ความอยาก
โดย เทียน  16 มิ.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 8904

อยากทราบว่าเกิดมาแล้วทำไมต้องดิ้นรนอยากได้โน้นอยากได้นี้มาเป็นของตัวเองละคะ เป็นเพราะกิเลศของตัวเราเองไหม จะทำอย่างไรดี เพราะตัวดิฉันก็มีกิเลศมากตอนนี้เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ตัวเองอยากเรียนให้สูงๆ เพราะคิดว่าจะได้มีงานทำดีๆ เป็นหน้าเป็นตาให้แม่ เพราะเกิดมาจนน่ะค่ะ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ถ้าอย่างนี้ดิฉันจะเป็นผู้สะสมความอยากมากขึ้นหรือเปล่าค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ปุถุชนคือ ผู้ที่หนาด้วยกิเลสเมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม ย่อมมีความติดข้องต้องการในสัตว์บุคคล วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะเคยสะสมกิเลสมามาก ส่วนพระอรหันต์ คือผู้หมดกิเลสแล้ว ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็ไม่มีความติดข้องยินดีในสิ่งใดๆ แล้วท่านมีชีวิตอยู่เพื่อสงเคราะห์หมู่สัตว์ และรอวันปรินิพพานเท่านั้น อนึ่ง ตามหลักธรรมะแสดงว่า การดำเนินชีวิตของเราทุกๆ วันตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา จิตของเราทำหน้าที่สะสมการกระทำและความคิด (สันตานะ) อยู่ตลอดเวลา เมื่อความอยากเกิดบ่อยๆ ความอยากก็สะสมมากยิ่งขึ้น เมื่อความโกรธเกิดบ่อยๆ ความโกรธก็สะสมากยิ่งขึ้น เมื่อปัญญาเกิดบ่อยๆ ปัญญาก็สะสมมากยิ่งขึ้น รู้อย่างนี้แล้วควรสะสมความดี โดยเฉพาะปัญญา เพาะปัญญามีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย ทำให้รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าสิ่งใดมีหรือไม่มีสาระและรู้แจ้งตามความเป็นจริงครับ


ความคิดเห็น 2    โดย Komsan  วันที่ 16 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 3    โดย ปทปรม  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข

บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน

แต่เบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยท่อนไม้

บุคคลนั้นละไปแล้วย่อมไม่ได้สุข ฯ

ปุถุชนทุกคนก็อยากได้ใคร่ดีในทุกอย่าง มากหรือน้อยเท่านั้นที่ต่างกัน ก็กิเลสยังไม่ได้ดับเลย ความติดข้องต้องการเป็นความติดข้องที่มีเสมอ กันในปุถุชนเป็นปกติ ตราบใดที่ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ให้ได้ รับความทุกข์เดือดร้อน ก็เป็นการสั่งสมอุปนิสัย เมื่อใดที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ก็เริ่มที่จะรู้จักตนเอง และค่อยๆ เริ่ม คลายความอยากได้ แต่ก็ต้องตามกำลังปัญญาของตนๆ


ความคิดเห็น 4    โดย C.pongsiri  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ดิฉันฟังพระธรรมทุกวัน แต่ก็ยังอยาก

ความอยาก หายยาก แต่ถึงยาก ก็ยังอยากหาย ยิ่งอยากหาย ยิ่ง หายยาก

โอย... มึนค่ะ ไม่ต้องกังวลนะคะ ดิฉันก็อยากรวยเหมือนกันค่ะ ไม่เคยหายอยากเลย บางทีเหมือนหลอกตัวเองว่า หายแล้ว พอมีอารมณ์มากระทบจึงรู้ว่ายังอยาก แต่...ยังดีที่รู้ตัวจึงฟังพระธรรมทุกวัน


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Sam  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ความอยากเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ย่อมสะสมให้เกิดความอยากอีกเมื่อปัจจัยให้ความอยากนั้นถึงพร้อม เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว โทสะทำให้รู้สึกรังเกียจความอยาก และอยากที่จะเลิกอยากด้วยความเป็นตัวตน

การลด - ละความอยาก จึงไม่ใช่ด้วยการรังเกียจความอยาก หรือไม่ต้องการให้ความอยากเกิดขึ้น (ซึ่งเป็นไปไม่ได้..หากปัจจัยทั้งหลายถึงพร้อม)

หนทางลด - ละความอยากคือการสะสมปัญญา เริ่มต้นด้วยการฟังธรรมะให้เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร

ผู้ไม่ได้สดับสะสมความอยากเป็นปกติ แม้จะอยากละความอยากก็เป็นไปไม่ได้

ผู้ที่ศึกษาพระธรรมก็ยังมีการสะสมความอยาก ไม่ได้ผิดปกติ แต่มีการสะสมปัญญาไปทีละน้อยๆ ด้วย จนกว่าจะสะสมปัญญาเป็นปกติ เมื่อนั้นความอยากจะค่อยๆ ลดลง จนถึงความดับไม่มีเหลือเลยในที่สุด


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ความอยาก ความติดข้องต้องการ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสประเภทนี้ได้อย่างเด็ดขาด,ในแต่ละวันนั้น อกุศลเกิดบ่อยมาก ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะความติดข้องต้องการอย่างเดียว ยังมีทั้งความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ เป็นต้น แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเป็นผู้ได้สั่งสมอกุศลมาเนิ่นนาน นอกเสียจากว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ ต้องอาศัยการฟัง การศึกษา การพิจารณาไตร่ตรอง และที่สำคัญต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรม ครับ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้คนประกอบอาชีพ (แต่พระองค์ทรงแสดงว่าอาชีพที่ไม่ควรทำ อุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ควรทำ คือ ค้าอาวุธเครื่องประหาร, ค้ามนุษย์, ค้ายาพิษ, ค้าสิ่งเสพติด ของมึนเมาต่างๆ , ค้าสัตว์สำหรับนำมาฆ่าเป็นอาหาร) นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงแสดง ว่า การที่บุตรธิดา ได้ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดา นั้น เป็นความดี เป็นสิงที่ควรกระทำ ผู้ที่เลี้ยงดูบิดามารดา เป็นคนกตัญญูกตเวที ความเป็นผู้กตัญญู-กตเวทีนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ, การที่จะตอบแทนพระคุณของบิดามารดา ได้อย่างสูงสุด คือ ให้ท่านได้มีโอกาสฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย wannee.s  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ อันดับแรกไม่ได้ให้ละโลภะก่อน ท่านสอนให้ละความเห็นผิดก่อนค่ะ พระโสดาบันท่านก็ยังมีโลภะ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ท่านไม่ล่วงศีล พระอรหันต์ท่านละกิเลสหมด ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เรา จึงต้องศึกษาธรรม เพื่อละความเห็นผิดในสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อไม่มีความเห็นผิด กิเลสต่างๆ ก็จะละคลายลงตามกำลังของปัญญาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย suwit02  วันที่ 16 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 11    โดย happyindy  วันที่ 16 มิ.ย. 2551

อ้างอิงจากความคิดเห็นที่ 4 โดย C.pongsiri

บางทีเหมือนหลอกตัวเองว่า หายแล้ว พอมีอารมณ์มากระทบจึงรู้ว่ายังอยาก แต่ยังดีที่รู้ตัวจึงฟังพระธรรมทุกวัน

อินดี้ก็คิดว่าตัวเองเป็นอาการนี้อยู่เหมือนกันค่ะป้า ขออนุโมทนานะคะ

ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย ตุลา  วันที่ 17 มิ.ย. 2551

ถ้าไม่มีอะไร และไม่อยากมี ก็สุขสบายดี แต่ถ้ายังอยากมี แต่ไม่มี ก็จะเป็นทุกข์ เพราะว่าที่ไหนมีอยาก ที่นั่นมีทุกข์ค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย all-for-ละ  วันที่ 17 มิ.ย. 2551

ความอยากมีจริง ความอยากเป็นอนัตตา ละความอยากด้วยรู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีปัญญาละความอยากไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจความอยากได้จากการศึกษาพระธรรม แล้วใครไม่อยาก?


ความคิดเห็น 14    โดย suwit02  วันที่ 18 มิ.ย. 2551
สาธุ

ความคิดเห็น 16    โดย chatchai.k  วันที่ 29 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)