เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง
โดย บ้านธัมมะ  16 พ.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 10397

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 659

เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง

แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไปหย่อน (ไปกว่านั้น) ? เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์. อธิบายว่า บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พวกตัณหาจริต พวกทิฏฐิจริต พวกสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ (แยก) เป็นพวกละ ๒ ตามอ่อนและแก่กล้า ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนา-สติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีตัณหาจริตแก่กล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ละเอียด เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์.แม้ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสสนาสติปักฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกไม่มากนักเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งวิสุทธิ. และสติปัฏฐานข้อแรกที่มีนิมิตจะที่พึงประสบได้ไม่ยาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของสมถยานิกบุคคลประเภทยังอ่อน. ข้อที่ ๒ เป็นทางแห่งวิสุทธิสมถยานิกบุคคลประเภทแก่กล้า. เพราะท่านดำรงอยู่ได้ไม่มั่นคงในอารมณ์ที่หยาบ. ข้อที่ ๓ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปไม่มากนัก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แม้ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน. ข้อที่ ๔ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า. สติปัฏฐานจึงตรัสไว้ ๔อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน ด้วยประการดังที่พรรณนามาน ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง (ที่ทรงแสดงไว้ ๔ อย่างเท่านั้น) เพื่อละวิปลาสคือความงาม ความสุข ความเที่ยง และความเป็นตน. ความจริง กายเป็นของไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในกายนั้นว่างามสติปัฏฐานข้อที่ ๑ ตรัสไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละสุภวิปลาสนั้น ด้วยการเห็นว่าไม่งามในกายนั้น. และในเวทนาเป็นต้น แม้ที่สัตว์ทั้งหลายยึดถือว่า เป็นสุข เที่ยง เป็นอัตตา (ก็มีนัยนี้คือ) เวทนา เป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่สัตว์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในเวทนา จิต และธรรมเหล่านั้นว่า เป็นสุข เที่ยงและเป็นอัตตา ตรัส ๓ อย่างที่เหลือไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละวิปลาสที่เหลือเหล่านั้น ด้วยการเห็นเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นว่า เป็นทุกข์เป็นต้น ดังนี้. เมื่อเป็นเช่นนี้ สติปัฏฐาน ก็ควรเข้าใจไว้ว่า พระองค์ตรัสไว้๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน (ไปกว่านี้) ก็เพื่อให้ละสุภวิปลาสสุขวิปลาส นิจจวิปลาส และอัตตวิปลาส. และไม่ใช่เพียงตรัสไว้เพื่อให้ละวิปลาสอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรเข้าใจไว้ว่า ตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้นก็เพื่อให้ละโอฆะ ๔ โยคะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ และอุปทานทั้ง ๔ และอคติ ๔ ด้วย เพื่อให้กำหนดรู้อาหารทั้ง ๔ ด้วย. นี้เป็นนัยตามปกรณ์ก่อน.



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 16 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย คุณ  วันที่ 26 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ