ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้กินเนื้อวัว และ เนื้อควายหรือไม่ครับ

 
apiwit
วันที่  10 ก.ค. 2560
หมายเลข  28976
อ่าน  4,695

วันนี้กระผมไปทำบุญที่วัด ที่วัดมีป้ายเขียนเกี่ยวกับเนื้อ 10 อย่างที่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้รับประทาน แต่มีบวกเพิ่มเข้าไปอีกสองอย่าง คือ เนื้อวัว เนื้อควาย จึงไม่ทราบว่า 2 อย่างหลังนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นการเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติทุกสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุ ได้ศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในส่วนที่พระองค์ทรงห้าม และน้อมประพฤติปฏิบัติในส่วนที่พระองค์ทรงอนุญาต ตามสมควรแก่เพศบรรพชิตอันเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เนื้อที่ทรงห้ามสำหรับพระภิกษุมี ๑๐ ชนิด คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง

แต่ไม่มีเนื้อวัว และ เนื้อควาย ครับ

อย่างเรื่อง การห้ามฉันเนื้อ 10 ประการ ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อได้ และพระองค์ก็ฉันเนื้อ ไม่ใช่ทานแต่ผัก หรือ มังสวิรัติ แต่พระองค์ฉันเนื้อด้วยความบริสุทธิ์ โดยส่วน 3 คือ ไม่ได้เห็นผู้อื่นฆ่าเพื่อตน ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัย และพระองค์ก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ในเรื่องการห้ามฉันเนื้อ 10 ประการ ด้วยเหตุผลประการแรกที่ว่า เพราะ บรรพชิตต้องขัดเกลา ถ้ามาบริโภค เนื้อ 10 อย่าง ก็จะไม่ต่างกับคฤหัสถ์เลย นี่คือ เหตุผลประการหนึ่งครับ ประการที่สอง คือ ชาวบ้านติเตียน ย่อมทำให้ไม่เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ไม่เลื่อมใสได้ เพราะการฉันเนื้อ 10 ประการ ดังเช่น คฤหัสถ์ครับ

ประการที่ 3 เพราะการฉันเนื้อ บางประการ ใน 10 ประการ มีการฉันเนื้อเสือ เป็นต้นกลิ่นเสือย่อมติดที่กายพระภิกษุ เสือตัวอื่นก็ย่อมมาทำร้ายพระภิกษุนั้นได้ครับ ดังนั้นเหตุผล ที่ไม่ฉันเนื้อ 10 ประการในบางประการ เพื่อความปลอดภัยของพระภิกษุครับซึ่งเหตุผลโดยย่อ ของการห้ามฉันเนื้อ 10 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีดังนี้

ห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นเนื้อที่ไม่ทานกัน ใครทาน แม้แต่คฤหัสถ์ก็ถูกติเตียน จะกล่าวไปใยถึงเพศบรรพชิตที่เป็นเพศขัดเกลา จึงทรงห้ามการฉันเนื้อมนุษย์และประชุมชนก็จะไม่เลื่อมใส

ห้ามฉันเนื้อ ช้าง ม้า เพราะ สัตว์ทั้งสอง เป็นพาหนะของพระราชา พระราชาทราบก็ไม่เลื่อมใสและชาวบ้านก็ติเตียนเรื่องนี้ ห้ามฉันเนื้อ งู และ สุนัข เพราะสัตว์ทั้งสอง เป็นสัตว์น่ารังเกียจ ชาวบ้านติเตียนในเรื่องนี้ในการฉันเนื้อ ทั้งสองที่เป็นสัตว์น่ารังเกียจ

ห้ามฉันเนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลืองด้วยเหตุผล คือ สัตว์ตัวอื่นได้กลิ่น เนื้อที่พระภิกษุฉันแล้ว กลิ่นยังติดตัวพระภิกษุสัตว์ตัวอื่นนั้นย่อมมาทำร้ายพระภิกษุได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
apiwit
วันที่ 11 ก.ค. 2560

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ทำให้เข้าใจในเหตุในผลของธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สำหรับในเรื่องการกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เป็นประเด็นสงสัยของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น แม้แต่ในสมัยพุทธกาล รวมไปถึงในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็เคยมีคนสงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน

ขอเชิญคลิกอ่านรายละเอียดได้จากหัวข้อต่อไปนี้ ครับ

อามคันธสูตร.. เสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

การไม่ทานเนื้อสัตว์

การรับประทานมังสวิรัติ

ความไม่สะอาด ความมัวหมอง ความเศร้าหมองของจิตนั้น เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของอกุศลธรรม ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารเลย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นอนุสาสนี เป็นคำพร่ำสอนให้พุทธบริษัทเห็นโทษของกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพื่อจะได้ขัดเกลา ลดละคลายให้เบาบางลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (ปัญญา) จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสได้ในที่สุด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
worrasak
วันที่ 12 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ค. 2560

เนื้อสัตว์ไม่ใช่กลิ่นดิบ กลิ่นดิบ คือ กิเลส คืออกุศลกรรมบถ 10 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wirat.k
วันที่ 16 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ