ทานบารมี - การให้ทานของพระโพธิสัตว์ ตอนที่ 7-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
โดย wittawat  28 พ.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30892

ควรที่จะอบรมเจริญบารมีพร้อมทั้งสติปัฏฐานทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป พระโพธิสัตว์ได้อบรมเจริญบารมีนับชาติไม่ได้จนกระทั่งมีกำลังของบารมีหาผู้เปรียบเทียบไม่ได้ ท่านสะสมอบรมทานบารมีพร้อมด้วยปัญญาและคุณความดีประการอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งพร้อมกันเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง 4 เมื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การสะสมของทานบารมีและบารมีอื่นๆ ทั้งหมดนำมาซึ่งผลนี้ ข้อความต่อไปเกี่ยวกับการสะสมทานบารมีของพระโพธิสัตว์ ([เล่มที่ 74] ขุททกนิกาย จริยาปิฎก หน้า 622)

"อนึ่ง พระมหาบุรุษเมื่อให้อามิสทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมให้ทานข้าว ด้วยตั้งใจว่า เราพึงยังสมบัติมีอายุ วรรณ (รูปร่างงาม) สุข พล (แข็งแรง) ปฏิภาณ (มีความฉลาด) เป็นต้น และสมบัติคือผลเลิศน่ารื่นรมย์ให้สําเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยทานนี้ (ความสุขที่ปราศจากกิเลสอันเป็นผลอันเลิศ) . อนึ่ง ให้น้ำเพื่อระงับความกระหายคือกามกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย. ให้ผ้าเพื่อให้ผิวพรรณงาม และเพื่อให้สําเร็จเครื่องประดับคือหิริโอตตัปปะ. ให้ยานเพื่อให้สําเร็จอิทธิวิธี คือการแสดงฤทธิได้ และนิพพานสุข. ให้ของหอม เพื่อให้สําเร็จความหอมคือศีล. ให้ดอกไม้และเครื่องลูบไล้เพื่อให้สําเร็จความงามด้วยพุทธคุณ ให้อาสนะเพื่อให้สําเร็จอาสนะ ณ โพธิมณฑล ให้ที่นอนเพื่อให้สําเร็จตถาคตไสยา คือนอนแบบพระตถาคต ให้ที่พักเพื่อให้สําเร็จความเป็นสรณะ ให้ประทีปเพื่อให้ได้ปัญจจักขุ[1] ให้รูปเป็นทานเพื่อให้สําเร็จรัศมีออกจากกายวาหนึ่ง. ให้เสียงเป็นทานเพื่อให้สําเร็จเสียงดุจเสียงพรหม. ให้รสเป็นทานเพื่อเป็นที่รักของโลกทั้งปวง. ให้โผฏฐัพพะเป็นทานเพื่อความเป็นพุทธสุขุมาล คือความละเอียดอ่อนของพระพุทธเจ้า. ให้เภสัชเป็นทานเพื่อความไม่แก่ไม่ตาย (หมายถึง นิพพาน) . ให้ความเป็นไทแก่ทาสทั้งหลายเพื่อปลดเปลื้องความเป็นทาสคือกิเลส. ให้ความยินดีในของเล่นที่ไม่มีโทษเป็นทานเพื่อความยินดีในพระสัทธรรม. ให้บุตรเป็นทานเพื่อนําสัตว์ทั้งหมดออกไปจากความเป็นบุตรของตนในชาติเป็นอริยะ [2]. ให้ภรรยาเป็นทานเพื่อถึงความเป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสิ้น. ให้ทองแก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬเป็นต้น เป็นทานเพื่อความสมบูรณ์ด้วยลักษณะงาม. ให้เครื่องประดับนานาชนิดเป็นทานเพื่อความสมบูรณ์แห่งอนุพยัญชนะ. ให้คลังสมบัติเป็นทานเพื่อบรรลุพระสัทธรรม. ให้ราชสมบัติเป็นทานเพื่อความเป็นพระธรรมราชา. ให้ (อาราม) สวน สระ ป่า เป็นทานเพื่อความสมบูรณ์แห่งฌาน เป็นต้น ให้เท้าเป็นทานเพื่อก้าวไปสู่รัศมีโพธิมณฑลด้วยเท้ามีรอยจักร. ให้มือเป็นทานเพื่อให้มือคือพระสัทธรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย เพื่อถอนออกจากโอฆะ ๔. ให้หูและจมูกเป็นทานเพื่อได้อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น. ให้จักษุเป็นทานเพื่อให้สมันตจักขุ คือจักษุโดยรอบ [1]. ให้เนื้อและเลือดเป็นทานด้วยหวังว่า จะนําประโยชน์สุขมาให้แก่สรรพสัตว์ตลอดกาลทั้งปวง ในการเห็น การฟัง การระลึกถึง การบําเรอเป็นต้น. และกายของเราพึงเป็นกายอันโลกทั้งปวงพึงเข้าไปอาศัย. ให้อวัยวะสูงที่สุด (ศรีษะ) เป็นทานด้วยหวังว่าเราจะพึงเป็นผู้สูงที่สุดในโลกทั้งปวง."

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Generosity - The gifts of Bodhisatta

------------------
[1] ปัญจจักขุ หมายถึง ตา 5 ประเภท ปรากฏในคัมภีร์ดังนี้
'ปัญญาจักษุ 5' จาก ขุททกนิกาย [เล่มที่ 68] ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ หน้าที่ 214
'ญานจักษุ 5' พระสุตตันตปิฎก [เล่มที่ 28] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้าที่ 3
ได้แก่ พุทธจักษุ ๑, สมันตจักษุ ๑, ญาณจักษุ ๑ (บางครั้งชื่อ ปัญญาจักษุ) , ทิพยจักษุ ๑, ธรรมจักษุ ๑.
พุทธจักษุ ได้แก่ อาสยานุสยญาณ (ปัญญาที่รู้อาสยะ และอนุสัยของสัตว์ต่างๆ กันตามเป็นจริง) และอินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปัญญาที่รู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ 5 ของสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริง) ซึ่งมาในพระบาลีว่าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ
เป็นญานที่ปรากฏในทศพลญานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [เล่มที่ 38] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้าที่ 56 และ หน้าที่ 67
สมันตจักษุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ [เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 161
ญานจักษุ ได้แก่ ญาณในการกำหนดสัจจะ ๔
ทิพยจักษุ ได้แก่ ญาณที่เกิดขึ้นด้วยการขยายอาโลกกสิณ
ธรรมจักษุ ได้แก่ มรรคจิต ๓ ผลจิต ๓ (เบื้องต่ำ ตั้งแต่โสตาปัตติมรรค ถึงอนาคามิผล)

[2] เล่มภาษาอังกฤษ แปลว่า เลี้ยงดูสัตว์ทั้งหลายดุจดังบุตรของท่านโดยการมอบการเกิดโดยความเป็นพระอริยบุคคล