เกสีสูตร - เรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า - ๐๙ ส.ค. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ส.ค. 2551
หมายเลข  9455
อ่าน  12,185

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๙ ส.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๑. เกสีสูตร

ว่าด้วยเรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 298

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 298

เกสีวรรคที่ ๒

๑. เกสีสูตร

ว่าด้วยเรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า

[๑๑๑] ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนเกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง.

พ. ดูก่อนเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน?

เกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณอย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกบุรุษที่ควรฝีกอย่างไร.

พ. ดูก่อนเกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ดูก่อนเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีละม่อม คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัย เป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้.

เกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำอย่างไรกะเขา?

พ. ดูก่อนเกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย

เกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย?

พ. จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน ดูก่อนเกสี ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝีกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริย.

เกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นั่นเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบเกสีสูตรที่ ๑

อรรถกถาเกสีสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเกสีสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เกสี เป็นชื่อของนายสารถีผู้ฝึกม้า. ชื่อว่า สารถีผู้ฝึกม้า เพราะทำม้าที่ควรฝึกให้เข้าใจจึงฝึก. ในบทว่า สณฺเหนปิ ทเมติ เป็นต้น นายสารถีทำสักการะพอสมควรแก่ม้านั้น คือ ให้กินโภชนะอย่างดี ให้ดื่มน้ำอร่อย พูดด้วยถ้อยคำนิ่มนวลแล้วจึงฝึก ชื่อว่าฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อม. เมื่อฝึกด้วยผูกเข่าผูกปากเป็นต้น และแทงด้วยปฏัก เฆี่ยนด้วยแส้ พูดคำหยาบ ชื่อว่าฝึกด้วยวิธีรุนแรง. ต้องทำทั้งสองวิธีนั้น ตามกาลอันควร ชื่อว่าฝึกทั้งวิธีละมุนละม่อมทั้งวิธีรุนแรง.

จบอรรกถาเกสีสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 4 ส.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 ส.ค. 2551

(... นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริย. ...) น่าจะหมายถึง ... การไม่คบหา สมาคมด้วยความเห็นผิด ... ใช่ไหมคะ?

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ในพระบาลีก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า การไม่ว่ากล่าว การไม่สั่งสอน การไม่แนะนำ การไม่คบหา เป็นการฆ่าอย่างดีในวินัยของพระอริยเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คุณ
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ING
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ขอขอบพระคุณ ในความเมตตาอัญเชิญพระธรรม ที่ดิฉันยังไม่เคยได้ยินมาก่อน

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Anutta
วันที่ 8 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

ในกรณีนี้จะใช้กับผู้ใดได้บ้างคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prachern.s
วันที่ 9 ส.ค. 2551

การฆ่าในวินัยของพระอริยะ ใช้ในกรณีผู้ที่ว่ายาก สอนยาก ไม่รับฟังโดยเคารพ หัวดื้อ ถือรั้น ไม่ยอมสละความเห็นผิด ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนถามต่อนะคะ

หมายความว่า ถ้าแม้ปัญญาขั้น ศีล คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม ยังไม่สามารถฝึกได้แล้ว พระองค์จะไม่ทรงตรัสสอนพระธรรมขั้น สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นความสำคัญของปัญญาขั้นศึล เข้าใจอย่างนี้ ถูกผิดประการใด กรุณาแนะนำด้วยค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

จากที่ผู้ถามกล่าวไว้ เรื่องการสอนของพระพุทธเจ้า ก็ต้องละเอียดในข้อความที่พระองค์ทรงแสดง ในส่วนที่เป็นสุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต กินความแค่ไหน แค่เพียงศีลหรือไม่ครับ ใน สุจริต ๓ กายสุจริต และวจีสุริต หมายถึง ศีล ครับ เพราะ ศีล หมายถึง กายและวาจา ส่วน มโนสุจริต มี ๓ ข้อ

มโนสุจริต หมายถึง ความดีทางใจ มี ๓ ได้แก่

ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ (อนภิชฌา) ๑

ความไม่พยาบาทปองร้าย (อัพยาปาท) ๑

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ๑

จะเห็นนะครับว่า มีสัมมาทิฏฐิด้วย คือความเห็นถูกหรือปัญญานั่นเอง ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ ใน สุจริต ๓ ที่พระองค์ทรงตรัสสอน คือด้วยวิธีละมุนละม่อม ก็หมายถึง การสอนเรื่อง สมถภาวนาและวิปัสสนา ที่เป็นสติปัฏฐานหรืออริยมรรค ด้วยครับ รวมถึงปัญญาทุกระดับเลยครับ เพราะ สัมมาทิฏฐิ ย่อมครอบคลุมการอบรมปัญญาทุกอย่าง ดังนั้น ผู้ใดฝึกได้ คือได้สะสมอบรมปัญญามาแล้ว ก็ทรงสอนด้วย สุจริต ๓ รวม สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ทั้งในเรื่องสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พระองค์ก็ทรงสั่งสอนสาวกครับ ส่วนผู้ใด ไม่ได้สะสมปัญญามา และหากเป็นผู้เห็นผิด ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ไม่แสดงธรรม เพราะไม่สามารถฝึกได้ครับ

ส่วนผู้ที่สะสมปัญญามา แต่เป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลสมาก พระองค์ก็ทรงแสดงโทษของสุจริต ๓ คือ การฆ่าสัตว์ ... ความเห็นผิด ว่ามีโทษอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังนั้นเห็นโทษ เมื่อเห็นโทษแล้ว ก็ทรงแสดงเรื่อง สุจริต ๓ ก็รวมทั้งการอบรมปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิในมโนสุจริตด้วย เพื่อให้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jaturong
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ