ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงละครวังหน้า ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ]
โดย วันชัย๒๕๐๔  5 ก.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 31013

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม ในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากร ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ณ โรงละครวังหน้า ถนนราชินี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

การสนทนาธรรมครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จัดให้มีการสนทนาธรรม เพื่อรณรงค์ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย ในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" อันเป็นอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากการเผยแพร่ทางด้านสื่อโทรทัศน์ วิทยุและทางโซเชียลออนไลน์ช่องทางต่างๆ ที่จะทำให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสรับฟัง มีความเข้าใจพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ด้วยความถูกต้อง อันจะเป็นการดำรงรักษาพระศาสนา ให้มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง สืบไป

เป็นอีกครั้งหนึ่งของการจัดสนทนาธรรมในหัวข้อนี้ ที่คณะทำงานอาสาสมัคร โดยสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานได้อย่างเรียบร้อย งดงาม สามารถเชิญชวนให้เพื่อนฝูง ญาติสนิท มิตรสหาย รวมถึงบุคคลต่างๆ จากหลากหลายอาชีพและสถานที่ มาร่วมรับฟังการสนทนาเป็นจำนวนมาก เต็มห้องประชุมโรงละครวังหน้า ซึ่งเป็นสถานที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร วังหน้าแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ซึ่งทั้งสองพระองค์มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาและประเทศชาติให้ดำรงคงอยู่มาจนทุกวันนี้

เพื่อเป็นการรำลึกในพระกรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ จึงขออนุญาตนำความบางตอนจากกระทู้ ถอดเทปรายการบ้านธัมมะ พระธรรมวินัยกับกฎหมาย ครั้งที่ 2 / 4 เป็นความการสนทนาที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ ๑ และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาของพระองค์ ที่ทรงเป็นเจ้าของวังหน้าแห่งนี้ ซึ่งใช้เป็นที่สนทนาธรรมเรื่อง "วิกฤติพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ในครั้งนี้ อันเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่ง อ.จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เลขที่ ๗๓ ได้กล่าวข้อความที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาคุณล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวพุทธ ที่รัชกาลที่ ๑ ทรงตรากฏหมายเพื่อปกป้องรักษาพระศาสนา จากความไม่รู้และความเห็นผิด ปฏิบัติผิดไปจากพระธรรมคำสอนของทั้งภิกษุและฆราวาส อันเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาฟั่นเฟือน เสื่อมสูญ ซึ่งทรงกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดยิ่งต่อภิกษุ สามเณร รวมถึงผู้อุปัชฌาย์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนด้วย ดังความบางตอนที่จะขอยกมาเป็นตัวอย่างให้ได้เห็นถึงพระมหากรุณาคุณดังกล่าว ดังนี้

"... อ.จักรกฤษณ์ ย้อนกลับมาที่กฏพระสงฆ์ ฉบับที่สำคัญๆ และก็ปรับกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย สมัยนั้นเป็นอย่างไร สมัยนี้เป็นอย่างไร กฎข้อที่ ๑ ตอนนั้นออกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นฉบับแรก ตอนนั้นท่าน (ร.๑) กล่าวไว้ในกฎหมายว่า “แลทุกวันนี้ อาณาจักร ทั้งปวง บางพวก ให้มีพระมหาเวสสันดรชาดกนี้ มิได้มีความสังเวช เลื่อมใส” ในส่วนนี้น่าจะแปลว่ามีการเทศน์ พระเวสสันดรชาดก โดยเทศน์นี่ไม่ได้มีความสังเวช ความเลื่อมใส ไม่เป็นธรรมคารวะ ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนอง (เทศน์เอาสนุก) “อันหาผลประโยชน์มิได้ พระสงฆ์ผู้แสดงนั้น บางจำพวกมิได้ร่ำเรียนพระไตรปิฎก” อันนี้สำคัญ คือบวชแล้วไม่ได้ร่ำเรียน “ได้แต่เนื้อความแปล ร้อยเป็นกาพย์กลอน แล้วก็มาสำแดงเป็นถ้อยคำตลกคะนองหยาบช้า เห็นแต่ลาภสักการะ เลี้ยงชีวิต มิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือน เสื่อมสูญ ชวนกันประมาทในพระธรรมเทศนา” อันนี้ท่านกล่าวไว้เบื้องต้นก่อนที่จะออกข้อบังคับว่า เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นอย่างนี้ ..."

"...อ.จักรกฤษณ์ ท่านกำหนดเป็นกฎหมายขึ้นมาว่า ภิกษุผู้ใดไม่ประพฤติตามที่ท่านกำหนดว่าห้าม การแสดงธรรมเทศนาในลักษณะนี้ แต่แสดงไปด้วยความเคารพ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธ ถ้าไม่ประพฤติตามก็ให้เอาตัวผู้ที่ละเมิดนั้น มาลงโทษ ตามโทษที่ท่านได้กำหนดไว้ และมิหนำซ้ำ ญาติโยม พระสงฆ์ เณรเถระต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ช่วยกันรับผิดด้วย คือท่านไม่ได้ปล่อย ไม่ได้เจาะจง (เฉพาะผู้ทำความผิด) ต้องผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งจริงๆ เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ว่าคนทำผิดแล้ว เอาคนนั้นไป คนอื่นก็ไม่สนใจไม่ใส่ใจ แต่คนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมรับผิดกับเขาด้วย ซึ่งตรงนี้ ท่านก็ได้ระบุเอาไว้ในกฎข้อแรกเลย อันนี้ในเรื่องการแสดงธรรมเทศนา..."

"...ต่อมาเป็นกฎอีกข้อหนึ่ง ที่อยากไปยกขึ้นมาให้ได้รับทราบกันว่า ในพระศาสนาเอง ท่านมีความเป็นห่วงในการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ท่านก็จะกำหนดให้ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบในเบื้องต้น ก็คือพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ จะต้องเป็นคนดูแลรับผิดชอบ เพราะว่าเป็นหน้าที่โดยตรง ว่าจะต้องดูแลให้พระภิกษุที่อยู่ในความปกครอง หรือว่ามาพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ท่านดูแลรับผิดชอบ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ท่านก็ได้กำหนดเลยว่า ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์นี้ พอบวชพระภิกษุแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหา ต้องดูแล ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ไปทำผิดอะไรต่างๆ ในกฎข้อนี้ ท่านก็เลยยกในส่วนนี้ขึ้นมาเป็นกฎหมายด้วย และบอกว่า ภิกษุทุกวันนี้ละเลยพระวินัยเสีย มิได้ระวังตักเตือน สั่งสอน กำชับ ว่ากล่าว ท่านบวชเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้ให้ศิษย์อยู่ในนิสัยในหมู่คณะสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ดูแล เที่ยวปล่อยปละละเลย ให้ลูกศิษย์เที่ยวไปตามอำเภอใจ ทำมารยา รักษาศีลภาวนา ทำกิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ อันนี้ปล่อยไป เลยไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง สำแดงความรู้ อวดอิทธิฤทธิ์ เป็นอุตริมนุสสธรรม อันเป็นกลโกงโกหก ตั้งตัวว่าเป็นผู้มีบุญ เป็นคนที่ไปพบผู้วิเศษมีวิชามาจากในแดนไกล นี่ท่านกล่าวเอามาจากถ้ำเขาอะไรนั่นนะ เป็นผู้วิเศษมา แล้วท่านก็ได้บอกตรงๆ เลยว่า ทำให้แผ่นดินและพระศาสนาจลาจล เพราะเหตุพระสังฆราชาคณะ อธิการ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย มิได้เอาใจใส่ตักเตือน ว่ากล่าวตามพระธรรมวินัย..."

จากข้อความข้างต้น ทำให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการปกป้องรักษาพระพุทธศาสนา สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า " ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี ” มาบัดนี้ พระพุทธศาสนาที่ทรงห่วงใยและทรงทำนุบำรุง ตรากฏหมายขึ้นบังคับใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีตนั้น กลับมีความฟั่นเฟือน จนเป็นความวิกฤตอย่างมาก ในปัจจุบัน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ตลอดจนคณะวิทยากร และผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงและมีความเข้าใจ ได้สำนึก และตระหนักในพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น จึงร่วมกันกระทำทุกวิถีทาง ที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมและพระวินัยที่ถูกต้อง ตรงตามที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ให้เกิดมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แพร่หลายไปในวงกว้างที่สุด เท่าที่จะสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาคุณอันยิ่ง ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายในอดีต ที่ดำรงรักษาคำสอนไว้สืบมา และ เพื่อให้คำสอนที่ถูกต้องดังกล่าว แพร่หลายไปในวงกว้างมากที่สุด เพื่อประโยชน์อันยิ่ง แก่สาธารณชนผู้ที่สะสมมา ได้มีโอกาสศึกษาเข้าใจต่อไป ซึ่งความเข้าใจพระธรรมวินัยที่ถูกต้องนั้นเอง จะเป็นการทำนุบำรุง รักษาพระพุทธศาสนาที่มั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริงสืบไป

(สำหรับท่านที่สนใจ สามารถคลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่..ถอดเทปรายการบ้านธัมมะ พระธรรมวินัยกับกฎหมาย ครั้งที่ 2 / 4 )

อนึ่ง ก่อนการสนทนาธรรม ทางคณะสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ผู้ที่ร่วมกันจัดการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้กล่าวรำลึกและอุทิศส่วนกุศลในการจัดงานครั้งนี้ แด่ พี่เจี๊ยบ รัชนีวรรณ บุญชู สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๑๑๕๐ ผู้เพิ่งจากทุกคนไป เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ซึ่งวันนี้เป็นวันครบหนึ่งเดือนของการจากไปของพี่เจี๊ยบ สหายธรรมผู้เป็นที่รักยิ่งของทุกๆ คน กราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ.ทุกท่าน ที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ด้วยครับ

อันดับต่อไปขออนุญาตนำความบางตอนของการสนทนาธรรมในวันนั้น มาบันทึกไว้ให้ทุกท่านได้มีโอกาสอ่านและพิจารณาทบทวน อย่างช้าๆ ทีละคำ เพื่อความเข้าใจที่มั่นคง อันเป็นข้อความการสนทนาที่มีค่า น่าอ่าน และน่าพิจารณาอย่างยิ่ง น่าสนใจมากครับ

คุณขจีรัตน์ พูดถึงคำว่า "บุญ" ทุกคนก็อยากได้บุญ ก็เลยไปทำบุญกันใหญ่เลยค่ะ ท่านอาจารย์ บางคนก็ไปนั่งสมาธิ บางคนก็สวดมนต์ บางคนก็เอาเงินไปให้พระ ซึ่งเขาก็บอกว่า แล้วพระจะฉันอะไร ท่านอาจารย์คะ แล้วพระจะฉันอะไรคะ?

ท่านอาจารย์ ผู้ประพฤติดี ไม่ต้องห่วงค่ะ เพราะว่าสิ่งที่ดีทั้งหมด มาจากความดี
อ.วิชัย ผู้ที่เห็นคุณของผู้ที่มีคุณ ย่อมเคารพสักการะบูชาบุคคลนั้น และบำรุงบุคคลนั้น เพราะเห็นความเป็นผู้ที่มีคุณ ดังนั้น ถ้าบุคคลใดมีความดี ความดีก็รักษาบุคคลนั้น เรื่องการที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พิจารณาและอนุญาตปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุ เพราะชีวิตของแต่ละคนก็ต้องเป็นไป แม้ชีวิตของความเป็นภิกษุ

แต่เมื่อเป็นผู้ที่ปฏิญญาว่าสละอาคารบ้านเรือนแล้ว การจะมีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้อีกต่อไป การจะมีทรัพย์สิน เงินทอง อย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้อีกต่อไป จึงมีชีวิตอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้ อาหารบิณฑบาต เป็นผู้ที่แสวงหา ด้วยปลีแข้ง คือไม่มีการที่จะไปเอ่ยปากขอบุคคลอื่น แต่เป็นผู้ขอด้วยอาการสงบ เป็นผู้ขอที่เป็นผู้ควรแก่การรับ ดังนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่ประพฤติคุณความดี ก็ไม่ควรแก่การที่จะให้บุคคลอื่นบำรุง ดูแล เพราะเป็นผู้ที่หลอกลวง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง การบริโภค ใช้สอยของการเป็นภิกษุ บริโภคอย่างเป็นผู้ขโมย (เถยยบริโภค) ก็มี บริโภคอย่างความเป็นหนี้ (อิณบริโภค) ก็มี บริโภคอย่างความเป็นทายาท (ทายัชชบริโภค) ก็มี บริโภคอย่างความเป็นเจ้าของ (สามิบริโภค) ก็มี ดังนั้น ภิกษุใดก็ตาม ปฏิญญาว่า เป็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ แต่เป็นผู้ไม่ประพฤติธรรม ไม่ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ ไม่ขัดเกลากิเลสตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น การใช้สอยปัจจัยของบุคคลนั้น ก็เป็นเหมือนผู้ขโมยปัจจัย เพราะว่าบุคคลอื่นเขาให้ปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุ เพราะเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ประพฤติคุณความดี ประพฤติตามธรรมวินัย

แต่ถ้าไม่ใช่ประพฤติอย่างนั้น ก็เหมือนขโมยปัจจัยของผู้ควรจะรับ มาบริโภค เพราะตนไม่ควรแก่การที่จะใช้สอยปัจจัยนั้น นี่ก็คือ การเป็นผู้บริโภคอย่างการ เป็นผู้ขโมย แต่ถ้าภิกษุใดก็ตาม ที่ไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้ศึกษา พิจารณา อบรมปัญญาในกาลนั้นๆ ก็บริโภคปัจจัย ๔ เหมือนผู้ที่ยังเป็นหนี้อยู่ เพราะว่า การให้ปัจจัย ๔ ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ที่จะบำรุงภิกษุ เพื่อให้ท่านประพฤติคุณความดี แต่ขณะใดก็ตาม ในกาลใดก็ตาม ที่ท่านไม่ได้พิจารณา ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็บริโภคเหมือนบุคคลที่ยังเป็นหนี้อยู่ คือ บริโภคอย่างผู้ที่เป็นหนี้

แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ธรรมะ ถึงความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นผู้ควรแก่การที่จะได้รับปัจจัยนั้น เพราะเป็นผู้ที่รู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงความเป็นอริยสาวก นั่นคือบริโภคอย่างผู้ควรจะรับ ก็คือทายาท (ทายัชชบริโภค) แต่ถ้าบุคคลใด เป็นพระขีณาสพ เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ก็บริโภคอย่างความเป็นผู้เป็นเจ้าของ (สามิบริโภค) เพราะเป็นผู้ควรแก่การรับอย่างยิ่ง เพราะไม่มีกิเลสใดๆ เลย นี่ก็คือการแสดงถึงการบริโภค ของภิกษุ โดยประเภทต่างๆ กราบท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ คงเข้าใจแล้วนะคะ ว่า จะส่งเสริม หรือ จะทำลาย พระพุทธศาสนา ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมวินัย แล้วก็ไม่รู้เลยว่า การให้เงินกับพระภิกษุ ไม่ใช่สิ่งที่สมควร เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่าเป็นโทษ อาบัติคือไม่ได้ประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้วเป็นโทษ ที่จะต้องสำนึก และจะต้องปลง หมายความว่า ทำให้โทษนั้นหมดสิ้น โดยการแสดงโทษนั้น เพื่อที่จะได้ให้คนอื่นได้รู้ว่า ท่านได้กระทำสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เพื่อจะได้กลับคืนสู่ความเป็นภิกษุ

เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม เมื่อไม่ได้เข้าใจธรรมะ ก็คิดว่าส่งเสริมพระพุทธศาสนา เช่น ใส่บาตร แต่ว่า ถ้าบุคคลนั้น ไม่ได้เข้าใจธรรมะ แล้วก็ไม่ประพฤติตามพระวินัย นอกจากจะปล้นอาหารที่เขาถวายแก่ผู้ที่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ยังปล้นศาสนาด้วย!! เพราะเหตุว่า ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัยเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยก็จะค่อยๆ ลบเลือนไป

ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่เพียงเราเห็นเล็กๆ น้อยๆ ว่า ให้อาหารบ้าง ให้เงินบ้าง เพราะอยากได้บุญ แต่คนที่จะได้บุญ ต้องเป็นผู้ที่รู้ถูกต้อง ไม่รู้กับรู้ อะไรเป็นบุญ? บุญคือธรรมะที่ชำระจิตให้พ้นจากความเศร้าหมองคือความไม่รู้และกิเลส ถ้าไม่รู้ เป็นกิเลสแล้ว ไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้น ให้อาหารกับใคร? เพื่ออะไร? ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าพุทธบริษัท ไม่ได้ศึกษาธรรมะ จะไม่เข้าใจในความเป็นพระภิกษุเลย และคิดว่าตนเอง ทะนุบำรุงพระภิกษุและพระพุทธศาสนา แต่การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่บำรุง เพราะเหตุว่า บำรุงคือ ศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะให้คนอื่น เช่นคฤหัสถ์ ได้เข้าใจด้วย และพระธรรมที่เข้าใจนั้นแหละ จะทำให้สามารถประพฤติ ปฏิบัติ ตามพระวินัยได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นพระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แสดงชัดเจว่า ผู้นั้นไม่เข้าใจธรรมะ ถ้าเข้าใจธรรมะแล้ว ยิ่งประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ด้วยความเคารพ ด้วยการเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติสิกขาบทให้พระภิกษุทั้งหลาย อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุข ด้วยการขัดเกลากิเลส เงินไม่ได้ขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่า ผู้ใดยินดีในเงินและทอง ก็เท่ากับยินดีในชีวิตคฤหัสถ์ ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เหมือนคฤหัสถ์

เพราะฉะนั้น พระภิกษุ มีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการที่มีที่อาศัย ที่เราใช้คำว่าปัจจัย อาหารบิณฑบาต ใครเห็นพระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นที่เข้าใจถูกต้อง คนนั้นก็มีสิ่งที่จะบำรุงผู้นั้น ให้สามารถที่จะศึกษาพระธรรมต่อไป ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตต่อไป นั่นคือการทำนุบำรุง

แต่ถ้าภิกษุนั้น ประพฤติผิดพระธรรมวินัย หมายความว่า ไม่ได้เข้าใจพระธรรม จึงประพฤติผิด ภิกษุทุกรูปในครั้งพุทธกาล เห็นชอบกับการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบททุกข้อ พระองค์ไม่ใช่บัญญัติเอง แต่ว่า ด้วยพระมหากรุณา ที่เมื่อมีการประพฤติปฏิบัติผิด ยังไม่ถึงขั้นที่จะพ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะไม่ถึงขั้นอาบัติหนักคือปาราชิก พ่ายแพ้ต่อการที่จะดำรงเพศบรรพชิต

เพราะฉะนั้น การกระทำต่างๆ มีโทษหนัก เบา ตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ถ้าไม่ถึงกับการสิ้นสุดการเป็นพระภิกษุ โดยการกระทำ ไม่ต้องมีใครมาสึกหรือมาบอก มาไล่เลย แต่พฤติกรรมนั้นแหละ ทำลายความเป็นพระภิกษุ ถ้าไม่ถึงอาบัติที่หนักระดับนั้น ทรงพระมหากรุณาให้ภิกษุที่สำนึก แสดงโทษ แล้วก็สำนึกว่า จะไม่ทำต่อไปอีก นั่นคือในครั้งโน้น ภิกษุทั้งหลายที่มีความละอาย แต่เมื่อยังมีกิเลสและไม่รู้ ก็ล่วงสิกขาบท น้อยบ้าง ใหญ่บ้าง โทษก็มีตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ พุทธบริษัทที่รู้จักบุญ ก็คือว่า ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ใช่บุญ!! เมื่อมีความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเข้าใจขึ้น ก็สามารถที่จะกระทำบุญยิ่งขึ้น ในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานมาก และ ทุกคำของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่เรา จากการที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี มากมาย สมควรอย่างยิ่ง ที่จะดำรงรักษาคำสอนไว้ ด้วยความซื่อตรง ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่คิดว่า พระภิกษุจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ให้อาหาร แต่ว่า ภิกษุตามพระธรรมวินัย อยู่มาแล้ว ในครั้งโน้น จนถึงในครั้งนี้ เมื่อประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ทุกรูปก็สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องห่วง สำหรับผู้ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ตามพระธรรมวินัย ก็ย่อมจะมีชีวิตอยู่ได้ เพราะศรัทธาของผู้ที่เห็นคุณ

ข้อความบางตอนในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์

"...สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์

ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าว (กับพระลักขณะ) ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพต เขตพระนครราชคฤห์ นี้ ได้เห็นภิกษุเปรต ลอยไปในอากาศ สังฆาฏิ บาตร ประคดเอว และ ร่างกายของภิกษุเปรต นั้น ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้น ร้องครวญคราง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปรต นั้น เคยเป็นภิกษุผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า..."

ข้อความบางตอนในปรมัตถทีปนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ

อปายสูตร

“...ภิกษุทุศีล คือ ไม่มีศีล ไม่สำรวมด้วยกาย เป็นต้น ปฏิญาณว่าเราเป็นสมณะ รับก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธาบริโภค ก้อนเหล็กร้อน มีแสงไฟ อันภิกษุผู้ทุศีลบริโภค ยังประเสริฐกว่า คือ ดีกว่าการที่คนทุศีลบริโภคก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธานั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะการบริโภคก้อนเหล็กเป็นเหตุ เขาก็พึงไหม้ในอัตภาพเดียวเท่านั้น ส่วนภิกษุผู้ทุศีล บริโภคของที่เขาให้ด้วยศรัทธา เขาพึงไปเกิดในนรกหลายร้อยชาติ..”

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

.........

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทั้งหมด ได้ที่นี่...

และ ขอเชิญคลิกชมบันทึก ณ กาลครั้งหนึ่ง เรื่อง "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ครั้งอื่นๆ ได้ที่นี่...

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ] ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรม ดิอิมเพรส น่าน อ.เมือง จ.น่าน [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ] ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงเรียนส่งกำลังบำรุงทหารบก ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑



ความคิดเห็น 1    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 6 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย chvj  วันที่ 21 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ