ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรงกัน


    เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ละเอียด จะทำให้เข้าใจในพุทธพจน์ โดยที่ไม่มีการค้านกันเลย เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติก็ต้องเป็นอนัตตา และปัญญาก็ต้องเป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้แจ้ง รู้ถูกต้องตามความจริงของสภาพธรรม ซึ่งในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งไม่ใช่ธรรม แล้วก็ใช้คำหลายคำเพื่อที่ให้ปัญญารู้ชัดขึ้น เป็นธาตุ ธา - ตุ ถ้าใช้คำว่าธาตุ ทุกคนก็เข้าใจว่าไม่มีของใคร เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง และมีลักษณะเฉพาะของสภาพนั้นๆ ซึ่งปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ

    ถ้าศึกษาวิชาการอื่นก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวของสภาพปรมัตถธรรม เป็นความทรงจำเรื่องสภาพธรรม แต่ว่ามีเราที่กำลังจำ ที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่ความรู้จริงๆ

    เพราะฉะนั้นปัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่เห็นถูก ที่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งมีหลายขั้นนะคะ แต่ขั้นที่จะทำให้เห็นถูกต้องว่า เป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นอภิธรรม ก็ต้องเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะพิจารณา รู้ลักษณะของสิ่งที่สติระลึกได้ ต้องให้สอดคล้องกันทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มิฉะนั้นเราจะศึกษาทำไมว่า สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ ถ้าไม่สามารถจะรู้ได้ในขณะนี้ และการศึกษาว่า สภาพธรรมเป็นจิต เจตสิก รูป เกิดดับอย่างรวดเร็วแต่ละทวาร คือแต่ละทางปัญญาก็ต้องสามารถรู้ตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องตรงทั้งปริยัติ และปฏิบัติ และปฏิเวธ


    หมายเลข 2999
    3 ม.ค. 2567