การอธิษฐานในทางพุทธศาสนา

 
medihealing
วันที่  16 ม.ค. 2561
หมายเลข  29417
อ่าน  3,562

ทราบมาว่า การอธิษฐานในทางพุทธศาสนาไม่ใช่การอ้อนวอนร้องขอ แต่ในการดำรงชีวิตทางโลก ทุกคนมีความปรารถนาบางสิ่งบางอย่างที่จำเป็น เช่น ขอให้มีลูกหลังจากแต่งงานมานานแล้ว หายป่วยจากโรคที่เป็นอยู่ ต้องการจะได้งานที่สมัครไว้ เป็นต้น

ขอเรียนถามว่าการตั้งจิตแสดงความปรารถนาเหล่านี้ในใจ ผิดหลักของการอธิษฐานหรือไม่ ถ้าหากว่าผิด เพราะเป็นการร้องขอด้วยความโลภ ความอยาก ผมรบกวนเรียนถามว่า เราควรอธิษฐานอย่างไรให้ถูกหลักทางพุทธศาสนา ในเรื่องที่ผมยกตัวอย่างมา 3 ประการข้างต้น

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐาน ในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นการขอ อยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

จากความเห็นที่กล่าวมา อธิษฐาน จึงไม่ใช่การขอ ด้วยโลภะ ที่เป็นอกุศล แต่เป็นความตั้งใจมั่นในการกระทำกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสครับ สำหรับประเด็นเรื่อง อธิษฐานธรรม ๔ ประการ เป็น เรื่องละเอียดลึกซึ้ง ซึ่ง อธิษฐานธรรม ๔ มีดังนี้ครับ สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน อธิษฐานธรรม ๔ จึงเป็นคุณธรรม ที่แสดงถึงความตั้งใจมั่นในกุศลธรรม โดยนัยต่างๆ ครับ

สัจจาธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นที่เป็นไปในการรักษาสัจจะ ความจริง ไม่วา จริง ด้วยกายวาจาและใจ ตรง จริง ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจมั่นด้วยสัจจะ ความจริงว่ากระทำกุศลเพื่อดับกิเลส สัจจะ ตรงว่าศึกษาพระธรรมเพื่อ ละกิเลส ไม่ใช่เพื่อได้ มีความตั้งใจมั่นที่เป็นสัจจะความจริงเพื่อดับกิเลสเท่านั้นครับ เมื่อมีความตั้งใจ ด้วยสัจจะความจริงเช่นนี้ การศึกษาธรรม การประพฤติ ปฏิบัติต่างๆ ก็น้อมไปในทางที่ถูกต้อง และละกิเลสนั่นเองครับ

จาคาธิษฐาน คือ การสละ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ข้าศึก ต่อสัจจะความจริง ในเมื่อสัจจะความจริง ก็คือ กุศลธรรมประการต่างๆ ที่ตรง ดังนั้น การสละกิเลส ประการต่างๆ ตั้งใจมั่น ในการสละกิเลส ด้วยการทำกุศล เพราะขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นจาคะ สละจากกิเลสแล้ว ด้วยความตั้งใจมั่น ที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส จึงเจริญกุศลและอบรมปัญญา ขณะที่เข้าใจ ฟังพระธรรม ขณะนั้น เป็นจาคะ คือ การสละกิเลสเป็นจาคาธิษฐานแล้วครับ ดังนั้น จาคะ จึงไม่ใช่เพียงการให้ สละวัตถุเท่านั้น แต่เป็นปัญญาที่สละกิเลสประการต่างๆ นั่นเองครับ

อุปสมาธิษฐาน หมายถึง ความสงบจากสิ่งที่ไม่ใช่คุณของบารมี พูดให้เข้าใจ คือ สงบจากกิเลส ที่จะเป็นปฏิปักษ์ ข้าศึกที่จะไม่ให้เจริญ บารมี ๑๐ ครับ บารมี ๑๐ คือ คุณความดี ๑๐ ประการ แต่ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อ บารมี ๑๐ คือกิเลสทุกๆ ประการที่เกิดขึ้นขณะที่เจริญกุศล อบรมปัญญา ขณะนั้น สงบแล้ว สงบจากกิเลส และเป็นบารมีประการต่างๆ ขณะที่สงบด้วยความเข้าใจถูกและเจริญกุศล เป็นกุศลในขณะนั้น ชื่อว่า เป็น อุปสมาธิษฐานในขณะนั้นเพราะสงบจากกิเลสที่เป็นข้าศึกของบารมี ครับ

ปัญญาธิษฐาน คือ ปัญญาที่รู้ตามความเแป็นจริงในสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ อันเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของบารมีครับ ขณะที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นย่อมรู้ว่ากุศลควรเจริญ อกุศลควรละ จึงละเว้นด้วยปัญญา เจริญในสิ่งที่ควรทำ คือ กุศลด้วยปัญญา ชื่อว่า เป็นปัญญาธิษฐานในขณะนั้นครับ และขณะที่เข้าใจพระธรรม เห็นถูกตามความเป็นจริงในสภาพธรรมขณะนั้นก็เป็นปัญญา ที่เป็นปัญญาธิษฐาน ตั้งใจมั่นด้วยปัญญาที่เห็นถูกในสภาพธรรมครับ

ดังนั้น คำว่า ทำเหตุใด ย่อมได้รับผลตามสมควรแก่เหตุ ย่อมสอดคล้องกับอธิษฐานบารมี เพราะ อธิษฐานบารมี ตามที่กล่าวมา คือ การเจริญด้วยการตั้งมั่นที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส โดยไม่ได้ขอ ไม่ได้หวัง ก็ย่อมได้เหตุ ตามสมควรกับการอธิษฐาน คือ การตั้งใจ ที่ไม่ใช่เพียงตั้งใจมั่นเท่านั้น แต่เจริญกุศล อบรมปัญญา ตามที่ได้ตั้งใจมั่นด้วย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

อธิษฐานบารมี ต่างจากโลภะ อย่างไร

อธิษฐานในแบบคนไทยเข้าใจ VS อธิษฐานในทางพุทธศาสนา?

อธิษฐานธรรม [ปกิณณกกถา]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น

ดังนั้น อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด จึงไม่พ้นไปจากสภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
medihealing
วันที่ 17 ม.ค. 2561

อนุโมทนา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 19 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
2491surin
วันที่ 20 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 22 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ