ปปัญจธรรม
โดย nattawan  24 ก.พ. 2558
หัวข้อหมายเลข 26219

กรุณาอธิบาย "ปปัญจธรรม" ค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปปัญจธรรม คือ กิเลสอันเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ที่ทำให้ สังสารวัฏฏ์ ยาวนานมากขึ้น โดยมากทรงแสดงไว้ ๓ ประเภท คือ ตัณหา (โลภะ) มานะ ทิฏฐิ

ตัณหา จึงเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้ปัญญาไม่เจริญขึ้น หรือ แม้แต่ผู้ได้ยินได้ฟังธรรมมาบ้าง แต่เป็นผู้มีความหวัง มีความต้องการที่จะให้ได้ผลโดยเร็วจากการศึกษาพระธรรม นี่ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าด้วยเช่นกัน

มานะ (ความสำคัญตน) เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้าอีกประการหนึ่ง ไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าเมื่อมีความสำคัญตน ย่อมไม่เข้าไปสอบถาม ไม่เข้าไปสนทนาธรรมกับท่านผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ทำให้เป็นผู้หมดโอกาสในการเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นธรรมเครื่องช้า ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา

ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์) ทำให้เป็นผู้มีความเห็นผิดประการต่างๆ มีการยึดถือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ซึ่งไม่เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะมีความเห็นผิด มีการยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรม ย่อมมีไม่ได้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 24

สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีในความเนิ่นช้านั้น เพราะฉะนั้น ความเนิ่นช้านั้น จึงชื่อว่า อาราโม เป็นที่มายินดี. ความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดีของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปปญฺจาราโม แปลว่าผู้มีความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี. ความยินดีในความเนิ่นช้าของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปปญฺจรตี ผู้ยินดีในความเนิ่นช้า. บทว่า ปปญฺโจ นั้น เป็นชื่อของตัณหา ทิฏฐิ และมานะอันเป็นไปแล้วโดยความเป็นอาการของผู้มัวเมาและผู้ประมาทแล้ว.


ถ้าหากว่าในแต่ละวัน ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมทำให้เป็นผู้เหินห่างจากการฟังพระธรรม ไม่ได้ไตร่ตรองพิจารณาถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ตัณหา หรือโลภะ จึงเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้ปัญญาไม่เจริญขึ้น หรือ แม้แต่ผู้ได้ยินได้ฟังพระธรรมมาบ้าง แต่เป็นผู้มีความหวัง มีความต้องการที่จะให้ได้ผลโดยเร็วจากการศึกษาพระธรรม อยากให้สติเกิดอยากให้ปัญญาเกิด นี่ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าด้วยเช่นกัน เพราะความอยาก ความต้องการเป็นอกุศลธรรม

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๘

เบาสบายด้วยความเข้าใจในพระธรรม เข้าใจว่าอย่างไร เข้าใจว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา ไม่มีเราไปบังคับจัดการได้ ความเข้าใจหรือปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะปรุงแต่งทีละเล็กละน้อย ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจเพราะเป็นหน้าที่ของธรรม ไม่ใช่เรา เข้าใจน้อยก็เข้าใจน้อย เป็นผู้ตรงเพราะเพิ่งเริ่มสะสม เมื่อเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เราแล้ว จะรู้เมื่อไหร่ มากหรือน้อยก็เป็นหน้าที่ของธรรมที่ทำหน้าที่ ก็เบาเพราะเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น รู้หรือไม่รู้ แต่อบรมได้ แต่ใช้เวลานาน ดังคำกล่าวที่ว่า พืชที่เจริญเติบโตช้าที่สุดคือ ปัญญา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

วันนี้รู้จักเครื่องเนิ่นช้าหรือยัง

ธรรมเครื่องเนิ่นช้า [ภูตเถรคาถา]

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย nattawan  วันที่ 24 ก.พ. 2558

กิเลสทั้งหมดเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้าใช่หรือไม่คะ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 24 ก.พ. 2558

โดยตรง มุ่งหมายถึง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ทำให้เป็นเครื่องเนิ่นช้าโดยตรง โดยเฉพาะการบรรลุธรรม แต่ กิเลสอื่นๆ ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าได้ ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่สามารถทำให้รู้ความรู้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว อกุศลธรรมทั้งหลาย มีโลภะ เป็นต้น เป็นเครื่องเนิ่นช้า หมายความว่า ทำให้สัตว์โลกท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ต่อไป เป็นการทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวออกไปอีก เพราะฉะนั้นแล้ว หนทางที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมเหล่านี้ ก็ไม่พ้นไปจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย nattawan  วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย เมตตา  วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 28 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย wannee.s  วันที่ 6 มี.ค. 2558

"ปปัญจธรรม" ธรรมะที่หลอกลวง ยังมีกิเลสก็สำคัญว่าไม่มีกิเลส ฯลฯ ค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย Jarunee.A  วันที่ 28 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ