ทำไมบวช ในเมื่อเป็นคฤหัสถ์ก็ศึกษาธรรมได้
โดย khampan.a  17 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40396

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๗๙]
ทำไมบวช ในเมื่อเป็นคฤหัสถ์ก็ศึกษาธรรมได้


ไม่ประมาทในการที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำของพระองค์กล่าวถึงสิ่งที่มีและลึกซึ้งที่จะค่อยๆ เข้าใจว่าถูกต้องไหม ตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าไม่พิจารณาไตร่ตรองคำของพระองค์เลยแล้วก็ทำตามโดยไม่เข้าใจ อย่างนั้นจะได้ประโยชน์อะไรจากคำที่พระองค์ได้ตรัสแล้ว เพราะได้ยินคำว่าบวช ไม่เข้าใจว่าไม่ใช่สำหรับทุกคน ไม่มีการบังคับ ไม่มีการชักชวน ไม่มีการไปตามใจคนโน้นคนนี้แล้วก็บวช แต่ว่าต้องเป็นผู้ตรง สัจจะตรงต่อความเป็นจริงสำคัญยิ่งที่จะรู้ว่าบวชคืออะไร แล้วสามารถที่จะบวชได้ไหม ถ้าเป็นคนตรงก็บอกคนที่อยากให้เราบวชเลย ว่าขอได้ฟังธรรมให้เข้าใจ ดีกว่าที่บวชแล้วไม่ได้ฟังธรรมจะให้เป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่รู้จักธรรมบวชแล้วจะรู้หรือว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่าการบวชคือการสละเพศคฤหัสถ์เพื่อจะศึกษาและประพฤติปฏิบัติอบรมค่อยๆ ละคลายความไม่รู้จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงและอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้ในเพศบรรพชิต เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เป็นพระ ก็ศึกษาได้ เพราะฉะนั้นลองถามผู้ที่จะบวชให้ตรงเลย เมื่อสามารถที่จะศึกษาเข้าใจธรรมในเพศคฤหัสถ์ได้แล้วทำไมจึงบวช จะได้เตือนให้คนนั้นพิจารณาไตร่ตรองว่าเป็นผู้ที่ตรงไหม ทำไมจึงบวช ในเมื่อสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ในเพศคฤหัสถ์

เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ถ้าบวชโดยไม่ได้เข้าใจธรรม เพียงแต่หวังจะบวช แต่ไม่รู้เลยว่าเพศบรรพชิตต่างกับคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิงทุกประการขัดเกลาอย่างยิ่งจึงเป็นเพศที่สูงส่งที่สามารถจะขัดเกลาความเป็นไปในชีวิตต่างจากคฤหัสถ์และก็เข้าใจคุณของการที่สละเพศคฤหัสถ์เพื่อที่จะได้ศึกษาธรรม ใช้เวลาทั้งหมด ซึ่งคฤหัสถ์ศึกษาธรรมจริง แต่เวลาสำหรับอย่างอื่นก็มี ทำอย่างนั้นก็มี ทำอย่างนี้ก็มี แต่ก็ไม่ขาดการศึกษาธรรม แต่เมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว สละเพศคฤหัสถ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเวลาทั้งหมดที่เคยทำอะไรในเพศคฤหัสถ์ ก็คือเวลาที่จะศึกษาความเข้าใจธรรม จนกระทั่งอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ขณะไหนก็ได้เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง แล้วแต่ปัจจัย (สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป)


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 18 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ