สอบถามสติปัฏฐานสูตร เรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม ภายนอก ภายใน

 
DustInTheWind
วันที่  20 ก.ค. 2560
หมายเลข  29013
อ่าน  1,023

ขอสอบถามท่านผู้รู้ทุกท่าน

ในสติปัฏฐานสูตรนั้น ที่พระพุทธองค์ได้จำแนกออกเป็น การศึกษาเรื่อง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ฯ นั้น

มีส่วนที่พระองค์ทรงกล่าวว่า มีสติระลึกใน กายภายนอก กายภายใน (อัชฌัตตะและพหิทธะ) เวทนา จิต ธรรม ฯ

คำว่าภายนอก ภายในนั้น แต่ละส่วนทั้ง 4 ส่วนนั้น หมายถึงภายนอก ภายใน อย่างไรครับ

เพราะบางท่านก็กล่าวว่า กายของตน กายของผู้อื่น เวทนาของตน เวทนาในผู้อื่น จิตของตน จิตในผู้อื่น (จะระลึกได้อย่างไร เมื่อเราไม่สามารถทราบภาวะแท้จริงได้ นอกจากอนุมานไปเอง)

บางท่านก็จำแนกไปเสียว่า กายภายนอก คือ ส่วนภายนอก กายภายใน คือ ส่วนอวัยวะภายใน (แล้วเวทนาภายนอก-ภายในล่ะครับ ระลึกอย่างไร)

ขอท่านผู้รู้ผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย ได้โปรดไขคำตอบที่แท้จริง และหลักในการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานนี้ด้วยเถิดครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพิจารณาเห็นกายภายใน กายภายนอกคือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็คือ การพิจารณาเห็นกายบ่อยๆ เนืองๆ หมายถึง สติปัฏฐานขณะที่มีกายเป็นอารมณ์เป็นการระลึกศึกษาที่ลักษณะของรูปซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นกายตามปกติ คือ ไม่มีการจดจ้องหรือเพ่งเล็งที่จะต้องการรู้สภาพของรูปใดรูปหนึ่งมาก่อน แต่เพราะการสะสมความเข้าใจจากการฟัง การพิจารณาเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติพร้อมสัมปชัญญะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูปธรรมซึ่งปรากฏโดยความเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ เช่นลักษณะที่เย็นร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว หรือ สี กลิ่น รส เป็นต้น ที่เคยยึดถือผิดว่าเป็นกาย หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย เป็นการละวิปลาสที่ยึดถือว่างามในสิ่งที่ไม่งาม เพราะโดยสภาพของรูปนั้นเป็นสภาพที่ไม่งาม เนื่องจากเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต แต่เพราะความไม่แยบคาย จึงยึดนิมิตอนุพยัญชนะเห็นว่า รูปกายซึ่งไม่งาม ว่าเป็นของงาม

ที่สำคัญ การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ต้องพิจารณาเห็นกายภายในและภายนอกตามความเป็นจริง ซึ่งโดยปกติเราจะยึดถือว่ามีกายของเรา ก็คือกายภายในและ กายคนอื่นที่เป็นกายภายนอก พระพุทธองค์จึงทรงแสดงให้เห็นว่า ควรพิจารณากายภายในและ กายภายนอกว่าเป็นแต่เพียงธรรม คือ รูปธรรมที่ปรากฏทางกายเท่า นั้นไม่มีใคร มีแต่ธรรม

ซึ่ง เห็นกายภายในและกายภายนอก ด้วยปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา กายภายในคือตัวเราที่หลงยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นเราจริงๆ ก็เป็นธรรมเป็นเพียงธาตุ กายภายนอกคือบุคคลอื่นก็เป็นธรรมทั้งหมด ละความยึดถือว่าเป็นกายของเรา และกายของผู้อื่นเพราะเห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 25 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
p.methanawingmai
วันที่ 25 ก.ค. 2560

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lack
วันที่ 28 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณมากครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 30 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ