ต้องนั่งสมาธิไหมครับ

 
somchaiface0665
วันที่  1 ม.ค. 2561
หมายเลข  29394
อ่าน  1,183

เท่าที่ฟังมา (เพิ่งเริ่มฟัง) เหมือนกับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพียงแค่ฟังให้เข้าใจเท่านั้นใช่ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า สมาธิ ว่าสมาธิ คือ อะไร? สมาธิเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมหนึ่งที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภทไม่มีเว้น ดังนั้น ทุกขณะมีสมาธิเกิดแน่นอน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นความถูกต้องในขณะที่เป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ

และที่ควรพิจารณา คือสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการอยากจะสงบโดยที่ไม่รู้เลยว่า ความสงบเป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญา ความสงบจึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติโดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูกและอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วย ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นพ่อค้าและเป็นอริยสาวกและอบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะ ความสงบคือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวันเพราะจิตที่ดีสงบ ไม่ได้เลือก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสมาธิในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มีสองอย่าง คือสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึงจะต้องไปนั่งสมาธิแต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิ แต่เป็นความตั้งมั่น ขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็น สมาธิที่ควรเจริญ

ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่ง ไม่ทำให้เกิดปัญญาความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดกับอกุศลจิต มีโลภะและโมหะ เป็นต้น คือมีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมิจฉาสมาธิว่าไม่ควรเจริญ ครับ

คำว่า จงกรม ก็ดี สมาธิ ก็ดี ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้วจะไม่เข้าใจผิดเลย จะไม่เข้าใจผิดว่าจงกรมและสมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ

เพราะจงกรม ก็คือ การเดินปกติ ไม่ใช่สร้างท่าทางขึ้นมาให้ผิดปกติ เดินตามปกตินี้เองคือ จงกรม (ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า จงฺกม แปลว่า การก้าวเดินไป ก้าวไป) สภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น ส่วนสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนด้วยความจดจ้องต้องการว่าเป็นทางที่จะทำให้หลุดพ้น นั่นล้วนเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไป

ส่วนสมาธิที่เป็นกุศลก็มี เพราะสมาธิเป็นเจตสิกประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท (เอกัคคตาเจตสิก) ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับอกุศล (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) เป็นอกุศลสมาธิหรือเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นต้องเริ่มที่การฟังการศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ.

การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติและปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่นะครับ มีประโยชน์มาก

ตอบคำถาม FQA เรื่อง

จะไปปฏิบัติ (นั่งสมาธิ เดินจงกรม)

การนั่งสมาธิ

จะนั่งสมาธิ หรือจะเข้าใจสมาธิ

สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ

แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าตั้งต้นที่การไปทำอะไร นั่น ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง แต่ควรตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ แม้กระทั่ง สมาธิ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ต้องทำก็มีอยู่ทุกขณะจิต เพราะเหตุว่าเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งคือ เอกัคคตาเจตสิก ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่มีเว้น ถ้ามีการไปนั่งสมาธิ ด้วยความเห็นว่าจะเป็นทางให้บรรลุธรรม ขณะนั้นเป็นไปกับความหวังความต้องการ เป็นอกุศล เมื่อเป็นอกุศลแล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างไร และเป็นมิจฉาสมาธิด้วย มีแต่จะพอกพูนอกุศลให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากพระธรรมเป็นเรื่องละ ไม่ใช่ความติดข้องต้องการ เพราะฉะนั้นแล้ว หนทางที่ควรดำเนิน คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อความเข้าใจเจริญขึ้น ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งขณะนั้น สมาธิ ก็มีด้วย แต่เป็นสมาธิที่เป็นไปพร้อมกับสติปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง เป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นโดยชอบ ไม่ใช่ด้วยการทำ ไม่ใช่ด้วยการจดจ้องต้องการ แต่เป็นความเจริญขึ้นของความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณา คือแทนที่จะไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ก็ควรที่จะได้มาสู่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง คือ การฟังพระธรรม ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
somchaiface0665
วันที่ 3 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 ม.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
p.methanawingmai
วันที่ 4 ม.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
2491surin
วันที่ 10 ม.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ