คำถามเกี่ยวกับการศึกษาพระไตรปิฎก
โดย บ้านธัมมะ  23 เม.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 34115

ต้องการสนทนากับอาจารย์วิทยากรครับในประเด็นดังต่อไปนี้ครับ

1. พระไตรปิฎกฉบับไหนในปัจจุบันที่สมบูรณ์ที่สุดครับ ฉบับมหามกุฏ ฉบับมหาจุฬา ฉบับหลวง หรือ ฉบับสยามรัฐครับ

2. การศึกษาพระอภิธรรมปิฎก ควรศึกษาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะมาก่อนหรือไม่

ขอบคุณครับ
จากคุณธัญพิสิษฐ์



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 23 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. พระไตรปิฎกฉบับไหนในปัจจุบันที่สมบูรณ์ที่สุดครับ ฉบับมหามกุฏ ฉบับมหาจุฬา ฉบับหลวง หรือ ฉบับสยามรัฐครับ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสัจจธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ เมื่อเป็นความจริงก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย สัจจธรรมเป็นความจริงที่จะไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ทรงแสดงความจริงเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นหรือว่าต่อไปในภายหน้าอีกนานแสนนาน ความจริงนี้ก็ไม่เปลี่ยน นี้คือความหมายของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และผู้ที่ทรงแสดงสภาพธรรมได้ครบถ้วนโดยละเอียด ก็คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา แล้วก็มีการสืบต่อทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพระไตรปิฎก (คำสอน ๓ หมวดหมู่) คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งทั้งสามปิฎกนั้นมีคุณค่ามากมายมหาศาลหาอะไรเปรียบไม่ได้เลยถ้าได้ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ
พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา สำหรับเพศบรรพชิต บรรพชิต แตกต่างจากคฤหัสถ์มาก ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องนุ่งห่มเท่านั้นที่แสดงถึงความเป็นบรรพชิต แต่ต้องเป็นใจที่สามารถสละ ละความติดข้องในการอยู่ครองเรือน ละทรัพย์สมบัติทุกอย่างทุกประการมุ่งสู่เพศบรรพชิตเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาตามหนทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จนถึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่การอบรมเจริญปัญญาก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้เช่นเดียวกัน สำคัญที่ปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีพระอริยบุคคลมากมายที่เป็นคฤหัสถ์โดยที่ไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา หมอชีวกโกมารภัจจ์ จิตตคฤหบดี เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก เป็นพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ณ สถานที่ต่างๆ ทรงปรารภบุคคลต่างๆ ซึ่งทรงแสดงตามอัธยาศัยของผู้ฟังเป็นหลัก
พระอภิธรรมปิฎก ไม่มีชื่อของสัตว์ บุคคล แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง
เพราะฉะนั้น ความต่างกันของ ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบรรพชิต พระสุตตันตปิฎก เป็นข้อความธรรมที่มีสัตว์ บุคคลต่างๆ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น แต่เมื่อถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงโดยไม่ต้องมีชื่อของสัตว์บุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อสัตว์โลกเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาพระธรรมก็จะไม่ทราบถึงพระคุณเหล่านี้ของพระองค์ได้เลย
พระธรรม สืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ และสำหรับประเทศไทย พระไตรปิฎก มีการแปลเป็นภาษาไทย ครบถ้วน สามารถศึกษาได้ทุกฉบับ ทุกสำนวน แต่ฉบับที่มีอรรถกถา กล่าวคือ ฉบับที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย (ชุด ๙๑ เล่ม) จะเพิ่มพูนความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะมีคำอธิบาย จากแต่ละบทๆ ของพระพุทธพจน์ จะทำให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยอรรถกถา ครับ


2. การศึกษาพระอภิธรรมปิฎก ควรศึกษาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะมาก่อนหรือไม่

ส่วนใหญ่เวลาได้ยินคำว่า อภิธรรม แล้วกลัวว่าจะเรียนไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรม ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น สำคัญที่การเริ่มต้น ด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อย การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลส มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ซึ่งจะลืมจุดประสงค์นี้ไม่ได้ คือ อาศัยพระธรรมคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ เพื่อจะได้ขัดเกลาละคลายกิเลส ของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียด ลึกซึ้ง เพราะแสดงถึงความ จริงทั้งหมด ความจริงทั้งหมดนั้น ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม กล่าวคือ จิตทั้งหมดทุกประเภท เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต รูปทั้งหมด ล้วนเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ชีวิตประจำวันเป็นธรรมและสามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะ เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ สั่งสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ที่สำคัญไม่ควรประมาทพระธรรม ว่าง่าย ดังนั้น จึงต้องมีความอดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมต่อไป สำคัญที่เริ่มฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ยังไม่ได้ศึกษาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ มาก่อน ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมได้ เพราะจะทำให้เข้าใจว่า อภิธรรม จริงๆ ก็คือ ขณะนี้ เมื่อเห็นประโยชน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ก็ศึกษาเพิ่มเติมได้ทั้งจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ตลอดจนถึงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ด้วย ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ธรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในหนังสือตำรา

ไม่ได้อยู่ในตำรา

พระไตรปิฎกคืออะไร

อภิธรรมมัตถสังคหะ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 23 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 3    โดย Nataya  วันที่ 23 เม.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย สุธีนรังศิยา  วันที่ 30 เม.ย. 2564

ในความเห็นของข้าพเจ้า การศึกษาอภิธรรมปิฎก ถ้าได้ศึกษาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ก็จะทำให้มีพื้นฐานที่ดี ทีทำให้เข้าใจอภิธรรมปิฎกได้ง่ายขึ้น ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 30 เม.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

พระอภิธัมมัตสังคหะ

ปกรณ์ ๗ [ธรรมสังคณี]


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

พระไตรปิฎก ๙๑ เล่ม

การค้นหาข้อมูลจากพระไตรปิฎก