ลักษณะของทุกข์ - ความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์ ตอนที่ 9-11 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
โดย wittawat  3 พ.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30825

ถาม: เคยได้ยินว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ กรุณาอธิบายด้วย

อ.สุจินต์: สังขารธรรม (สิ่งที่มีจริงที่อาศัยการปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น) ทั้งหมดมีลักษณะของทุกข์ เพราะไม่เที่ยง และเพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ที่หลบภัยที่แท้จริง ไม่น่าปรารถนา จึงเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ทุกข์ไม่ใช่เพียงเฉพาะความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้นคนที่เชื่อว่าทุกข์เป็นเฉพาะความรู้สึกเจ็บ เมื่อเขารู้สึกเมื่อย และเปลี่ยนอิริยาบถใหม่เพื่อทีจะหายเมื่อย อิริยาบถใหม่ปกปิดทุกข์ แต่อิริยาบถใดจะปิดบังลักษณะของทุกข์ได้ถ้าผู้นั้นไม่อบรมเจริญปัญญา

สิ่งที่เราเข้าใจว่าร่างกายทั้งตัว หรืออิริยาบถท่าทาง แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปต่างๆ มากมายหลายรูปที่เกิดและดับ ไม่ว่าจะกำลังนั่ง นอน ยืน หรือเดิน มีรูปมากมายตลอดทั้งร่างกาย เกิดขึ้นและดับไป และรูปเหล่านี้ก็เป็น ทุกข์

คำอธิบายในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ[1] ความหมายของลักษณะทุกข์ หมายความว่าลักษณะของทุกข์ของนาม และรูปซึ่งเกิดขึ้น และประชุมกันเป็นอิริยาบถต่างๆ ถูกปกปิดไว้ ตราบเท่าที่ผู้นั้นถือว่าร่างกาย เป็นกลุ่มก้อน เป็นของเรา ลักษณะของทุกข์ก็จะถูกปกปิดตราบเท่าที่ผู้นั้นไม่รู้ลักษณะของทุกข์ของนาม 1 และรูป 1 ทีละขณะ เมื่อเกิดขึ้น และดับไป

เมื่อมีคนถามอีกคนหนึ่งที่เพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ว่าทุกข์ไหม เขาก็จะบอกว่าไม่ ถ้าเขายังสับสนว่าความรู้สึกเจ็บปวดเป็นทุกขอริยสัจ เขาจะเข้าใจได้อย่างไรว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์

ต้องมีทุกข์ มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ "ถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรม และรูปธรรม อิริยาบถทุกท่าทาง ไม่ว่าจะเจ็บปวดหรือไม่ ก็ปกปิดทุกขลักษณะ"

ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจนามและรูปตามความเป็นจริง เขาก็ยังเข้าใจผิดเรื่องของทุกข์ เขาอาจจะเข้าใจว่าเขารู้ความจริงของทุกข์เมื่อคิดถึงความรู้สึกเจ็บปวด ทุกขเวทนา ที่เกิดจากความเมื่อย ก่อนที่เขาเปลี่ยนท่าใหม่เพื่อคลายความเจ็บปวด เขาไม่สามารถที่จะรู้ได้ในความจริงของทุกข์ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ประจักษ์ชัดในลักษณะของความไม่ใช่่ตัวตนของนาม และรูป

ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาไม่รู้นามที่เห็นและสีที่ปรากฏทางตา นามที่ได้ยิน และเสียงที่ปรากฏทางหู นามที่ได้กลิ่นและกลิ่น นามที่ลิ้มรส และรส นามที่กระทบสัมผัสทางกาย และโผฏฐัพพารมณ์ นามซึ่งคิดนึก ความสุข ความทุกข์ และความจริงอื่นๆ ความจริงที่คิดที่จะเปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย ควรที่จะรู้ว่าเป็นนามประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นและจากนั้นก็ดับไป ถ้าไม่รู้เช่นนี้ ก็จะไม่สามารถเข้าใจทุกขลักษณะได้

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปรกติอบรมเจริญสติระลึกนามและรูปที่ปรากฏทีละหนึ่งตามความเป็นจริง ปัญญาสามารถที่จะเจริญขึ้นได้ตามลำดับขั้น เพื่อที่จะสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของทุกขอริยสัจได้

ข้อความนี้แปลจาก...The Characteristic of Dukkha - what is the meaning of postures conceal dukkha

คลิกเพื่ออ่านตอนอื่นๆ ...

ตอนที่ 1 - พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

ตอนที่ 2 - การอบรมเจริญวิปัสสนาเริ่มต้นได้อย่างไร

ตอนที่ 3 - นั่งทำสมาธิด้วยโยนิโสมนสิการได้อย่างไร

ตอนที่ 4 - ความต่างกันของรูป

ตอนที่ 5 - ความหมายของการศึกษาลักษณะ

ตอนที่ 6 - ปัญญาเจริญขึ้นได้ตามลำดับขั้น

ตอนที่ 7 - การยึดถือในขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ตอนที่ 8 - เราติดกับความคิดที่เป็นตัวตน

ตอนที่ 9 - ความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์

ตอนที่ 10 - ไปสู่ป่า และ สำนักปฏิบัติ

ตอนที่ 11 - ความเข้าใจเจริญขึ้นตามปรกติ

---------------------------------

[1] ข้อความนี้ปรากฏในวิสุทธิมรรค ภาค 3 ตอน 2 หน้า 126 (ฉบับมหามกุฏฯ) กล่าวถึงผู้ที่บำเพ็ญอุททยัพยญาน เพื่อรู้ชัดสามัญญลักษณะตามความเป็นจริง เนื่องด้วย

- อนิจจลักษณะ (มีความเกิด ความเสื่อม ความแปรไปของนามรูป) ไม่ปรากฏ เพราะถูกปิดบังไว้ด้วย สันตติ (การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสภาพธรรม ปรากฏเหมือนไม่ได้ดับไปเลย)

- ทุกขลักษณะ (ลักษณะที่บีบคั้นเป็นเนืองนิตย์ของนามรูป เพราะเกิดดับของนามรูป) ไม่ปรากฏ เพราะถูกปิดบังไว้ด้วยอิริยาบถ

- อนัตตลักษณะ (ลักษณะที่ไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร เพราะอาศัยปัจจัยจึงเกิด) ไม่ปรากฏ เพราะถูกปิดบังไว้ด้วยฆนะ (กลุ่มก้อน)