พระภิกษุ กับ เงินและทอง

 
khampan.a
วันที่  9 ก.พ. 2561
หมายเลข  29478
อ่าน  1,472

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประมวลสาระสำคัญของการสนทนาพิเศษ

เรื่อ "พระภิกษุ กับ เงินและทอง"

ที่บ้านคุณทักษพล - คุณจริยา เจียมวิจิตร

วันศุกร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑


[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์


(ภาพขณะสนทนา)
(ทีมงานอาสาสมัครที่บันทึกวีดีโอการสนทนาในครั้งนี้)

ไม่ว่าใคร ก็มีอัธยาศัยที่ต่างกัน แต่ละหนึ่ง แต่ผู้ที่จะสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตก็ตามอัธยาศัยที่สะสมมา เพราะเหตุว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น คนธรรมดา (คฤหัสถ์) ได้ฟังธรรม เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ปัญญาสามารถเจริญจนถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ โดยไม่ต้องบวชเป็นเพศภิกษุก็ได้ เพราะฉะนั้น เพศภิกษุ สูงกว่าเพศคฤหัสถ์

คนที่ไม่ศึกษาธรรมเลย ชื่อว่า ยังไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร แต่ว่าคนที่จะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างที่พระองค์ตรัสว่า ผู้ใด เห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ก็ต้องรู้ว่า คำแต่ละคำของพระองค์ คือ เดี๋ยวนี้ (แสดงถึงสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง) ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ผู้ที่จะเห็นภัยถึงกับสละชีวิตของคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาและรู้ด้วยว่าการขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ ก็ทำได้ แต่เมื่อมีอัธยาศัยต่างกัน ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์แล้วเห็นอัธยาศัยของตนเองที่สามารถจะสละเพศคฤหัสถ์ได้ จึงบวชเป็นภิกษุเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ต้องไม่ลืมว่า บวชเพื่อขัดเกลากิเลส ด้วยปัญญาที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ จึงเป็นภิกษุในธรรมวินัย

เห็นโทษของกิเลส เห็นภัยของสังสารวัฏฏ์และรู้ว่ามีหนทางเดียวที่จะพ้นภัยจากสังสารวัฏฏ์ คือมีความเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมี มิฉะนั้น ก็ไม่ใช่จุดประสงค์ของการที่จะบวช

ก่อนฟังธรรม เราก็มีภาระมากมายหลายอย่าง แล้วก็เห็นว่าสำคัญทั้งนั้นเลย มีครอบครัวมีลูกหลาน ส่งลูกหลานไปโรงเรียน ทำอะไรทุกอย่าง แต่พอได้ฟังพระธรรมตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล บางคนก็เข้าใจ เห็นประโยชน์ ก็ยังมีภารกิจต่างๆ เหมือนเดิม แต่ว่าเห็นคุณเห็นประโยชน์ของพระธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นเวลาของอย่างอื่นที่เคยทำ ก็มีเวลาของการฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น นี่คือ ชีวิตจริง ยังไม่ได้ทิ้งไปหมดเลย แต่การที่เห็นคุณค่าของพระธรรมก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ใครจะเข้าใจธรรมได้ ไม่มีทางที่จะคิดได้เอง ด้วยเหตุนี้ บุคคลนั้น ก็ค่อยๆ ห่างจากการที่ไม่ได้ฟังเลย เป็นได้ฟัง พอฟังแล้วเห็นประโยชน์ บางคนก็ฟังเพิ่ม ตั้งแต่เช้า กลางวัน บ่าย ค่ำ ประโยชน์ก็เพิ่มขึ้นตามที่เห็นความสำคัญ บางคน มีครอบครัว หรือมีญาติพี่น้อง แต่ก็มีเวลาที่จะฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เห็นกำลังของปัญญา เห็นกำลังของประโยชน์สูงสุด ที่ว่า ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจ ก็จะเห็นว่าอย่างอื่นไม่สำคัญเท่า

กิจอื่นใดๆ ไม่ว่ากิจไหน ของใครทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์คุ้มค่าเท่ากับการได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น

ขัดเกลากิเลสเองไม่ได้ ต้องได้ฟังพระธรรม

คฤหัสถ์ฟังธรรม คฤหัสถ์รู้แจ้งอริยสัจจจธรรมได้ โดยไม่บวช แต่ว่าคฤหัสถ์ก็ยังติดข้อง ยังไม่ได้สละ แต่ถ้าได้สละชีวิตของคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตเป็นภิกษุแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ สละทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด เป็นพระภิกษุแล้ว จะกลับมารับทรัพย์สินเงินทองใดๆ ไม่ได้

พระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วยพระองค์เองแต่ละข้อ ใครจะเปลี่ยนได้ เพราะอะไร แม้เพียงคิดจะเปลี่ยนพระธรรมวินัย บุคคลคนนั้น เป็นใคร เพราะพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลยในสากลจักรวาล สิ่งใดที่ตรัสแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ เพราะถ้าไม่เห็นประโยชน์จริงๆ ถูกต้อง ละเอียด ลึกซึ้ง จะตรัสไว้หรือ

พระภิกษุ ไม่ได้ไปศึกษาอย่างอื่น ไม่ได้ไปทำกิจอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ประเสริฐที่สุด กิจอื่นจะประเสริฐหรือ

คฤหัสถ์ มีเงิน มีอาชีพต่างๆ หาเงินทอง ทำอะไรก็ได้ แม้แต่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา การถวายอาหารบิณฑบาต ถวายสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพื่อให้ท่านดำรงชีวิตอยู่ เพื่อศึกษาพระธรรมขัดเกลา นั่นเป็นกิจของคฤหัสถ์ ที่สามารถกระทำได้

ต้องให้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า บวชทำไม บวชเพื่ออะไร เพราะว่า ไม่บวชก็ศึกษาธรรมได้ แต่ว่าถ้าบวชแล้วต้องสละ (ชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง) แล้วก็ต้องสละไปตลอดในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ ถ้าต้องการเงินทองเมื่อไหร่ก็ลาสิกขาบาบท มาเป็นคฤหัสถ์ มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์และสามารถศึกษาพระธรรมได้

ถึงแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาล ก็ยังเป็นทุกข์ แสดงว่า ทุกข์ เพราะติดข้อง

ถ้าสามารถละความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างได้ ผู้นั้นจะไม่มีความทุกข์เลย แต่ตราบใดที่ยังมีความติดข้อง ไม่ว่าจะในอะไรทั้งสิ้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์

ถ้าต้องการเงิน หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่น่าพอใจ ทั้งวัน แสวงหาเพียงเท่านี้ แต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัย โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า หาใช่ของเขาไม่ (เพราะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป)

ก่อนจากโลกนี้ไป มีทรัพย์สมบัติมากมาย เพียงแค่จากโลกนี้ไปทันที ยังเป็นทรัพย์สมบัติของเขาหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่เลย

บวชทำไม? ถ้าบวชโดยไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ ก็คือไม่ได้มุ่งที่จะเข้าใจธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น พระภิกษุ ก็คือผู้ที่มีอัธยาศัยสามารถสละเพศคฤหัสถ์ หมายถึงสละทุกอย่างหมดที่เคยเป็น เหมือนตายแล้วจากคฤหัสถ์ เป็นผู้เกิดใหม่ด้วยศีลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเคารพ ด้วยความมุ่งที่จะขัดเกลากิเลส

การเป็นภิกษุ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาธรรม ต้องมีความเข้าใจถูกต้องในธรรมที่ละเอียดอย่างยิ่ง และความเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งนั่นแหละ จะขัดเกลากิเลส ถ้าไม่เข้าใจธรรม ไม่มีอะไรจะขัดเกลากิเลสได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นภิกษุโดยไม่เข้าใจธรรมและไม่ขัดเกลากิเลส ประพฤติล่วงสิกขาบทย่อมเป็นโทษแก่ภิกษุนั้นอย่างยิ่ง เป็นโทษที่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบ ที่กล่าวธรรมผิด แล้วยังรับเงินรับทอง ไม่เคารพในสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระมหากรุณา ย่อมเป็นโทษอย่างยิ่ง ถ้าไม่ปลงอาบัติ ไม่สำนึก ตายไปในขณะที่เป็นภิกษุก็ไปสู่อบายภูมิ

พระพุทธศาสนา ขณะนี้ ก็รุ่งริ่ง ไม่ใช่รุ่งเรือง แล้วเราจะปล่อยให้รุ่งริ่งต่อไปหรือจะช่วยกันให้มีผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัยเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนา

ขอทาน เขาแสดงเพศชัดเจนว่าเขาเป็นขอทาน ให้เขาเป็นบุญไหม เพราะมีจิตที่จะอนุเคราะห์ เพราะเขาเป็นคนตรง แสดงชัดเจนว่าเขาเป็นผู้ขอ เขายากไร้ แต่การเอาเงินไปให้แก่ผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นโทษอย่างยิ่ง แล้วเอาเงินไปส่งเสริมเพื่อให้เป็นโทษจะเป็นบุญไหม? (เพราะเหตุว่า ภิกษุในธรรมวินัย รับเงินทอง ไม่ได้)

ถ้าจะกล่าวความจริงให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ต้องกล่าวว่า พระภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง

คนที่มีเงินและทอง คิดถึงเรื่องเงินทองใช่ไหม? ใช่ เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุมีเงินทอง จะไม่คิดเรื่องเงินทองหรือ เพราะฉะนั้นจะมีโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรมวินัยขัดเกลากิเลสได้หรือ ในเมื่อทั้งวันเป็นเรื่องของเงินทอง เมื่อมีเงินทองก็ต้องคิดเรื่องเงินทอง พระภิกษุในธรรมวินัย สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตจะกลับไปรับเงินทองได้อย่างไร?



กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 9 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิต ของ อ.คำปั่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
panasda
วันที่ 9 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
sasha
วันที่ 9 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 10 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 11 ก.พ. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 11 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ