กราบเรียนถาม เรื่องจิต
โดย terawat  8 มี.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 3005

ผมได้ดาวน์โหลด เสียงบรรยายธรรม ของอาจารย์ สุจินต์ ไปฟังแล้ว ไม่เข้าหลายเรื่องจะทยอยสอบถามเรื่อยๆ ไป กราบขอความกรุณา ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ จิตเป็นของที่ เกิด-ตั้งอยู่-ดับ เจตสิก ก็คือ สิ่งที่เกิด-ตั้งอยู่-ดับ พร้อมจิต เช่นกัน

คำถาม

1. จิตทุกจิต มีเจตสิก เกิดพร้อม ทุกครั้งหรือไม่ เพราะเหตุใด

2. เพราะเจตสิกต่างๆ กัน ที่เกิดกับจิต จึงทำให้จิตมีชื่อเรียก ต่างๆ กัน (ในคำบรรยาย อาจารย์)

3. จิต 1 จิต สามารถมีเจตสิก เกิดซ้อนกันได้มากกว่า 1 เจตสิก หรือไม่ ถ้าได้มากที่สุดได้กี่เจตสิก กราบขออภัย หากจะเป็นคำถามที่ไม่น่าถาม เพราะผมเพิ่งเริ่มสนใจ และ ศึกษาพระอภิธรรมด้วยตนเอง



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 8 มี.ค. 2550

๑. จิตทุกดวงต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอทุกครั้งตามสมควร อย่างน้อย ๗ ประเภท เพราะจิตและเจตสิกเป็นธรรมที่ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิก จิตเกิดขึ้นไม่ได้

๒. เพราะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต จิตประเภทนั้น จึงมีชื่อว่าอกุศลจิต เพราะโสภณ เจตสิกเกิดร่วมกับจิต จิตนั้นจึงมีชื่อว่า โสภณจิต ฉะนั้น จิตจึงต่างกันหลายประเภท เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมดัวย (สัมปยุตธรรม)

๓. จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท จำนวนเจตสิกที่เกิด มากที่สุดในมหากุศลประมาณ ๓๘ ประเภท (โดยรวม)


ความคิดเห็น 2    โดย อิคิว  วันที่ 8 มี.ค. 2550
ขออนุโมทนา สาธุ

ความคิดเห็น 3    โดย devout  วันที่ 8 มี.ค. 2550

ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะคะ...

๑. จิตและเจตสิกเป็นสัมปยุตธรรม คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกเกิดที่รูปเดียวกัน คือ จักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท และหทยวัตถุ

๒. เพราะเจตสิกต่างๆ กันที่เกิดกับจิต จึงทำให้จิตมีชื่อเรียก ต่างๆ กัน เช่น

- โลภมูลจิต โทสะมูลจิต โมหมูลจิต

- กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต

- อกุศลจิต โสภณจิต อเหตุกจิต

๓. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ได้แก่ ผัสสะ เจตนา สัญญา เวทนา เอกัคคตา มนสิการ และชีวิตินดริยเจตสิก

ขออนุโมทนา ที่ท่านเห็นประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรม ศึกษาไปเรื่อยๆ อย่าท้อถอยนะคะ ขณะเดียวกัน ก็หมั่นพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 8 มี.ค. 2550

จิตหมายถึงสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ จิตทั้งหมดมี 89 หรือ 121 เจตสิกมี 52 ดวง ความโกรธ ความเมตตา ความโลภ ความหลง พวกนี้เป็นเจตสิกที่เกิด กับจิต จิตก็ยังแบ่งออกเป็น 4 ชาติ ชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ที่เราศึกษา อภิธรรมจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นว่าธรรมะทั้งหลายไม่ใช่สัตว์บุคคล มีปัจจัยหลาย อย่างปรุงแต่งให้จิตและเจตสิกเกิดแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็มีธรรมะอื่นเกิด อีกแล้วก็ดับอีก เราก็เรียนรู้ชื่อ แต่ปัญญายังไม่สามารถรู้การเกิดดับจนกว่าเราจะมี สัญญาที่มั่นในสภาพธรรมว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน