วงเช้าครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า อินทรีย์ ให้เข้าใจถูกต้องก่อนครับ ว่า คืออะไร อินทรีย์ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในกิจหน้าที่ของตนๆ และเป็นสภาพธรรมที่ครอบงำสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว มีทั้งหมด ๒๒ อินทรีย์ คือเป็นรูป ๗ รูป เป็นนาม ๑๔ (คือ สองเท่าของรูป) และอีก ๑ เป็นทั้งรูปทั้งนามคือชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยรูป, ชีวิตินทริยเจตสิก) รวมเป็น ๒๒

แต่เมื่อพูดถึง อินทรีย์ ที่เป็นไปในการบรรลุธรรม เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ต้องไม่ใช่รูปธรรมแน่นอนครับ แต่ต้องเป็นนามธรรมที่เป็นเจตสิก ๕ ประการ นั่นคืออินทรีย์ ๕ ประการ ในอินทรีย์ทั้งหมดที่มี ๒๒ อินทรีย์ ๕ ที่เป็นไปในการตรัสรู้ บรรลุธรรม เป็นดังนี้ครับ

๑. สัทธินทรีย์ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นใหญ่ในการมีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

๒. วิริยินทรีย์ ได้แก่ วิริยเจตสิก เป็นใหญ่ ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

๓. สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก เป็นใหญ่ในการไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

๔. สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ

๕. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เป็นใหญ่ในการไตร่ตรอง พิจารณา สังเกตศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะตรัสรู้ธรรมไม่ว่าบุคคลใด ต้องอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องแยกไปเจริญ แต่การเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็มีศรัทธา มีสติ วิริยะ สมาธิ และปัญญาเกิดร่วมด้วย และก็เป็นการค่อยๆ อบรมอินทรีย์ ๕ ประการอยู่จนมีกำลังและทำให้ถึงการบรรลุธรรม ถึงความเป็นโพชฌงค์ คือถึงการตรัสรู้ได้ในที่สุด ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ความหมายของอินทรีย์ [ปฐมวิภังคสูตร]

อินทรีย์ [ปฏิสัมภิทามรรค]

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ ...

ตอบคำถามเกี่ยวกับอินทรีย์ ๕

จะเป็นไปได้ไหมที่จะรู้อินทรีย์ โดยสติปัฏฐานไม่เกิด

การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ

ซึ่งผู้ที่เริ่มอบรมปัญญามาไม่มาก ก็เรียกว่าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็คือกุศลธรรมประการต่างๆ มีศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา ยังไม่เพียงพอที่จะตรัสรู้ จึงเรียกว่าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า คืออินทรีย์ ๕ ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุธรรม

ส่วนเมื่ออินทรีย์แก่กล้า ความหมายคืออินทรีย์ทั้ง ๕ ได้รับการสะสมอบรมจนควรแก่การตรัสรู้อริยสัจจธรรม ดังนั้น ผู้ที่เกิดมาชาติสุดท้ายพร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมเมื่อได้รับฟังพระธรรมของพระพุทธองค์ ชื่อว่าเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ดังนั้น ขณะใดที่พร้อมที่จะตรัสรู้แล้ว ขณะนั้นชื่อว่าอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ดังเช่นในเรื่องของท่านพระพาหิยะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในครั้งที่ ๓ ครั้งแรกและครั้งที่สองยังไม่แสดง เพราะพระองค์รู้ว่ายังเหนื่อยอยู่ เดินทางมาไกล และที่สำคัญที่สุด ขณะนั้นอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา ยังไม่แก่กล้าไม่เพียงพอที่จะตรัสรู้ในครั้งที่ ๑ และ ๒ พระองค์จึงรอให้อินทรีย์แก่กล้าจึงแสดงธรรม และท่านพระพาหิยะจึงได้บรรลุธรรมครับ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าคือกุศลธรรมและปัญญาถึงพร้อมแล้ว เมื่อได้รับฟังพระธรรมก็บรรลุธรรมได้ในขณะนั้น ครับ

เปรียบเหมือนการที่ปลูกต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ให้ผล มีต้นมะม่วงเป็นต้น ผลจะออกเมื่อ ๓ ปี แต่ผู้ที่อยากให้ผลออกเร็วๆ ก็เลยรดน้ำใส่ปุ๋ยตามจำนวนของขนาดที่จะต้องให้ ๓ ปี ภายใน ๑ เดือน คือเพียงอายุ ๑ เดือน แต่ก็รดน้ำใส่ปุ๋ยเท่าจำนวน ๓ ปี เพื่อให้ผลมะม่วงออกมา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นมะม่วงยังไม่ถึงเวลาที่จะออกผลตามระยะเวลาที่กำหนด ฉันใด การอบรมปัญญาเป็นการอบรมยาวนาน ไม่ใช่เพียงชาตินี้หรือเพียงล้านๆ ชาติ แต่เป็นกัปๆ เพราะสะสมความไม่รู้มามาก และสะสมอินทรีย์ คือกุศลธรรมและปัญญามาน้อย จึงต้องอบรมยาวนาน ไม่สามารถเร่งด้วยความอยากได้เลย เพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าเพียงพอครับ

ดังนั้น หนทางที่ถูกต้อง คือฟังพระธรรมอบรมปัญญาต่อไป โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการจะทำอินทรีย์ เพราะธรรมทำหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ใช่เราที่จะทำ ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้กุศลธรรมและปัญญาเจริญขึ้น จนถึงความเป็นอินทรีย์และถึงความแก่กล้าของอินทรีย์ พร้อมที่จะบรรลุในอนาคตได้ในที่สุดครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่

อินทรีย์ [จริยาปิฎก]


ความคิดเห็น 3    โดย เซจาน้อย  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ล้วนเป็นผู้ได้สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ มี ศรัทธา สติ เป็นต้น ในอดีตมาแล้วอย่างยาวนาน เป็นผู้ได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มาแล้วทั้งนั้น จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อม อินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ทำให้ท่านได้บรรลุ ไม่ใช่ว่าจะได้บรรลุโดยไม่มีเหตุ ต้องมีเหตุ คือได้สะสมปัญญามาแล้วนั่นเอง ชีวิตความเป็นไปของพระอริยสาวกทั้งหลาย ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมทุกยุคทุกสมัยที่จะได้เห็นถึงความอดทน ความจริงใจ ความเพียรในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาและความดี บารมีต่างๆ เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง จนกว่าจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด แม้ว่าจะต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานเพียงใดก็ตาม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

กราบขอบพระคุณในความเอื้อเฟื้อ และอนุโมทนากุศลจิตที่เกิดครับ


ความคิดเห็น 6    โดย dets25226  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย intra  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย pat_jesty  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Boonyavee  วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย pamali  วันที่ 29 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย wannee.s  วันที่ 29 ธ.ค. 2554

อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ในขณะนั้น

การที่ใครจะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ส่วนหนึ่งก็ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยในอดีตที่ได้สะสมมา ถ้าเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถบรรลุอริยสัจจธรรมได้ในขณะนั้น ค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย วิริยะ  วันที่ 30 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย jaturong  วันที่ 30 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย mari  วันที่ 16 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 16    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 29 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย peem  วันที่ 15 มิ.ย. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 18    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ