พระพุทธพจน์ [มหาวิภังค์]
โดย JANYAPINPARD  7 พ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 12275

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๐

พระพุทธพจน์มีจำนวนต่างๆ กัน

พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมดนี้นั้น พึงทราบว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรสมี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัยมี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปฐมะ มัชฌิมะ ปัจฉิมะ อนึ่งมี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปิฎกมี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจนิกายมี ๙ อย่าง ด้วยอำนาจองค์มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจพระธรรมขันธ์.

พระพุทธพจน์มีอย่างเดียว

พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรสอย่างไร คือ ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจนถึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างนี้ทรงพร่ำสอนเทวดามนุษย์ นาคและยักษ์ หรือทรงพิจารณาตลอดเวลา ๔๕ ปี ได้ตรัสพระพุทธพจน์ใดไว้ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดมีรสอย่างเดียว คือมีวิมุตติเป็นรสเท่านั้น. พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรส ด้วยประการฉะนี้.

พระพุทธพจน์มี ๒ อย่าง

พระพุทธพจน์ชื่อว่ามี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัยอย่างไร คือ อันพระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้นั่นแล ย่อมถึงการนับว่า พระธรรมและวินัย. บรรดาธรรมและวินัยนั้น วินัยปิฎก ชื่อว่าวินัย. พระพุทธพจน์ที่เหลือชื่อว่าธรรม. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระมหากัสสปได้กล่าวไว้แล้วว่า ผู้มีอายุ!อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงสังคายนาธรรมและวินัย และว่า เราพึงถามพระวินัยกะท่านอุบาลี พึงถามพระธรรมกะท่านอานนท์ ดังนี้. พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามี๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัย ด้วยประการฉะนี้

พระพุทธพจน์มี ๓ อย่าง

พระพุทธพจน์มี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปฐมะ มัชฌิมะและปัจฉิมะอย่างไร คืออันที่จริง พระพุทธพจน์นี้ทั้งหมดนั่นแล แบ่งประเภทเป็น ๓ คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ (และ) ปัจฉิมพุทธพจน์ ฯลฯ พระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในระหว่างแห่งกาลทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่ามัชฌิมพุทธพจน์. พระพุทธพจน์ชื่อว่ามี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจเป็นปฐมะ มัชฌิมะและปัจฉิมะ ด้วยประการฉะนี้.

ปิฎก ๓

พระพุทธพจน์ทั้งปวงเป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปิฎกอย่างไร ก็พระพุทธพจน์แม้ทั้งปวงมีอยู่ ๓ ประการเท่านั้น คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก. ใน ๓ ปิฎกนั้น พระพุทธพจน์นี้คือประมวลพระพุทธวจนะแม้ทั้งหมด ทั้งที่ร้อยกรองในปฐมสังคายนา ทั้งที่ร้อยกรองในภายหลัง เป็นปาฏิโมกข์ ๒ ฝ่าย วิภังค์ ๒ ขันธกะ ๒๒ บริวาร ๑๖ ชื่อวินัยปิฎก

พระพุทธวจนะนี้ คือ ทีฆนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๓๔ สูต มีพรหมชาลสูตร เป็นต้น มัชฌิมนิกาย เป็นที่รวบรวมพระสูตร ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตร เป็นต้น สังยุตตนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตร เป็นต้น อังคุตตรนิกาย เป็นที่รวบรวมพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตร เป็นต้น ขุททกนิกาย ๑๕ ประเภทด้วยอำนาจแห่งขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน
พุทธวงศ์ จริยาปิฎก ชื่อสุตตันตปิฎก พระพุทธพจน์นี้คือธัมมสังคิณี วิภังค์ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน ชื่ออภิธรรมปิฎก. ฯลฯ



ความคิดเห็น 1    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 7 พ.ค. 2552

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๘

พระพุทธพจน์มี ๕ นิกาย

พระพุทธพจน์มี ๕ ด้วยอำนาจแห่งนิกาย อย่างไร จริงอยู่พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดนั่นแล ย่อมมี ๕ ประเภท คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย (และ) ขุททกนิกาย ฯลฯ

พระพุทธพจน์มี ๙ อย่าง

พระพุทธพจน์มี ๙ อย่าง ด้วยสามารถแห่งองค์อย่างไร จริงอยู่พระพุทธพจน์นี้ทั้งหมดทีเดียว มี ๙ ประเภท คือ สุตตุ เคยยะ เวยยากรณะคาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ ฯลฯ

พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์อย่างไร จริงอยู่ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดเทียว มี ๘๔,๐๐๐ ประเภทด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์ ที่พระอานนทเถระแสดงไว้แล้วอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเรียนเอาพระธรรม จากพุทธสำนัก ๘๒,๐๐๐ จากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมที่เป็นไปในหทัยของข้าพเจ้า จึงมี จำนวน ๘๔,๐๐๐ ดังนี้.

ฯลฯ


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 9 พ.ค. 2552

ท่านพระอานนทเถระแสดงไว้แล้วอย่างนี้ว่า

ข้าพเจ้าเรียนเอาพระธรรม จากพุทธสำนัก ๘๒,๐๐๐ จากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมที่เป็นไปในหทัยของข้าพเจ้า จึงมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ ดังนี้

พระศาสดาทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และพุทธอุปัฏฐาก ในพระศาสนานี้ แล


ความคิดเห็น 3    โดย swanjariya  วันที่ 8 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 27 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ