พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละความเป็นตัวตน หรือละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน?

 
natnicha
วันที่  19 มิ.ย. 2560
หมายเลข  28922
อ่าน  1,318

สืบเนื่องมาจากได้อ่านมาจากเว็ปไซต์หนึ่งถึงการตอบคำถามของพระรูปหนึ่งซึ่งได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ละความเป็นตัวตน แต่ให้ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน

จึงมีข้อสงสัยขอเรียนถามความแตกต่างระหว่าง ละความเป็นตัวตน กับ ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และขอคำอธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อความเข้าใจค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ข้อความที่คัดมาจากเว็ปไซต์...

โยม: อยากจะถามนิดนึงค่ะว่า ถ้าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา แล้วอะไรล่ะคะคือเราที่เชื่อมอดีตชาติ ปัจจุบัน อนาคต

หลวงพ่อ: "ความคิด ความจำนะ เพราะฉะนั้นความเป็นเราจริงๆ ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ละความเป็นตัวตน ท่านสอนให้ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน ความเห็นผิดว่ามีตัวตนเรียกว่า ‘สักกายทิฏฐิ’ ให้ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน ทีนี้วิธีละความเห็นผิดว่ามีตัวตน จะละความเห็นผิดได้ต้องเห็นถูก จะเห็นถูกก็ต้องมารู้ลงมา สิ่งใดที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรานะ ก็คือกายกับใจ ให้เรามารู้กายรู้ใจมากๆ จนวันหนึ่งเห็นเลยว่ามันทำงานเอง มันไม่ใช่เราหรอก

ที่นี้จิตนี่มันเกิดดับสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทำกรรมไว้นี่ จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นก็รับมรดก จิตดวงใหม่ก็เหมือนลูกของจิตดวงเก่า อย่างเราเป็นลูกนะ พ่อแม่เราทำงานรวยไว้ เราก็ก็รับมรดกรวย พ่อแม่ทำหนี้ไว้เยอะ เราก็รับมรดกหนี้ไว้ จิตดวงใหม่มันเกิดขึ้นมา มันก็รับมรดกสืบทอดไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวเก่าหรอก ถ้าหัดภาวนาซักช่วงหนึ่งคุณจะเห็นเลย จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับนะ มีช่องว่างเล็กๆ มาคั่นนะ แล้วก็ดวงใหม่เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ มีช่องว่างเล็กๆ มาคั่น ถ้าภาวนาจนถึงจุดที่เห็นสันตติ คือความสืบเนื่องนี้ขาด จะรู้เลยว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับทั้งวันเลย และจิตจะไม่ใช่ตัวเราแล้ว แต่ว่าเกิดดับตลอดเวลาเลย เกิดดับเร็วมากเลยนะ"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่าละตัวตน สิ่งที่ต้องละ ต้องเป็นกิเลส ตัวตน ก็คือ รูปและนาม ดังนั้น การละตัวตน ก็คือ ละนาม คือ กิเลส ที่เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้น บางคราว ก็กล่าวว่า ละความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ บางครั้งก็กล่าวคร่าวๆ แต่เป็นที่เข้าใจ คือ ละความเป็นตัวตน เพราะ คำว่า เป็นตัวตน ด้วย ตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ นั่นเอง ก็มีความหมายเดียวกับ การละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ครับ

ที่สำคัญ อยู่ที่เหตุที่จะละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล นั้น คือ อย่างไรเป็นสำคัญ เพราะ จาก คำกล่าวที่ผู้ถามยกมาจากพระภิกษุรูปหนึ่ง ก็แสดงถึงความเข้าใจผิด เห็นผิด ว่า ถ้า ภาวนาไป ก็จะรู้ แต่ ไม่ได้แสดงถึงเหตุ คือ การฟังให้เข้าใจถูก ที่เป็นการเริ่มต้นจากปัญญาตามลำดับ ที่เริ่มจากฟังให้เข้าใจ โดยไปปฏิบัติ ด้วยความเป็นตัวตน ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง ที่คิดจะทำ เป็นอัตตา ลืม ความเป็นอนัตตา ที่บังคับ สติและปัญญาไม่ได้ ครับ เพราะฉะนั้นหนทางที่ถูกคือ ไม่ใช่ จะไปภาวนาแล้วจะไปเห็นการเกิดดับ ไปตามดู แต่ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจที่เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ธรรม คือ อะไร และ อบรมปัญญาอย่างยาวนาน จนสติและปัญญาเกิด รู้ความจริงในขณะนี้ ไม่ใช่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม และ สำคัญว่าปฏิบัติ เมื่อปัญญาถึงพร้อมจากการฟัง สติและปัญญาก็จะเกิดรู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ ข้ามไปเห็นการเกิดดับ ซึ่งขณะที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็เป็นการปฏิบัติ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 มิ.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม พระมหากรุณาคุณที่พระองค์มีต่อสัตว์โลกนั้น ไม่มีผู้ใดเสมอกับพระองค์ได้เลย ทั้งหมดของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้เลย และถ้าไม่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่สามารถละคลายความไม่รู้ ความติดข้องความยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรมได้เลย สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนหาความเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ ไม่ควรติดข้องยินดีไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น

กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ ก็ต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจะไปมีความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความเป็นตัวตน เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาโดยตลอด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 21 มิ.ย. 2560

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 21 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 24 มิ.ย. 2560

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ