ความพอใจคืออะไร
โดย teezaboo  14 เม.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 42991

ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอสอบถามท่านทั้งหลาย คำว่า "ความพอใจ" ในพระไตรปิฏก มีความหมายว่าอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 14 เม.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ "ความพอใจ" พิจารณาได้ว่า ถ้าเป็นความใคร่ที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นเป็น ฉันทะ แต่ถ้าเป็นความพอใจ ที่เป็นความยินดี ติดข้อง นั่น เป็น โลภะ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น ที่จะรู้ตรงตามความเป็นจริงได้

ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่พอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ถ้าเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา ในขณะที่มีการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ทาน บ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างนี้ มีฉันทะที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นผู้ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล แต่ถ้าอกุศลเกิด ที่เป็นประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย กับ ประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย ฉันทะในลักษณะอย่างนี้ เป็นอกุศลฉันทะ ไม่ใช่กุศล

ข้อควมบางตอนจากคำบรรยายาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ฉันทเจตสิก เป็นเจตสิกที่พอใจกระทำ เกิดกับจิต ๖๙ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้งนี้เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตนั้น แม้ว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่มีโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่พอใจตามสภาพของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตหรือจิตอื่นๆ ที่ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย


โลภะ จะต้องเกิดกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะประกอบร่วมด้วย ๘ ดวงเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่น เลย ครับ

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งฉันทะในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ

....ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 14 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 14 เม.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Lai  วันที่ 16 เม.ย. 2565

อนุโมทนาค่ะ