ว่าด้วยเรื่อง อนัตตา

 
chackapong
วันที่  2 เม.ย. 2550
หมายเลข  3270
อ่าน  3,494

บางช่วงเวลา มีความรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่า เหมือนไม่มีอะไรอยู่บนโลกใบนี้ทุกอย่างดำเนินไปของมันเองแล้วก็กลับมาสู่ตัวตนอีกในเวลาต่อมา ว่าเราเป็นอะไร ไปจินตนาการอะไร หรืออย่างไร นี้เป็นเหตุการณ์ ก่อนเข้ามาศึกษาธรรมะ เมื่ออ่านหนังสือพบกับคำว่า อนัตตา ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม เท่านั้น ก็ดูเหมือนจะรู้สึกอะไรบางอย่าง แต่ก็สับสน และสะดุดอยู่ที่คำๆ นี้ ถามตัวเองว่าเข้าใจความหมายนี้หรือไม่ บางครั้งตอบว่าเข้าใจ บางครั้งตอบว่าไม่เข้าใจ พอถามเสร็จก็มาพิจารณาอีกว่า ถ้า เป็นเพียง รูปธรรม นามธรรม ไม่มีตัวเรา แล้วเราจะถามตัวเองได้อย่างไร ช่างเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกชึ้ง จะเข้าใจได้จริงๆ ถ้าหากว่าผมเข้าใจได้จริงๆ แล้วทำไมยังมีความกังวลกับชีวิตอีกเล่า ในเมื่อทุกสิ่งเป็นเพียง อนัตตา

สรุปว่า ผมยังไม่เข้าใจ เพียงแต่รู้สึกอะไรบางอย่างเพียงผิวเผิน หรือ คิดไปเองหรือว่ารู้สึกไปเองเท่านั้น ที่อธิบายมานี้ก็เพื่อถามปัญหาที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง สำหรับผม ขอความกรุณาผู้รู้ช่วยตอบ ว่าด้วยเรื่องของอนัตตา ด้วยภาษาที่ง่ายต่อผู้เริ่มศึกษาธรรมะเช่นผมพอจะได้รับรู้ หรือ ได้ทราบ อนัตตา ใกล้กว่าเดิมให้มากขึ้นอีก สักเล็กน้อยก็ยังดี เพราะตอนนี้การศึกษาธรรมะผม ไม่ได้ก้าวหน้าเท่าที่ควร ผมหยุดอ่านเรื่องอื่น เพราะ เรื่อง อนัตตาเป็นเหตุ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 2 เม.ย. 2550

คำว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า สูญจากสัตว์ บุคคล ไม่มีเจ้าของ บังคับไม่ได้ ปฏิเสธกับอัตตา ผู้ที่เข้าถึงลักษณะอนัตตาจริงๆ ผู้นั้นต้องมีปัญญาขั้นสูง คือวิปัสสนาปัญญา สำหรับผู้ที่กำลังศึกษา อาจเข้าใจได้ในระดับหนึ่งตามระดับปัญญาของแต่ละท่าน

ในชีวิตประจำวันของเราทุกขณะจิตจะเห็นได้ว่า จิตทุกขณะเกิดขึ้นเพราะปัจจัย เราไม่สามารถบังคับให้จิตเป็นกุศลตลอดทั้งวันทั้งคืนได้ หรือเราไม่สามารถเลือกการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส เป็นต้น ตามที่เราต้องการได้ เพราะเป็นอนัตตา

ความหมายอนัตตาอรรถกถาวิภังค์ท่านอธิบายไว้ดังนี้

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ชื่อว่าเป็นอนัตตา [วิภังค์]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 2 เม.ย. 2550

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 96

เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 2 เม.ย. 2550

อนัตตา หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เรามีความทุกข์ก็เพราะเรายึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เช่น บังคับให้เราอย่าจากสิ่งของอันเป็นที่รักก็ไม่ได้ บังคับให้อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย ก็ไม่ได้ เราจึงต้องอบรมปัญญา เพราะถ้ายิ่งมีปัญญาความทุกข์ก็ยิ่งลดลง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
devout
วันที่ 2 เม.ย. 2550

ความเข้าใจขั้นการฟังยังไม่มีกำลังพอ ที่จะทำให้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาได้ ต้องอาศัยสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นบ่อยๆ จนกว่าจะเป็นสัญญาที่มั่นคงว่าสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น ก็ค่อยๆ อบรมกันต่อไปเป็นกาลจีรภาวนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chanchai
วันที่ 2 เม.ย. 2550

to.devout

ได้อ่านความคิดเห็นของคุณที่ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วที่ผมนั่งอยู่ตรงนี้ จะให้ผมเข้าใจว่าเป็นอะไร

จากผู้เริ่มศึกษาธรรมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
หมาย
วันที่ 3 เม.ย. 2550

บางช่วงเวลา มีความรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่า เหมือนไม่มีอะไรอยู่บนโลกใบนี้ ทุกอย่างดำเนินไปของมันเอง แล้วก็กลับมาสู่ตัวตนอีกในเวลาต่อมา ว่าเราเป็นอะไรไป จินตนาการอะไร หรือ อย่างไร อารมณ์อย่างนี้เคยปรากฏกับผมมาก่อนเมื่อตอนเป็นเด็กไม่กี่ขวบ เริ่มจากจำความได้ ผมก็พยายามถามท่านผู้รู้มากมาย เมื่อผมได้ศึกษาธรรมะจึงเข้าใจว่า อะไรก็ตามที่ปรากฏกับเราให้รู้ได้นั้น (หรือที่เรียกว่าอารมณ์ต่างๆ ) เราไม่ได้ตั้งใจให้สิ่งนั้นปรากฏขึ้นมา แต่อารมณ์ต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมาให้เรารู้ได้ ธรรมชาติจิตของเราคือ การรับรู้ รู้ทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่ว่าอารมณ์ดีหรือร้าย ทุกข์ สุข เพลิดเพลิน หดหู่ ท้อถอย เศร้าโศก เสียใจ สิ่งต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนั้นๆ แล้วก็หายไป ทำให้สิ่งอิ่นก็ปรากฏต่อเนื่องกันไปเป็นอย่างนี้อยู่ตลอด สิ่งที่ปรากฏนั้นก็ต้องมาจากสาเหตุอันใดอันหนึ่งแน่นอน ให้ลองสังเกตดูก็จะรู้ได้เอง ผมขอยกตัวอย่าง เช่น เราเดินทางไกล ในขณะที่อากาศร้อน เราจะรู้สึกกระหายน้ำมากๆ เหงื่อไหลท่วมตัว สิ่งที่ปรากฏชัดเจนให้เรารู้ได้ คือ เกิดความหิวกระหาย ทุกข์กายอย่างยิ่งปรากฏในขณะนั้น แต่เมื่อเราได้ดื่มน้ำที่เย็นสดชื่นพร้อมได้หยุดพักผ่อนในที่ๆ เย็นสบายภายใต้ร่มไม้ สายลมพัดมาเย็นกาย ทีนี้ อาการเหนื่อยล้า หิวกระหาย ร้อนกายเหงื่อไหลท่วมตัว แต่ก่อนได้หายไปหมดสิ้น กลับกลายเป็นความรู้สึกสดชื่นมากๆ แทนที่ความรู้สึกเดิม ชวนให้เราเพลิดเพลินยินดีอย่างยิ่ง เป็นอารมณ์ที่ตรงกันข้ามกับคราวครั้งก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้นนั้น พอจะอธิบายให้เข้าใจความเป็นอนัตตาได้บ้าง เช่นในขณะที่เรารู้สึกร้อนตอนเดินทางไกล เราก็ไม่ได้อยากจะร้อน แต่ร่างกายก็ร้อนขึ้นเองตามเหตุธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎความจริง (ธรรมะ) เมื่อเป็นเช่นนั้น (อากาศร้อน) เหงื่อย่อมไหลเอง เพราะเป็นไปตามกฎอย่างนั้น จะห้ามไม่ให้เหงื่อออกก็ไม่ได้ เพราะอากาศร้อน ความหิวกระหายย่อมเกิดขึ้นเพราะร่างกายสูญเสืยน้ำ จึงทำให้เรารู้สึกหิวกระหาย เราจะไม่ให้ความหิวกระหายเกิดขึ้นก็ไม่ได้ เพราะความรู้สึกทางร่างกายมีอยู่ (จิต) สิ่งเหล่านี้เราห้ามไม่ได้เลยเมื่อมีเหตุพร้อมให้สิ่งต่างๆ เกิดปรากฏ สิ่งนั้นก็เกิดเพราะมีสาเหตุนั่นเอง ทีนี้เมื่อเราได้ดื่มน้ำเย็นสดชื่นแล้ว สิ่งต่างๆ ก็ปรากฏให้เรารู้อีก เป็นความสุขที่ตรงกันข้ามเลย ความสบายสดชื่น คลายร้อน เย็นกาย สุขกายก็เกิดขึ้นแทน สิ่งที่ปรากฏให้เรารู้ได้นี้ ก็มาจากเหตุ คือ น้ำอันชุ่มเย็น นำมาซึ่งความสุขกายในตอนนั้น ดับความกระหายทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นสภาพที่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น อาศัยกันและกันเกิดขึ้น แม้แต่จิตก็อาศัยสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เกิดขึ้น (ร่างกาย ความร้อน ความหิว ความกระหาย) จิต ก็เพราะอาศัยสิ่งอื่นจึงเกิดเหมือนกัน เพราะมีร่างกาย ความร้อน ความทุกข์ สุข จิตจึงรู้สึกมีสิ่งนั้นๆ ได้ จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย ต้องเกิดเพราะอาศัยสิ่งอื่น สิ่งอื่นข้างต้นก็อาศัยสิ่งอื่นๆ อีก มากมาย แล้วก็หายไปโดยเร็ว เพราะสิ่งอื่นเกิดแทนที่แล้วก็ดับอีก นี่คือกฎความจริงที่เรียกว่าสัจธรรม ไม่มีผู้ใดเลย ไม่ได้เป็นตัวเรา เขา สัตว์ ที่เรียกว่า "อัตตา" ตามที่เราเข้าใจที่ผิดๆ ซึ่งยาวนามมาก แท้ที่จริงแล้วสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏนั้น เป็นเพียงความเกิดขึ้นและหายไปสืบต่อกันเรื่อยๆ เร็วมาก จนเราไม่ทันสังเกตรู้ ซึ่งความเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็วนี้เป็นกฎที่แน่นอนของธรรมะ (ชาติ) เพราะความเกิดขึ้นหายไปๆ ไปเรื่อยๆ นี้เป็นสภาพที่ไม่คงที่ เรียกว่า "ความไม่เที่ยง" (อนิจจัง) เพราะความไม่เที่ยง ไม่คงที่ของสิ่งนั้นๆ เพราะความที่สิ่งนั้นๆ ถูกเปลี่ยนไปไม่คงที่ตั้งอยู่อย่างเดิมตลอดไปไม่ได้ เรียกว่า "ทุกข์" (ทุกขัง) เมื่อสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็หายไปอย่างต่อเนื่อง ไม่คงที่อยู่อย่างเดิมตลอดไป บังคับให้อยู่ในอำนาจของใครไม่ได้ สิ่งนั้นจึงไม่ใช่ตัวตน เรียกว่า"อนัตตา" ไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด สิ่งต่างๆ ที่กล่าวนี้ ได้แก่ สิ่งที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก สิ้น กาย ใจ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ ทั้งหมดล้วนตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ ซึ่งในแต่ละวันจะหนีไม่พ้นเลย พระพุทธองค์เมื่อทรงค้นพบธรรมความจริงที่สุดของที่สุดอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทั้งนี้เพราะอะไรพระองค์จึงตรัสสอนแก่ชาวโลก ก็เพราะเมื่อเรายึดถืออยู่ว่าสิ่งต่างๆ เป็นตัวตน โดยไม่เห็นตามจริงว่าเป็นอนัตตานั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากมายอย่างไม่จบสิ้น และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปอีกนานแสนนาน จนกว่าเราจะมีปัญญารู้แจ้งความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา และละความยึดถือสิ่งต่างๆ โดยความเข้าใจผิดเสีย เพราะความหลงผิดนี้นำทุกข์มาให้โดยถ่ายเดียว หาใช่ความสุขไม่ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไป จะเป็นสุขแท้ยั่งยืนได้อย่างไร ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการศึกษาให้เข้าใจและรู้ชัดแจ้ง สังเกตสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ โดยความเป็นจริงโดยปราศจากความมีตัวเราเข้าไปแทรกแซงสิ่งที่ปรากฏจริงให้ปัญญาเกิดขึ้นเข้าใจชัดขึ้นจากสิ่งที่สังเกตเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนใครจริงๆ เป็นแต่สิ่งต่างๆ (ธรรมะ) ที่ทยอยกันเกิดขึ้นแล้วก็หายไปๆ ตามเหตุของแต่ละอย่างๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญญาจะตัดสินเองว่า ความจริงคืออะไร และจะจัดการอย่างไรกับสิ่งนั้นๆ ที่ปรากฏ โดยถูกต้องตรงตามความจริงจากการรู้เห็นตามความจริงของปัญญา นี้ก็จะเป็นสาเหตุให้ปล่อยวางความยึดถือสิ่งต่างๆ ในความไม่รู้ (อุปาทาน) และปล่อยวางความหลงผิดอันยาวนานนี้ ซึ่งนำมาแต่ทุกข์โดยถ่ายเดียว ฉะนั้น สุขที่แท้จริงก็ต้องเป็นความสุขที่ไม่ดับ ต้องเป็นความสุขที่ถาวร สุขที่แท้จริงนั้นมีอยู่ ได้แก่ ธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า นิพพานเ ป็นธรรมที่ดับทุกข์ ไม่เกิดขึ้นแล้วหายไป (ไม่เกิดดับ) เป็นความเที่ยง เป็นความสุข เป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
shumporn.t
วันที่ 3 เม.ย. 2550

การเข้าใจอนัตตานั้น ไม่ได้หมายว่าไม่ฟังธรรมเรื่องอื่นประกอบ เพราะการเข้าใจความเป็นไปของ จิต เจตสิกและรูป ในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะทำให้เรามั่นคงในความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น เช่น กุศลวิตก อกุศลวิตก ในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ความต้องเป็นอย่างนี้ เพราะจิตวิจิตรในการสั่งสมทุกๆ ขณะที่จิตเกิดขึ้น สั่งสมสันดานแล้วสืบต่อ การเข้าใจความเป็นไปของจิต ก็คือความเป็นอนัตตาของธรรม บังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้เลย ความท้อแท้ เบื่อหน่ายก็เป็นธรรมที่เกิดกับจิต เรียกว่าเจตสิกเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต อาศัยวัตถุเดียวกันและดับพร้อมกับจิต เหตุของอกุศลวิตก ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนเหตุของกุศลวิตกคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ นี้คือคำสอนของผู้ได้ตรัสรู้ความจริง การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นไปของธรรม เข้าใจความเป็นไปของตัวเรามากขึ้น เมตตาและโสภณธรรมอื่นๆ ย่อมเจริญ ครั้งใดที่ปัญญาเกิดขึ้นย่อมนำความสุขความสงบเสมอ นี้คืออนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
devout
วันที่ 3 เม.ย. 2550

ถึงคุณ chanchai ค่ะ,

ได้อ่านความคิดเห็นของคุณที่ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วที่ผมนั่งอยู่ตรงนี้ จะให้ผมเข้าใจว่าเป็นอะไร ก็เข้าใจว่าเป็นคุณ chanchai ไงค่ะ ตาม ความเห็นผิด และ อัตตสัญญา ที่ได้สะสมมาแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chackapong
วันที่ 3 เม.ย. 2550

ขอสนทนาต่ออีกนะครับ หลังจากได้อ่านความเห็นที่แสดงมาหลายท่านแล้ว อ่านแล้วได้ใจความว่า อนัตตาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ทุกท่านเข้าใจสอดคล้องกับหลักธรรม และหลักธรรมได้กล่าวต่อว่าเห็นอนัตตาแล้วด้วยปัญญา ก็จะละคลายความทุกข์ได้ ถึงตรงนี้ซิครับเป็นจุดสำคัญ วันนี้ถ้าหากว่า (ผมไม่แน่ใจ การสมมติจะทำได้หรือไม่ในการอธิบายหลักธรรม) เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นกับครอบครัวหรือคนที่เรารักหรือกับตัวเองก็ตาม ถึงเวลานั้นจริงๆ เราคงไม่มีทุกข์เลยไช่ไหม เพราะเราเข้าใจอนัตตาแล้ว แต่ผมเอง ไม่เป็นเช่นนั้น ตรงนี้จึงทำให้สรุปว่า ปัญญายังไม่รู้อนัตตาเลยสักนิด ที่อ่าน ที่ฟัง ก็สักแต่ว่าอ่านหรือฟังเท่านั้น ยังห่างไกลกับอนัตตาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ชาวโลก (ปุถุชนเช่นผม) มาก ถ้าอ่านหรือฟังธรรมะ ก็เห็นว่าเป็นอนัตตาและมีเหตุผลสอดรับได้อย่างสอดคล้องโดยไม่ติดขัดเลย แต่ในชีวิตจริง การดำเนินชีวิต และการนำมาใช้ กลับไม่เห็นอย่างที่อ่านหรือฟังอย่างมั่นคงโดยไม่มีข้อติดขัดเลย เพราะเห็นสลับไปมา ระหว่างอนัตตากับอัตตา โดยตลอด นี้แหละครับที่ผมกล่าวไว้ในความเห็นแสดงคำถาม หรือคำตอบนี้จะต้องทราบได้ด้วยตนเองในการเจริญปัญญาเฉพาะบุคคลนั้นๆ ไม่มีใครอื่นเลยนอกจากตัวเอง หรือการสั่งสมยังไม่มากพอ หรือผมรีบร้อน และหรือเหตุอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถบังคับบัญชาอะไรได้ ก็เพราะเป็นอนัตตานั้นเอง จึงทำให้ผมยังห่างไกล อนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แหม่มค่ะ
วันที่ 4 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ ผู้ที่กล่าวว่าไม่รู้ เพราะรู้ความจริงว่าเป็นผู้ไม่รู้ ย่อมดีกว่าผู้ที่คิดว่า ตัวเองรู้แล้ว เพราะยังไม่รู้ความจริงว่ายังไม่รู้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Guest
วันที่ 4 เม.ย. 2550

ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พึงเข้าใจธรรม อะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ แล คือ ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นเป็นฐานะที่มีได้

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chackapong
วันที่ 6 เม.ย. 2550

คำถามผมคล้ายๆ ถามเอง ตอบเอง คงเป็นเพราะความลังเลสงสัย อีกทั้งสับสน วนไปวนมา เป็นความพยายามเข้าใจอนัตตาโดยใช้อัตตา และดูเหมือนจะตรงกับคำตอบสุดท้ายที่ว่า ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พึงเข้าใจธรรม อะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ แล คือ ปุถุชนพึงเข้าใจธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตา นั่นเป็นฐานะที่มีได้


เป็นประโยชน์มากเพราะผมเข้าใจว่า เรื่องอนัตตา เป็นจุดสำคัญสำหรับศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียว (เท่าที่ทราบว่าไม่มีพระเจ้า และปฎิเสธอัตตา) ถ้าไม่เข้าใจเรื่องอนัตตา ก็ไม่ทราบว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างไร ผมมีเหตุให้ต้องฟังมากขึ้นอีก ถือว่าโชคดีที่ได้ถามคำถาม

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่แสดงความเห็น

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
suwit02
วันที่ 17 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pamali
วันที่ 1 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 3 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ