การศึกษาธรรมไม่ใช่ให้คิดว่าฟังแล้วต้องไปทำ


    ผู้ฟัง สมมุติในชีวิตการทำงาน เราก็จะเจอรูปเยอะเลย ทั้งวันเลย

    ท่านอาจารย์ เวลาไม่ทำงานรูปหายไป หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง มันเบาลง เพราะความคิดเราไม่ฟุ้งไปกับสิ่งที่มากระทบ

    ท่านอาจารย์ ฟุ้ง หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เช่นอย่างสมมุติว่าเราทำงาน เจ้านายชมเรา เราก็จะเริ่มตามขั้นตอนที่ท่านอาจารย์สอน มีเสียงมาเราก็จำได้ว่าเสียงอย่างนี้เรียกว่าคำชม แล้วก็จะเข้าไปในข้อที่ว่าเป็นเวทนาขันธ์ รู้สึกสุข แล้วมันก็จะวนอย่างนี้..

    ท่านอาจารย์ สุขเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ จำได้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสัญญาขันธ์

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นอะไร เป็นสังขารขันธ์ นอกจากเวทนา สัญญา เจตสิกอื่นก็เป็นสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง ถ้าเราได้ยินคำชม นั่นคือเราต้องแปลความให้ได้ว่า นั่นเป็นเสียง อย่างนั้นไหมคะ หมายถึงว่าเราต้องไม่ให้มีความรู้สึกเกิดขึ้นในใจว่า เราสุข หรือเราทุกข์ ไม่ให้มันมีเกิดขึ้นในชีวิตเราใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คนที่จะฟังธรรมแล้วจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็ตอนที่เมื่อคิดว่าฟังแล้วจะไปทำ คล้ายๆ ว่าต่อไปนี้เราก็จะทำความจำให้น้อยลง ไม่ต้องไปจำเรื่องคำสรรเสริญ ไม่ต้องไปจำเรื่องอะไรต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงขอให้คิดถึงสัจจะ ความจริง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว ใครทำให้เกิด เกิดแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าจะเกิดความพอใจอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา สิ่งนั้นเกิดแล้ว เป็นเจตสิก และจิตซึ่งเกิดร่วมกันในขณะที่มีความรู้สึกพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่ไปทำ หรือไปคิดว่าต้องให้เป็นอย่างนี้ ต้องให้เป็นอย่างนั้น แต่สิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏ ให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นปกติ ที่จะมีความเห็นถูกต้องยิ่งขึ้น จนกระทั่งละการยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราได้ ต้องมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการทำให้เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าถูก แต่หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด ความมั่นคงในการเข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตาจะเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีปัจจัยให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ที่สภาพธรรมเกิดแล้วเป็นแล้วอย่างนี้ ชื่อที่ใช้ในภาษาบาลีคือ “สังขต” สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เกิดเป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่สุข ก็ชั่วขณะ ความรู้สึกที่ทุกข์ก็ชั่วขณะ การที่จะคิดเรื่องบุคคลรอบข้าง ผู้ที่ทำงานร่วมกันก็ชั่วขณะ แต่ถ้าเรามีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างก็คือสภาพธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การยึดติดในความเป็นเราเป็นเขาก็จะลดน้อยลง และก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10


    หมายเลข 5144
    16 ม.ค. 2567