คตปัจจาคตวัตร
โดย วันชัย๒๕๐๔  18 พ.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16219

[เล่มที่ ๗๐] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๗๓

ก็วัตรอะไรที่ ชื่อว่า คตปัจจาคตวัตร. อธิบายว่า การนำไปและนำกลับมา.

ภิกษุในศาสนานี้ บางรูปนำไปแต่ไม่นำกลับ บางรูปนำกลับแต่ไม่นำไป บางรูปทั้ง ไม่นำไปทั้งไม่นำกลับ บางรูปนำไปด้วยนำกลับด้วย.

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดลุกขึ้นแต่เช้ามืด กระทำวัตร ที่ลานพระเจดีย์ และลานโพธิ์ รดน้ำที่ต้นโพธิ์ ทำหม้อน้ำดื่มให้เต็มแล้วตั้งไว้ในโรงน้ำดื่ม กระทำอาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร สมาทานขันธกวัตร ๘๒ และมหาวัตร ๑๔ ประพฤติอยู่. ภิกษุนั้นกระทำบริกรรมร่างกายแล้วเข้าสู่เสนาสนะ ยับยั้งอยู่ในที่นั่งอันสงัดจนถึงเวลาภิกขาจาร รู้เวลาแล้ว นุ่งสบง ผูกรัดประคด ห่มจีวรเฉวียงบ่า เอาสังฆาฏิพาดไหล่คล้องบาตรที่บ่า ใส่ใจถึงกรรมฐาน เดินไปลานพระเจดีย์ ไหว้พระเจดีย์ และต้นโพธิ์ แล้วห่มจีวรในที่ใกล้บ้าน แล้วถือบาตรเข้าบ้านไปบิณฑบาต ก็ภิกษุผู้เข้าไปแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มีลาภ มีบุญ อันพวกอุบาสกอุบาสิกาสักการะเคารพ กลับมาที่ตระกูลของอุปัฏฐากหรือโรงเป็นที่กลับ ถูกพวกอุบาสกและอุบาสิกาถามปัญหานั้นๆ อยู่ ย่อมละทิ้งมนสิการนั้นแล้วออกไป เพราะตอบปัญหาของอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น และเพราะความฟุ้งซ่านอันเกิดจากการแสดงธรรม แม้มายังวิหาร ถูกพวกภิกษุถามปัญหา ก็จะต้องตอบปัญหา กล่าวธรรมะ และถึงการขวนขวายนั้นๆ จะชักช้าอยู่กับภิกษุเหล่านั้นด้วยประการอย่างนี้ตลอดทั้งเวลาหลังภัตทั้งปฐมยาม และมัชฌิมยาม ถูกความชั่วหยาบทางกายครอบงำ แม้ในตอนปัจฉิมยามก็จะนอนเสีย, ไม่ใส่ใจถึงกรรมฐาน. ภิกษุนี้เรียกว่า นำไป แต่ไม่นำกลับมา.

ส่วนภิกษุใดเป็นผู้มีความป่วยไข้ มากมาย ฉันภัตตาหารแล้วในเวลาใกล้รุ่ง ก็ยังย่อยไม่เรียบร้อย ในเวลาเช้ามืด ไม่อาจลุกขึ้นกระทำวัตรตามที่กล่าวได้ หรือไม่อาจมนสิการกรรมฐานได้ โดยที่แท้ต้องการยาคูของเคี้ยวเภสัชหรือภัต พอได้เวลาเท่านั้น ก็ถือบาตรและจีวรเข้าบ้านได้ยาคูของเคี้ยวเภสัชหรือภัตในบ้านนั้นแล้ว นำบาตรออกมา ทำภัตกิจให้เสร็จแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ กระทำไว้ในใจซึ่งพระกรรมฐานจะบรรลุคุณวิเศษหรือไม่ก็ตาม กลับมายังวิหารแล้วอยู่ด้วยมนสิการนั้น นั่นแหละ ภิกษุนี้เรียกว่า นำกลับมาแต่ไม่ได้นำไป.

ส่วนภิกษุใด เป็นผู้มักอยู่ด้วยความประมาท ทอดธุระ ทำลายวัตรทั้งปวงเสีย มีจิตถูกผูกด้วยเครื่องผูกดุจตะปู ตรึงใจ ๕ อย่างอยู่ ไม่หมั่นประกอบมนสิการกรรมฐาน เข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน ก็เนิ่นช้าด้วยการกล่าวกับพวกคฤหัสถ์ เป็นคนเปล่าๆ ออกมา ภิกษุนี้เรียกว่า ไม่นำไปทั้งไม่นำกลับมา. ฯลฯ

ภิกษุมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานเท่านั้น เหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมัณฑปะและเหมือนภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในกลัมพติตถวิหาร ด้วยประการอย่างนี้ ย่างเท้าไปใกล้บ้านจึงอมน้ำ กำหนดถนนในถนนใดไม่มีคนก่อการทะเลาะมีนักเลงสุราเป็นต้น หรือ ช้างดุ ม้าดุเป็นต้น จึงดำเนินไปตามถนนนั้น. และ เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปในถนนนั้นก็รีบร้อนไปโดยรวดเร็ว.

ชื่อ ว่าธุดงค์ของภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตโดยรวดเร็วเป็นวัตรย่อมไม่มี. อนึ่ง ไปถึงภูมิภาคอันไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นผู้นิ่งเดินไปเหมือน เกวียนเต็มน้ำ และเข้าไปตามลำดับบ้านเพื่อที่จะกำหนดผู้ใคร่จะให้หรือไม่ให้ จึงรอเวลาอันเหมาะสมแก่กิจนั้น รับภิกษาได้แล้วนั่งอยู่ในโอกาสอันสมควร เมื่อมนสิการกรรมฐาน จึงเข้าไปยังความสำคัญว่าปฏิกูลในอาหารพิจารณาโดยเปรียบด้วยน้ำมันหยอด เพลา ทายาแผล และเนื้อของบุตร บริโภคอาหารอันประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา ฯลฯ และบริโภคแล้วทำกิจด้วยน้ำ บรรเทาความลำบากเพราะภัตครู่หนึ่ง แล้วกระทำไว้ในใจถึงกรรมฐาน ตลอดกาลภายหลังภัต ตลอดยามแรกและยามสุดท้าย เหมือนกาลก่อนภัต. ภิกษุนี้ เรียกว่า นำไปและนำกลับมาด้วย.

การนำไปและนำกลับมานี้ด้วยประการอย่างนี้ เรียกว่าคตปัจจาคตวัตร.



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น