เหมือนว่าบังคับบัญชาได้
โดย สหรัตน  26 ส.ค. 2549
หัวข้อหมายเลข 1928

ได้สนทนากับเพื่อน กล่าวถึงเรื่องสภาพธรรมว่าไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ได้อธิบายไปว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เขาให้ความเห็นว่าดูเหมือนว่าบางอย่างสามารถบังคับบัญชาได้ เช่น เมื่อเขาต้องการยกแขนหยิบแก้วน้ำก็ทำได้ เป็นต้น ก็ยังทำได้ ลักษณะเช่นนี้มีอธิบายให้เข้าใจว่าอย่างไรครับ ขอความกรุณาช่วยให้ความกระจ่างโดยละเอียดพร้อมยกตัวอย่างด้วยครับ


ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 26 ส.ค. 2549

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก คือทรงจำแนกรูปธรรม และนามธรรมแต่ละขณะๆ ว่าเกิดเพราะปัจจัยทั้งหมด สำหรับเรื่องที่ท่านยกมากล่าวถึง เหตุการณ์โดยรวม คือ เป็นการกล่าวโดยรวบรูปและนามหลายขณะมาก คือ มีจิตคิด ที่จะยกแก้วน้ำ จึงมีการเคลื่อนไหวของจิตชรูป มีการขยับ มีการหยิบแก้วน้ำ การหยิบ แก้วน้ำได้เพราะความถึงพร้อมด้วยปัจจัยอย่าง เช่น เพราะมีจิต เจตสิก เพราะมีรูปที่ เหมาะกับการเคลื่อนไหวได้ ถ้ารูปไม่เหมาะกับการเคลื่อนไหว เช่น ถ้าร่างกายเป็น อัมพาต แม้ต้องการหยิบแก้วน้ำ หรือทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ซึ่ง จิต เจตสิก รูป แต่ละขณะ ที่เกิดล้วนมีปัจจัยให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ถ้าไม่มีปัจจัยย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ พระพุทธองค์จึงทรง แสดงความจริงว่าเป็นเพราะปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าหากบังคับได้ ทุกคนจะมีแต่ จิต เจตสิก รูป ดีๆ ตลอดไป จะไม่มีสิ่งไม่ดี เช่น อกุศลเลย แต่ความจริงไม่เป็นเช่น นั้น เพราะทุกคนมีอกุศลจิตเกิดมากมายในชีวิตประจำวัน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มาก มาย ฯ


ความคิดเห็น 2    โดย chorswas.n  วันที่ 26 ส.ค. 2549

ในวิสุทธิมรรค ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส มีข้อความว่า

อนึ่งนามธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีเดช ไม่อาจเพื่อจะเป็นไปด้วยเดชของตน ... กินไม่ได้ ดื่มไม่ได้ ขวนขวายไม่ได้ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้แม้รูปก็ไม่มีเดช ไม่อาจเพื่อจะเป็นไปด้วยเดชของตนเพราะว่ารูปนั้นไม่มีความใคร่จะกิน ไม่มีความใคร่จะดื่ม ไม่มีความใคร่จะขวนขวายไม่มีความใคร่สำเร็จอิริยาบถ อันที่แท้รูปอาศัยนามจึงเป็นไปแม้นามก็ต้องอาศัยรูปจึงเป็นไป ฯก็เมื่อมีนามธรรมที่เป็นผู้ใคร่กิน ใคร่ดื่ม ใคร่ขวนขวาย ใคร่สำเร็จอิริยาบถรูปจึงกิน จึงดื่ม จึงขวนขวาย จึงสำเร็จอิริยาบถ ฯ นามกายอาศัยรูปจึงเป็นไปเปรียบเหมือนมนุษย์อาศัย (โดยสาร) เรือไปในห้วงน้ำ ฯรูปกายอาศัยนามจึงเป็นไปเหมือนอย่างเรือ อาศัยมนุษย์จึงแล่นไปในแม่น้ำ ฯทั้งสองอย่างคือมนุษย์และเรือ อาศัยกันและกันจึงไปในห้วงน้ำได้ ฉันใดนามธรรมและรูปธรรม ก็ฉันนั้น


ความคิดเห็น 3    โดย shumporn.t  วันที่ 26 ส.ค. 2549

สักกายทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เมื่อมีตัวเราก็มีเราทำได้ เพราะไม่รู้ทิฏฐิ ทั้งหลายตามความเป็นจริง เพราะไม่ศึกษาจึงไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงเป็นอัตตา พุทธศาสนา มีคำว่า อนัตตา เชิญฟังคำบรรยายได้จากเว็บบ้านธรรมะ


ความคิดเห็น 4    โดย narong  วันที่ 26 ส.ค. 2549

ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำในชีวิตประจำวันดังเช่นตัวอย่างที่ได้ยกมานั้น (หยิบแก้วน้ำ) ก็เป็นเพียงสมมติสัจจะ ซึ่งหากไม่มีปรมัตถสัจจะ (จิต เจตสิก รูป) ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ ปัจจัยและก็ดับไป บังคับบัญชาไม่ได้ การกระทำดังกล่าวก็มีไม่ได้ และยังเข้าใจผิด ด้วยว่า มีเราที่กระทำการหยิบแก้วน้ำ ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันไปตาม กิเลส กรรม วิบาก และแตกต่างกันไป ตามการสะสม ของแต่ละบุคคล

การที่จะรู้ความจริง จึงต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อละความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน จึงจะค่อยๆ เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย pornchai.s  วันที่ 29 ส.ค. 2549

เพราะทุกคนสะสมความเป็นตัวเรา ความเป็นตัวตน มามากกว่าแสนโกฏิกัปป์ พร้อมทั้งอวิชชา (ความไม่รู้) ก็สะสมมาเป็นอนันตชาติ การกระทำทุกอย่างในชีวิต ประจำวัน ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราที่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นของ ของเรา แม้จะได้สดับฟังพระธรรมแล้ว ก็ยังเป็นความเข้าใจแค่ขั้นการฟังเท่านั้น ไม่สามารถ ละความเป็นตัวตนได้ ไม่ประจักษ์แจ้งความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นเรื่องปกติที่ยังเหมือนบังคับบัญชาได้ ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด ความเป็นตัว ตนซึ่งเป็นอนุสัย (กิเลสละเอียด) ก็ยังคงสะสมไปเรื่อยๆ ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Komsan  วันที่ 15 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ