สมมติบัญญัติเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนาได้ไหม
โดย lokiya  21 พ.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 31878

สมมติบัญญัติเช่น ความแก่ ความตาย ความสกปรกของร่างกาย ความเสื่อมของอวัยวะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเป็นสภาพรู้ สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ทั้งปรมัตถธรรมที่เป็นจิต เจตสิกรูปและนิพพาน รวมทั้งบัญญัติธรรมด้วย ซึ่งสติปัฏฐานจะต้องมี ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นอารมณ์ด้วยเหตุผลที่ว่า จะต้องมีลักษณะให้รู้ เพราะจิต เจตสิก และรูป มีลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ได้ ทั้งลักษณะเฉพาะของแต่ละสภาพธรรม และลักษณะทั่วไปที่เป็นสามัญญลักษณะ ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ซึ่งสติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน (วิปัสสนา) สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะที่มีจริงได้ สิ่งใดที่ไม่มีลักษณะ สติและปัญญาที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จิต และเจตสิกที่เป็นระดับสติปัฏฐานไม่สามารถมีอารมณ์ คือ บัญญัติได้ เพราะไม่มีลักษณะให้รู้ครับ ส่วนจิต เจตสิก ที่ไม่ใช่ระดับสติปัฏฐาน เช่น ขณะนี้ ที่กำลังเห็น เป็นสัตว์ บุคคล เป็นคอมพิวเตอร์ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะจิตนั้น ดังนั้น คำว่าไม่มี ของบัญญัติ หมายถึง ไม่มีลักษณะ ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่แม้ไม่มีลักษณะก็สามารถเป็นอารมณ์ของจิต เจตสิก ได้ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้ ครับ

ก. บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม

สุ. ไม่ได้

ก. เมื่อกี้ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า ...บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

สุ. ปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดกระทบกับชิวหาปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวารเริ่ม ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต แล้วรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ

ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และพิจารณาสังเกตรู้สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติจึงยังมีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ตลอดเวลา

---------

สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เพราะว่าในพระสูตร หรือในที่ต่างๆ เวลาที่มีคำใด ท่านจะแสดงคำนั้นโดยประการต่างๆ โดยนัยของสมถะ โดยนัยของวิปัสสนา หมายความว่าเมื่อพูดถึงคำนั้นแล้วก็ได้กล่าวถึงคำนั้นโดยความหมายอื่นๆ ด้วย ซึ่งเราจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนั้นหมายความถึงอะไร เหมือนกับจิตตวิสุทธิ จะใช้คำว่า อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงขณิกสมาธิ แต่ความจริงวิปัสสนาทั้งหมดเป็นขณิกสมาธิ ถ้าเข้าใจผิด ก็จะคิดว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจถูกว่า สภาพธรรมะที่มีจริงๆ มีลักษณะจริงๆ จึงจะเป็นสติปัฏฐานได้

วิจิตร ที่ยังไม่เข้าใจ คือ คำว่ากาย เวทนา จิต ธรรมนั้น กายเป็นบัญญัติหรือเปล่า

สุ. คุณวิจิตรมีกายหรือเปล่า

วิจิตร มีครับ

สุ. ค่ะ ลักษณะของกายเป็นอย่างไรคะ ถ้ามี หมายความต้องมีลักษณะที่สามารถจะรู้ได้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ กายมีลักษณะอย่างไร จึงบอกว่ามี

วิจิตร ก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง

สุ. นั่นแหละค่ะ ลักษณะนั้นเป็นบัญญัติหรือเปล่า หรือว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ เกิดแล้วดับด้วย

วิจิตร ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจว่า เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่เวลาดูกายในกาย ให้ดูเกสา โลมา

สุ. ใครให้ดู

วิจิตร ให้พิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

สุ. ใครให้พิจารณา

วิจิตร ก็ในพระไตรปิฎก

สุ. สิ่งใดที่มี สติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ในลักษณะนั้น แต่ไม่ได้บังคับ บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา แต่สิ่งที่มี จะรู้ความจริงก็คือ รู้ความจริงของสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี

วิจิตร รู้ความจริงของสิ่งที่มี อย่างเกสา ก็รู้ว่า นี่คือเกสา

สุ. ไหนคะเกสา

วิจิตร ก็นี่ไง

สุ. แข็งใช่ไหมคะ เกสาแข็งหรือเปล่า ต้องใช้เกสาด้วย ผมก็ไม่ใช้ ถ้าพูดผม ก็ไม่ได้หรือคะ ต้องเกสา

วิจิตร ก็ได้ แต่เดี๋ยวจะไม่เข้ากัน

สุ. เพราะฉะนั้น จะเข้าใจธรรมะด้วยภาษาอะไร ก็ควรใช้ภาษานั้น เมื่อมีคำว่า เกสา แล้วเข้าใจว่า เกสาคือผมก็จริง แต่ขณะไหนที่ผมกำลังเป็นอารมณ์ของสติสัมปชัญญะ ต้องรู้ ไม่ใช่ไปนึกถึงคำ แล้วก็บอกว่า เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ค่ะ ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงจะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ ลักษณะนั้นปรากฏ เมื่อมีสภาพที่กำลังรู้พร้อมสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ด้วย

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเชิญอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมดังนี้
"ขณะใดก็ตามที่จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเหตุว่ามิจฉาทิฏฐิต้องเป็นการยึดมั่น เป็นความเห็นผิดที่ถือว่า บัญญัติมีจริง ในเมื่อความจริงแล้ว บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่มีจริง

บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ไหม? ได้ เป็นอยู่เป็นประจำ อย่าลืมนะคะ โลภมูลจิตเกิด พอใจในบัญญัติ โทสมูลจิตเกิด ไม่พอใจในบัญญัติ ใช่ไหมคะ ไม่พอใจคนนี้ ไม่พอใจคนนั้น ในขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอกุศลอะไรก็ตาม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้

บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหมคะ? ชีวิตตามความเป็นจริง บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหม? ได้ ในขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นเป็นอะไร กุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่วิรัติทุจริต รักษาศีล ถ้าไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ก็จะมีการวิรัติทุจริตไม่ได้ ในขณะที่อบรมเจริญความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนา มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ไหมคะ ท่านผู้ฟังคงยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาหรืออารมณ์ของสมถภาวนาโดยละเอียด แต่ถ้าไม่ลืมหลักที่ว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็พอที่จะรู้ได้ว่า แม้สมถภาวนาก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ด้วย นอกจากสติปัฏฐานอย่างเดียว ที่ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ ก็ยังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ แต่การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม นั่นต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น จึงจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นไม่มีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าจะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ว่า “เจริญสติปัฏฐาน” ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถามอีกครั้งนะคะว่า ถูกหรือผิด ที่ว่า “เจริญสติปัฏฐาน” ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถูกหรือผิด ถูกค่ะ ก็ขออนุโมทนาที่มีความมั่นใจ แต่ ที่ว่า “เจริญสติปัฏฐาน” โดยไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ ถูกหรือผิด อย่าลืมนะคะ ที่ว่า “เจริญสติปัฏฐาน” โดยไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ ถูกหรือผิด ผิด เพราะว่าไม่ใช่ชีวิตตามความเป็นจริง ใครจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ได้ แต่ว่าปัญญาจะต้องอบรมจนเจริญ จนสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นเพราะจิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติ มิฉะนั้น บัญญัติจะเป็นอารมณ์ในขณะนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ยับยั้งไม่ให้คิดอะไรเลย หรือว่าไม่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยเห็น ที่เคยรู้ตามปกตินั้น ไม่ให้รู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เป็นเพราะจิตและเจตสิกเกิดขึ้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ รู้ว่าขณะใดที่จิตคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือนึกถึงคำ หรือความหมายของเสียงที่กำลังได้ยิน หรือนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นเป็นจิต ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยับยั้งจิตไม่ให้เกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมที่มีอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมได้ แต่ถ้าไปกั้นไว้ไม่ให้จิตรู้บัญญัติเกิดขึ้น แล้วใครจะห้ามได้ ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ความไม่รู้ ทำให้เข้าใจว่า จะไม่ให้จิตคิดนึก หรือว่าจะไม่ให้มีการรู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น ก็จะพิจารณาจากข้อปฏิบัติได้ว่า ถ้าข้อปฏิบัติใดไม่ใช่การอบรมให้ปัญญาเจริญที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ว่าให้เห็นสิ่งต่างๆ ผิดปกติไป ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ และไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การอบรมเจริญวิปัสสนา"
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย Witt  วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขอกราบเรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ

จาก Reply ของอาจารย์เผดิมที่กล่าวถึง คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์

"...เหมือนกับจิตตวิสุทธิ จะใช้คำว่า อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงขณิกสมาธิ แต่ความจริงวิปัสสนาทั้งหมดเป็นขณิกสมาธิ..."

ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ในความละเอียดในความหมายของประโยคดังกล่าวครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 23 พ.ค. 2563

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

จิตตวิสุทธิ การบริสุทธิ์ของจิตที่ปราศจากนิวรณ์ โดยนัย สมถภาวนา คือ การเจริญฌาน และนัยสูงสุด ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรม คือ วิปัสสนา ดังนั้น คนที่ไม่เข้าใจการเจริญอบรมปัญญาหนทางดับกิเลส เลยสำคัญว่า จิตตวิสุทธิ จะต้องเจริญฌานก่อน จึงทำวิปัสสนา ต้องได้สมาธิแนบแน่น แต่แท้ที่จริงแล้ว การเจริญวิปัสสนา คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะ แต่ละขณะ ไม่ใช่อยู่ในฌาน ที่เป็นความแนบแน่นของสมาธิยาวนาน แต่วิปัสสนารู้ลักษณะของธรรมแต่ละหนึ่ง เช่น ขณะที่รู้สี รู้ตรงลักษณะของสี ขณะนั้นมีสมาธิด้วย แต่ไม่ใช่ในสมาธิที่อยู่ในฌาน แต่เป็นชั่วขณะจิต จึงเป็นขณิกสมาธินั่นเองครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย Witt  วันที่ 23 พ.ค. 2563

ชัดเจนมากครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์เผดิม และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย lokiya  วันที่ 23 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 29 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ