โลภะ
โดย joychorelada  18 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34687

กราบเรียนถามค่ะ

อาจารย์บางท่านแยก โลภะ เป็น สมุทยสัจ บางท่านก็บอกว่าเป็นทั้งทุกขสัจ และ สมุทยสัจ

ที่ถูกต้องคืออย่างไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเข้าใจธรรมต้อศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ครับ ก่อนอื่นก็เข้าใจคำว่า อริยสัจจะ ว่าที่ถูกต้องคืออย่างไร

ความหมายของอริยสัจจะ

1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

2. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อริยสัจจะ

3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ

4. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง

5. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

จากที่ถามว่า ธรรมทั้งปวง ย่อมประชุมลงในอริยสัจ 4 ธรรมในที่นี้หมายถึงอะไร

ธรรมทั้งปวงในที่นี้ ก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด คือ ธรรมที่เ่ป็นปรมัตถธรรม 4 คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน ครับ เพราะเป็นสัจจะ-ความจริงทั้งหมดครับ ในเมื่อสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริง เป็นสัจจะ จึงไม่พ้นจากอริยสัจ 4 ซึ่งจะขอแบ่งอริยสัจ แต่ละอริยสัจ ว่ามีสภาพธรรมที่มีจริงอะไรบ้างครับ

๑. ทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ คือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ เพราะผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือทุกขธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงความประเสริฐ คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า

๒. สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ๑ เป็นความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกียธรรม

๓. นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพาน เป็นโลกุตตรธรรม

๔. มัคคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

ดังนั้น โลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจจะ แต่ไม่เป็นทุกขอริยสัจจะ ตามที่กล่าวมาครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าทุกขสมุทัย ได้แก่ โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว โลภะ ก็ป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แต่เป็นสิ่งที่ควรละ ทำไมถึงต้องละโลภะ? เพราะเหตุว่าโลภะทำให้ทุกข์ เพราะมีความติดข้องต้องการอยากได้สิ่งใด แล้วไม่ได้ก็นำมาซึ่งทุกข์ใจมากมาย โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะตราบใดที่ยังมีโลภะ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์กายและทุกข์ใจอันเนื่องมาจากการเกิด โลภะ เป็นอกุศลธรรมที่ประกอบสัตว์ไว้ในสังสารทุกข์ เพราะตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่นั่นก็หมายความว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ เป็นเหตุให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ คือขันธ์ ๕ ต่อไปและประการต่อมา คือ โลภะเป็นอกุศลธรรมที่ขังสัตว์ในในเรือนจำคือสังสารวัฏฏ์ โลภะทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ไม่ให้สัตว์โลกออกไปจากเวียนว่ายตายเกิด สัตว์โลกไม่สามารถพ้นไปจากเรือนจำใหญ่นี้ไปได้จนกว่าจะดับโลภะได้อย่างหมดสิ้น ครับ เพราะฉะนั้น โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรละซึ่งจะต้องมีปัญญาจึงจะละโลภะได้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...