ภิกษุไม่ควรทำยาแก่ชนอื่นแต่ควรทำให้สหธรรมิกทั้ง ๕
โดย orawan.c  29 ส.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 13397

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๓๑

[ภิกษุไม่ควรทำยาแก่ชนอื่นแต่ควรทำให้สหธรรมิกทั้ง ๕]

เพราะฉะนั้น ภิกษุไม่ควรทำเภสัชแก่ชนอื่นผู้มาแล้วๆ เมื่อทำ ต้องอาบัติทุกกฏ แต่ควรทำให้แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานาสามเณร สามเณรี จริงอยู่ สหธรรมิกทั้ง ๕ เหล่านั้นเป็นผู้มีศีล ศรัทธาและปัญญาเสมอกัน ทั้งประกอบในไตรสิกขาด้วย ภิกษุจะไม่ทำเภสัชให้ย่อมไม่ได้ และเมื่อจะทำ ถ้าสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้นมีอยู่ พึงถือเอาสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้น ปรุงให้ ถ้าไม่มี ควรเอาของๆ ตนทำให้ ถ้าแม้ของๆ ตนก็ไม่มี พึงแสวงหาด้วยภิกขาจารวัตร หรือจากที่แห่งญาติและคนปวารณา (ของตน) เมื่อไม่ได้ ควรนำสิ่งของมาทำให้ แม้ด้วยการไม่ทำวิญญัติ (คือขอในที่ๆ เขาไม่ได้ทำปวารณาไว้) เพื่อประโยชน์แก่คนไข้ ควรทำยาให้แก่คนนี้ ๕ จำพวก แม้อื่นอีกคือ มารดา ๑ บิดา ๑ คนบำรุงมารดาบิดานั้น ๑ ไวยาจักรของตน ๑ คนปัณฑุปลาส ๑ คนผู้ที่ชื่อว่าปัณฑุ-ปลาส ได้แก่ คนผู้เพ่งบรรพชา ยังอยู่ในวิหารตลอดเวลาที่ยังตระเตรียมบาตรและจีวร บรรดาชน ๕ จำพวกเหล่านั้น

ถ้ามารดาและบิดาเป็นใหญ่ ไม่หวังตอบแทนไซร้ จะไม่ทำให้ก็ดีควร แต่ถ้าท่านทั้ง ๒ ดำรงอยู่ในราชสมบัติยังหวังตอบแทนอยู่ จะไม่ทำ ไม่ควร เมื่อท่านทั้ง ๒ หวังเภสัช ควรให้เภสัช เมื่อท่านทั้ง ๒ ไม่รู้วิธีประกอบยาควรประกอบยาให้ ควรแสวงหาเภสัชเพื่อประโยชน์แก่ชน ๕ จำพวก มีมารดาเป็นต้นแม้ทั้งหมด โดยนัยดังที่กล่าวแล้วในสหธรรมิกนั่นแล ก็ถ้าภิกษุนำมารดามาปรนนิบัติอยู่ในวิหาร อย่าถูกต้องพึงบริกรรมทุกอย่าง พึงให้ของเคี้ยว ของบริโภคด้วยมือตนเอง ส่วนบิดาพึงบำรุงทำกิจทั้งหลาย มีการให้อาบน้ำและการนวด เป็นต้น ด้วยมือตนเอง เหมือนอย่างสามเณร ฉะนั้น ชนเหล่าใดย่อมบำรุงประคับประคองมารดาและบิดา ภิกษุควรทำเภสัช แม้แก่ชนเหล่านั้น อย่างนั้นเหมือนกัน คนผู้ที่ชื่อว่า ไวยาจักร ได้แก่ ผู้รับเอาค่าจ้างแล้ว ตัดฟืนในป่า หรือทำการงานอะไรๆ อย่างอื่น เมื่อเกิดเป็นโรคขึ้นแก่เขา ภิกษุควรทำเภสัชให้จนกว่าพวกญาติจะพบเห็น ส่วนผู้ใดเป็นเพียงคนอาศัยภิกษุ ทำการงานทุกอย่าง ภิกษุควรทำเภสัชให้แก่คนคนนั้นเหมือนกัน แม้ในปัณฑุปลาสก็ควรปฏิบัติเหมือนในสามเณร ฉะนั้น

[ภิกษุควรทำยาให้คน ๑๐ จำพวก]

ภิกษุควรทำยาให้แก่ชน ๑๐ จำพวก แม้อื่นอีกคือ พี่ชาย ๑ น้องชาย ๑ พี่หญิง ๑ น้องหญิง ๑ น้าหญิง ๑ ป้า ๑ อาชาย ๑ ลุง ๑ อาหญิง ๑ น้าชาย ๑ ก็เมื่อจะทำให้แก่ชนมีพี่ชาย เป็นต้นนั้น แม้ทั้งหมด ควรเอาเภสัชอันเป็นของๆ คนเหล่านั้นนั่นแล ปรุงให้อย่างเดียว แต่ถ้าสิ่งของๆ ชนเหล่านั้นไม่เพียงพอ และชนเหล่านั้นก็ขอร้องอยู่ว่า ท่านขอรับ โปรดให้พวกกระผมเถิด พวกกระผมจักถวายคืนแก่พระคุณท่าน ควรให้เป็นของยืม ถึงหากพวกเขาไม่ขอร้อง ภิกษุควรพูดว่า อาตมามีเภสัชอยู่ พวกท่านจงถือเอาเป็นของยืมเถิด หรือควรทำความผูกใจไว้ว่า สิ่งของๆ ชนเหล่านั้นจักมีเมื่อใด เขาจักให้เมื่อนั้น ดังนี้ แล้วพึงให้ไป ถ้าเขาคืนให้ควรรับเอา ถ้าไม่คืนให้ ไม่ควรทวง เว้นญาติ ๑๐ จำพวกเหล่านั้นเสีย ไม่ควรให้เภสัช ฯลฯ