โทษภัยของชายไม่แท้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาคืออะไรเหรอครับ
โดย rawat16  15 ก.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 29908

จากที่ได้เห็นว่าสังคมไทยสมัยนี้ได้มีชายไม่แท้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ตามประเพณีที่ว่าชายใดอายุครบบวช ควรบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา แต่่จากที่ผมเองก็พอทราบว่าบวชไม่ได้ จึงขอเรียนถามให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า

สาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามการบวชของชายเหล่านี้ไว้

โทษภัยของผู้บวชเอง ครอบครัว ภิกษุที่บวชให้ ตลอดจนถึงพระพุทธศาสนา

ในเมื่อเขาเหล่านั้นบวชไม่ได้ เขาเหล่านั้นจะมีทางออกที่จะตอบแทนคุณบิดามารดา และการขัดเกลาจิตใจของตนเอง เช่นไร

ปล.คำถามนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่ ดูถูกแต่ประการใด แต่มีเจตนาเพื่อจะหาทางที่ถูกต้องของผู้ที่เข้าข่ายตลอดจนส่วนรวมเป็นสำคัญ _/_



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 15 ก.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงคำใด ประโยคใด ก็ต้องเข้าใจถึงคำนั้น แต่ละคำอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เข้าใจ ว่าคำนั้นจริงหรือไม่ครับ บวช คือ อะไร บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวช

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส นี่คือจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวชครับ ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวชครับ

"การบวชทดแทนพระคุณของมารดาบิดา" ไม่พบในพระไตรปิฎก มีแต่บวชเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ การบวช คือ อะไร เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ เป็นคฤหัสถ์ ดำรงตนอยู่ในพระธรรมคำสอน ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม พร้อมทั้งมีการอบรม เจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดีได้ (โดยไม่ต้องบวชถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้) ครับ บุญหรือกุศลเกิดขึ้นกับใครก็เป็นบุญของคนนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็น กุศลของคนนั้น ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ก็ไม่ใช่บุญในขณะนั้น กุศลหรือบุญไม่ใช่การที่อีกคนหนึ่งทำแล้ว คนที่อยู่ใกล้ชิดก็จะได้รับหรือเป็นบุญด้วย ใครทำใครก็ได้ครับ ใครกุศลจิตเกิดก็เป็นบุญของคนนั้นครับ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า การที่ให้บุตรบวชชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อบุตรบวชแล้ว บิดามารดาจะได้บุญ หากไม่มีความเข้าใจหรือกุศลจิตไม่เกิดก็ไม่ใช่บุญครับ

ดังนั้นการทดแทนคุณมารดา บิดา สามารถทำได้ ทั้งในเพศคฤหัสถ์และบรรพชิตตามฐานะอันสมควรของเพศนั้น แม้ คฤหัสถ์ ก็สามารถตอบแทนพระคุณมารดา บิดาได้ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน สิงคาลกสูตร

ดูก่อนบุตรคหบดี มารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรควรทะนุบำรุง ด้วย

สถาน ๕ คือ

๑. ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราจักเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น

๒. เราจักทำกิจของท่าน

๓. เราจักดำรงวงศ์ตระกูลไว้

๔. เราจักปฏิบัติตนเป็นผู้รับมรดก

๕. เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เราจักเพิ่มทักษิณาทานให้

ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ บิดามารดา มีพระคุณกับผู้เป็นบุตรหาประมาณมิได้ ท่านเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กลำบากมากมาย ผู้เป็นบุตร จึงควรตอบแทนพระคุณท่าน เพราะความเป็นผู้รู้คุณ เริ่มจากเดี๋ยวนี้ คือ ดูแลท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร การช่วยเหลืองานบ้านต่างๆ แทนที่ท่านจะทำ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระ ตามความสามารถของตนที่จะมีในเรื่องนั้นครับ

จักรับทำกิจของท่าน สิ่งใดที่เป็นงานของท่าน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน คือ การงานของท่าน หากเราพอมีความสามารถ แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นผู้ยินดี อาสาที่จะช่วยท่าน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เป็นบิดามารดา ที่มีภาระมาก และได้เลี้ยงดูเรามาครับ ไม่ใช่ว่าจะทำกิจของตน คือ เรียนหนังสือ หรือ ทำงานของตนเท่านั้น ครับ

จักดำรงวงศ์ตระกูล การดำรงวงศ์ตระกูลของบุตร คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีรักษาวงศ์ตระกูล เมื่อเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ย่อมรักษาทรัพย์สินเงินทองของบิดามารดา ไม่ทำให้ทรัพย์สินเงินทองของท่านให้พินาศ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะนั่นเป็นทรัพย์สมบัติของท่านที่หามาได้ด้วยแรงกายแรงใจของท่านครับ การไม่ตั้งใจเรียน เกเร ก็ย่อมชื่อว่าไม่รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อรักษาทรัพย์ได้ รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสม ตั้งใจเรียน ไม่เกเร ก็ชื่อว่ารักษาวงศ์ตระกูลได้ ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสียหาย ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินครับ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ก็ทำลายวงศ์ตระกุล ทั้งชื่อเสียง คำว่าร้ายจากคนอื่น ที่มีต่อ บิดามารดา และวงศ์ตระกูลเรา การรักษาวงศ์ตระกูลที่ประเสริฐสูงสุด คือ ให้บิดา มารดา ออกจากวงศ์ คือ อธรรม คือ ความไม่ดี ออกจากอกุศล มีความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในวงศ์คือ วงศ์ของธรรม วงศ์ของความดี ที่ถูกด้วยการให้ความเข้าใจพระธรรม ชื่อว่า เป็นบุตรที่ดำรงวงศ์ตระกูลไว้ได้อย่างสูงสุดครับ

จักปฏิบัติตน ให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก บุตรที่ทำตัวไม่ดี หรือ ไม่กตัญญูบิดามารดา ก็ไม่ชื่อว่าสมควรรับมรดกจาก บิดามารดา แต่การทำตนเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ไม่เกเร รู้จักใช้จ่าย เป็นต้น ชื่อว่าเป็นผู้สมควรรับมรดกจากมารดา บิดา ครับ

เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ผู้เป็นบุตรที่ดี คือ ต้องมีความกตัญญู รู้คุณของท่าน ไม่ว่าท่านจะมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว เพราะเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็คือ การทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้เพราะสัตว์ที่จากโลกนี้ไปแล้ว หากอยู่ในฐานะที่เป็นเปรต อาหารของสัตว์เหล่านั้น คือ การอุทิศส่วนกุศลของเหล่าญาติ ครับ

อย่าลืมให้ของขวัญท่าน ในทุกๆ ทางตามโอกาส เพียงทำให้ท่านแช่มชื่นและรู้ว่าเรายังนึกถึงพระคุณท่าน นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี และดีที่สุด คือ ความดีที่สมบูรณ์แบบ คือ ความดีที่เข้าใจพระธรรม มอบของขวัญให้กับแม่ และสิ่งที่ดีก็จะเกิดกับท่านเอง ไม่ใช่อะไร นั่นคือกุศลจิตที่เกิดในจิตใจ ที่มีความกตัญญู ครับ

ส่วนในพระไตรปิฎกส่วนอื่นก็แสดงถึงพระคุณของมารดา และการตอบแทนคุณของลูกดังนี้

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากพระไตรปิฎกได้ที่นี่ครับ

การบำรุงมารดาและบิดา [มาตุโปสกสูตร]

บิดามารดากระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร [สพรหมสูตร]

พึงปรนนิบัติท่านทั้งสอง [มาตุโปสกสูตร]

มารดาบิดาเสมือนพระอรหันต์ในบ้าน มีความหมายอย่างไร

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย rawat16  วันที่ 15 ก.ค. 2561

ขอบคุณครับ _/\_


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 15 ก.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
~ คนที่จะเป็นพระภิกษุ ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส แต่ว่าบวช เพราะอยากบวช อย่างนั้น ไม่มีความจริงใจ แต่ถ้าเป็นคนที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลส ย่อมรู้ตนเอง ว่า สามารถที่จะดำรงเพศบรรพชิตได้หรือไม่?
(อ้างอิงจากหัวข้อ ... ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่ควรฟัง)

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก การอบรมเจริญปัญญาไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ถ้าหากว่ามีความประสงค์จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว แม้จะอยู่ครองเรือนเป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรมได้ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี พร้อมกับอบรมเจริญปัญญา ได้ ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมาแล้วที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ว่าโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ถ้าหากเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ศึกษาเลย ไม่ต้องรีรอ แม้ยังเป็นเพศคฤหัสถ์ ดีกว่าไปบวชโดยไม่รู้ หรือ เพราะอยาก หรือแม้แต่ การทดแทนพระคุณของบิดามารดา
ก็ด้วยการเป็นคนดี ทำดี ดีกว่าบวชแล้วทำไม่ดี เพราะฉะนั้น บวชไปไม่ได้แทนคุณเพราะทำผิดพระวินัย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย rawat16  วันที่ 15 ก.ค. 2561

ขอบคุณครับ _/\_


ความคิดเห็น 5    โดย วิริยะ  วันที่ 16 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย kullawat  วันที่ 16 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย p.methanawingmai  วันที่ 17 ก.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ