น้ำปานะที่ถูกต้อง
โดย เจริญในธรรม  11 เม.ย. 2562
หัวข้อหมายเลข 30637

ผมเคยอ่านลิ้งในที่เวปนี้ มีความสงสัย อยากถามท่านผู้รู้ดังนี้ครับ

1.สุกด้วยพระอาทิตย์ควร คืออย่างไร ครับ

2.ตัวอย่างน้ำ เช่น เก๊กฮวย กระเจี๊ยบ ผ่นการเอาดอกไปต้มน้ำ ก็ไม่ใช่น้ำปานะ ใช่ไหม ครับ ผมเข้าใจถูกไหม ครับ

3.ผลมะขามป้อมดอง เห็นพระท่านเอามาจิ้มเกลือฉัน ตอนหลังเที่ยง อาบัติหรือไม่ครับ

ขอบคุณมากครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 12 เม.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
น้ำปานะ คือ น้ำผลไม้ที่ทรงอนุญาตไว้ มี ๘ ชนิด กล่าวคือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑ และอื่นๆ ตามสมควร เมื่อคั้นเอาเฉพาะน้ำกรองไม่ให้มีกาก พระภิกษุรับประเคนแล้วฉันได้ตลอดวันและคืนหนึ่ง
๑. ต้องเข้าใจว่า พระภิกษุเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง จะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ จะมาก่อไฟ หุงต้มอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ นั้น ซึ่งแสดงถึงชีวิตของคฤหัสถ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต สำหรับการทำน้ำปานะ ที่สุกด้วยแสงอาทิตย์ หมายถึง เอาน้ำปานะ ไปตากแดด เพราะเหตุว่าแดดที่แรงซึ่งมีความร้อน ย่อมทำให้น้ำดังกล่าวสุกได้ ไม่ต้องประกอบกิจการมากเหมือนอย่างคฤหัสถ์ น้ำปานะอย่างนี้ สมควรแก่พระภิกษุ ไม่ต้องอาบัติในส่วนนี้ ครับ

๒. สิ่งที่กล่าวถึง ถ้าถวายพระภิกษุ ในเวลาเช้าชั่วเที่ยง ท่านสามารถดื่มได้ แต่ถ้าหลังเที่ยงไปแล้ว ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่น้ำปานะ ตามพระวินัย ครับ
๓. ข้อความในพระวินัยปิฎก มีว่า สมอ มะขามป้อม เป็นผลไม้ที่เป็นเภสัช (ยา) ภิกษุรับประเคนแล้ว สามารถบริโภคได้ตลอดชีวิต แต่ต้องบริโภคเมื่อมีเหตุ คือ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้าบริโภค โดยไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ก็มีโทษ คือ เป็นอาบัติทุกกฏ ก็ขอให้พิจารณาอย่างนี้ ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ