สิกขา 3 อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา [ขุ ม]

 
wittawat
วันที่  26 พ.ค. 2562
หมายเลข  30884
อ่าน  1,500

[เล่มที่ 65] ขุททกนิกาย มหานิสเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า 288

บทว่า สิกฺเขถ ความว่า พึงรําลึกถึงสิกขา ๓ บทว่า อิเธว ได้แก่ ในศาสนานี้แหละ. ก็ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า สิกขา เพราะอรรถว่า พึงศึกษา. บทว่า ติสฺโส เป็นการกําหนดจํานวน. บทว่า อธิศีลสิกฺขา ความว่า ชื่อว่า อธิศีล เพราะอรรถว่า ศีลยิ่ง คือสูงสุด, ศีลยิ่งนั้นด้วย ชื่อว่า สิกขา เพราะพึงศึกษาด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่า อธิศีลสิกขา. ในอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาก็นัยนี้แหละ, และในสิกขา ๓ เหล่านี้ ศีลเป็นไฉน? อธิศีลเป็นไฉน? จิตเป็นไฉน? อธิจิตเป็นไฉน? ปัญญาเป็นไฉน? อธิปัญญาเป็นไฉน? จะได้อธิบายต่อไป :

อธิบายศีลก่อน ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๑. นั่นเอง. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ยังมิได้เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ศีลนั้นก็เป็นไปอยู่ในโลกเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งเหล่าพระสาวก ก็ให้มหาชนสมาทานในศีลนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้เป็นกรรมวาทีด้วย พระเจ้าจักรพรรดิมหาราชด้วย พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วยให้มหาชนสมาทาน. สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็สมาทานแม้ด้วยตนเอง.พวกเขาเหล่านั้นบําเพ็ญกุศลธรรมนั้นแล้วย่อมเสวยราชสมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ก็ศีลคือความสํารวมในพระปาติโมกข์ ท่านเรียกว่า อธิศีล. อธิศีลนั้น ยิ่งด้วย สูงสุดด้วยของโลกิยศีลทั้งหมด ดุจดวงอาทิตย์เป็นยอดยิ่งของแสงสว่างทั้งหลาย ดุจเขาสิเนรุสูงสุดของภูเขาทั้งหลายฉะนั้น ย่อมเป็นไปในพุทธุปาทกาลเท่านั้น นอกจากพุทธุปาทกาล ย่อมไม่เป็นไป. ด้วยว่าสัตว์อื่นย่อมไม่อาจที่จะยกบัญญัตินั้นขึ้นตั้งไว้ได้, แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ทรงตัดกระแสแห่งอัชฌาจารทางกายทวารและวจีทวารโดยประการทั้งปวง ทรงบัญญัติศีลสังวรนั้น ซึ่งสมควรแก่การละเมิดนั้นๆ . ศีลแม้ของผู้สํารวมในปาติโมกข์ ซึ่งสัมปยุตด้วยมรรคผลนั้นแล ก็ชื่อว่า อธิศีล.

กุศลจิต ๘ ดวงอันเป็นกามาพจร และจิตที่สัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ ดวงอันเป็นโลกิยะ พึงทราบว่า จิตนั่นเอง เพราะทําร่วมกัน. ก็ความเป็นไปของจิตนั้นด้วย การชักชวนให้สมาทานและการสมาทานด้วย ในกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นและมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในศีลนั่นเทียว. จิตที่สัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ท่านเรียกว่า อธิจิต. อธิจิตนั้น ยิ่งด้วย สงสุดด้วย ของโลกิยจิตทั้งหลาย เหมือนอธิศีลยิ่งด้วยสูงสุดด้วยของศีลทั้งหลายฉะนั้นและมีในพุทธุปาทกาลเท่านั้น นอกจากพุทธุปาทกาลหามีไม่ อนึ่งมรรคจิตและผลจิตที่ยิ่งกว่านั้นแล ชื่อว่า อธิจิต.

กัมมัสสกตาญาณที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล ดังนี้ ชื่อว่า ปัญญา. ปัญญานั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม มิได้เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ย่อมเป็นไปอยู่ในโลก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งเหล่าพระสาวก ก็ให้มหาชนสมาทานในปัญญานั้น. เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้เป็นกรรมวาทีด้วย พระเจ้าจักรพรรดิมหาราชด้วย พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วย ให้มหาชนสมาทาน. บัณฑิตทั้งหลายก็สมาทานแม้ด้วยตนเอง. จริงอย่างนั้น อังกุรเทพบุตรได้ในมหาทานสองหมื่นปี. เวลามพราหมณ์ พระเวสสันดร และมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตอื่นๆ เป็นอันมากได้ให้มหาทานทั้งหลาย. เขาเหล่านั้นบําเพ็ญกุศลธรรมนั้นแล้วได้เสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ก็วิปัสสนาญาณที่กําหนดไตรลักษณาการ ท่านเรียกว่า อธิปัญญา. อธิปัญญานั้น ยิ่งด้วย สูงสุดด้วย ของโลกิยปัญญาทั้งหมด เหมือนอธิศีลและอธิจิตยิ่งด้วยสูงสุดด้วยของศีลและจิตทั้งหลาย และนอกจากพุทธุปาทกาล ย่อมไม่เป็นไปในโลก. อนึ่ง ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคผลที่ยิ่งกว่านั้นนั่นแล ชื่อว่า อธิปัญญา.

โดยสรุป สิกขา 3 คือ อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา จะมีไม่ได้ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้น และต้องมีผู้ที่ได้เข้าใจธรรม รู้ธรรมตามที่ทรงแสดง กล่าวโดยปรมัตถธรรม อย่างสูงสุด ก็คือ ศีล จิต และปัญญาที่สัมปยุตกับ มรรคจิต และผลจิต แต่ตามพยัญชนะที่แสดง ไปแล้วข้างต้น ธรรมทั้ง 3 ที่เป็นไปกับวิปัสสนา ท่านก็กล่าวว่ามี สิกขา 3 เช่นกัน

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 มิ.ย. 2562

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ