ถาม...ความหมายและประเภทของธุดงค์

 
udomjit
วันที่  28 ต.ค. 2550
หมายเลข  5275
อ่าน  3,439

หลังออกพรรษาพระสงฆ์หลายรูปพากันออกธุดงค์ จึงอยากทราบความหมาย และประเภทค่ะ เมื่อสักครู่เข้าไปค้นข้อมูลเรื่องกฐินของเวทีธรรมนี้ ก็อ่านพบว่าภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูปล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ แต่ไม่มี คำอธิบายค่ะ จึงรบกวนขอความกรุณานะคะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 29 ต.ค. 2550

ขอเชิญอ่าน ธุตธรรม หรือธุตังคะ หรือธุดงค์ จากวิสุทธิมรรคดังนี้

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 176

[ธุตะ]

ในบทเหล่านั้น บทว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วอย่าง ๑ หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่าง ๑

[ธุตธรรม]

ข้อว่า พึงทราบธุตธรรมทั้งหลาย นั้น มีวินิจฉัยว่า ธรรม ๕ ประการ อันเป็นบริวารของธุดงคเจตนาเหล่านี้ คือ อปฺปิจฺฉตา (ความมักน้อย) สนฺตุฏฐิตา (ความสันโดษ) สลฺเลขตา (ความปฏิบัติขูดเกลากิเลส) ปวิเวกตา (ความอยู่เงียบสงัด) อิทมฺตถิตา (ความรู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์) ชื่อว่า ธุตธรรม โดยพระบาลีว่า (ภิกษุเป็นผู้อันอยู่ป่าเป็นปกติ) เพราะอาศัยความมักน้อยแล ดังนี้เป็นต้น

ในธรรมเหล่านั้น อปฺปิจฉตา และ สนฺตุฐิตา นับเข้าใน อโลภะ สลฺเลขตา และ ปริวิเวกตา นับเข้าในธรรมทั้ง ๒ คือ อโลภะและอโมหะ อิทมตฺถิตา ได้แก่ ฌาณนั่นเอง ธรรมทั้ง ๒ (คือ อโลภะ และ อโมหะ) นั้น ภิกษุผู้ประพฤติธุดงค์ย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่ต้องห้ามทั้งหลายได้ด้วยอโลภะ กำจัดความหลงอันกำบังโทษในวัตถุที่ต้องห้ามเหล่านั้นนั่นแล ได้ด้วยอโมหะ

อนึ่ง ย่อมกำจัดกามสุขานุโยคอันเป็นเป็นไปทางเสพปัจจัยทั้งหลายที่ทรงอนุญาตเสียได้ด้วยอโลภะ กำจัดอัตตกิลถานุโยคอันเป็นไปทางเคร่งเครียดเกินไปในธุดงค์ทั้งหลายได้ด้วยอโมหะ เพราะเหตุนั้น ธรรม ๕ ประการนี้ พึงทราบว่าเป็น ธุตธรรม

[ธุตังคะ]

ข้อว่า พึงทราบธุตังคะทั้งหลาย ความว่า พึงทราบธุดงค์ ๑๓ คือ ปังสุกูลิกังคะ ฯลฯ เนสัชชิกังคะ ธุดงค์เหล่านั้นได้กล่าวแล้วทั้งโดยอรรถ และโดยปกิณณกะมีลักษณะ เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 29 ต.ค. 2550

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 121

ธุดงคนิเทศ

เพราะเหตุที่พระโยคีผู้มีศีลอันสมาทานแล้ว ควรทำการสมาทานธุดงค์ (ต่อไป) ด้วยเมื่อทำอย่างนั้น ศีลของเธอมีมลทินอันล้างแล้วด้วยน้ำ คือคุณมีความมักน้อย และความสันโดษ ความขัดเกลาความสงัด ความไม่สั่งสม (กองกิเลส) ความปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่ายเป็นต้น ก็จักเป็นศีลบริสุทธิ์ดี และข้อวัตรทั้งหลายของเธอก็จักถึงพร้อมด้วย ผู้มีสมาจารทั้งปวงบริสุทธิ์ด้วยคุณคือศีลและพรตอันหาโทษมิได้ดังนี้แล้ว จักเป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอริยวงศ์ (ประเพณีของพระอริยเจ้า) ๓ ข้อ อันเป็นวงศ์เก่า ควรบรรลุอริยวงศ์ ข้อคำรบ ๔ กล่าวคือ ความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดีได้ เพราะเหตุนั้น เราจักเริ่มธุดงคกถา ณ บัดนี้ เพื่อยังคุณทั้งหลายมีความมักน้อยสันโดษเป็นอาทิ อันเป็นเหตุผ่องแผ้วแห่งศีลมีประการดังกล่าวแล้วให้ถึงพร้อมต่อไป แท้จริง ธุดงค์ (ถึง) ๑๓ ข้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลาย ผู้สละโลกามิสได้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ใคร่จะยังอนุโลมปฏิปทาให้สำเร็จถ่ายเดียว

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 29 ต.ค. 2550

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 121

ธุดงค์ ๑๓ นี้ คืออะไรบ้าง คือ

๐๑. ปังสุกูลลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เป็นปกติ

๐๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวร เป็นปกติ

๐๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นปกติ

๐๔. สปาทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ

๐๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ

๐๖. ปัตตปิณฑิกัง องค์แห่งภิกษุผู้มีอันถือเอาก้อนข้าวในบาตรเป็นปกติ

๐๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ

๐๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ

๐๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นปกติ

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ

๑๑. โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้ เป็นปกติ

๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยความนั่งเป็นปกติ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ต.ค. 2550

พระอรหันต์ อัครสาวกผู้เลิศทางธุดงค์ คือ ท่านพระมหากัสสปะ ผู้ดำริให้มีการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
udomjit
วันที่ 30 ต.ค. 2550

ขอบพระคุณในความกรุณาอย่างยิ่งค่ะ

อนุโมทนาในเมตตาและปัญญาของท่านอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เกษมแพรมณี
วันที่ 21 พ.ย. 2550

ช่วยอธิบาย ธุดงค์ ๑๓ ข้อ ให้อีกหน่อยได้หรือไม่ครับ ว่า แต่ละอย่างต้องทำอย่างไรบ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 21 พ.ย. 2550

รายละเอียดขอเชิญอ่านจากข้อความใน วิสุทธิมรรค สีลนิเทศ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 16 พ.ย. 2565

ยินดีในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 6 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ